ไม่พบผลการค้นหา
อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ' ชู หลักแบ่งแยกอำนาจ ดักคอรัฐบาลอ้างศาลรธน.ช่วย'ประยุทธ์'จนแต้มหนีซักฟอก ปมถวายสัตย์ฯ ยันชัดสภา'ผู้แทน'เปี่ยมอำนาจตรวจสอบ คนละส่วนกับศาลรธน. ด้าน พล.ท.ภราดร ชี้ ชักบานปลาย ผู้มีอำนาจดันทุรัง ไร้สปิริต จนไร้นิติรัฐนิติธรรม

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์แสดความคิดถึงการเข้าชื่อของ 214 ส.ส.ฝ่ายค้าน เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ ใจความว่า ล่าสุดดูเหมือนพล.อ.ประยุทธ์และเนติบริกรคู่ใจจะเตรียมหาทางออกเรื่องนี้ไว้ด้วยการอ้างว่าเรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และในระหว่างที่มีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงอ้างว่าสภาไม่ควรอภิปรายหรือพูดถึงเรื่องการถวายสัตย์ฯไม่ครบอีกต่อไป มิฉะนั้นจะเป็นการไปชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ต้องไปชี้แจงต่อสภา ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับหลักของการแบ่งแยกอำนาจและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม

ถึงแม้ผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังวินิจฉัยและอาจส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนก็ยังสามารถพิจารณาเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบนี้ได้ เพราะเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีซึ่งสามารถพิจารณาได้ในหลายแง่มุม โดยไม่มีปัญหาเรื่องการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่เป็นการทำหน้าที่คนละทางคนละส่วนกัน

ถ้าเรื่องถวายสัตย์ฯนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ส.ยังจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและครม.ด้วยเรื่องนี้ได้หรือไม่ คำตอบก็คือต้องได้แน่นอน ส.ส.อาจตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเพื่อจะได้รู้ว่าจริงๆแล้วเกิดอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีจะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือส.ส.จะเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปที่ไม่ต้องมีการลงมติก็ได้ หรือต่อไปจะอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้ด้วยก็ได้ สิ่งที่อภิปรายในสภาไม่ใช่การชี้นำและย่อมไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญๆอาจนำเอาไปใช้ประกอบการพิจารณาคดีหรือไม่ก็ได้

ทางตรงกันข้ามแม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สภาก็อาจยังไม่ไว้ใจพล.อ.ประยุทธ์และยังคงอภิปรายไม่ไว้วางใจกันต่อไป กระทั่งอาจจะลงมติไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ไปเลยก็ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะถือว่าสภาจะไปขัดแย้งอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน

“ที่พูดเรื่องทำนองนี้กันในสภาและที่ได้ยินแว่วๆมาจากทำเนียบรัฐบาลนั้นไม่มีหลักเกณฑ์หลักการอะไรรองรับ อย่างหนึ่งก็เป็นเพียงการช่วยหาทางให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องจนแต้มตกม้ากลางสภา แต่ที่เขาเล็งผลเลิศมากกว่านั้นก็คือจะได้ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องถูกตรวจสอบใดๆจากทั้งสภาผู้แทนราษฏร สื่อมวลชนและประชาชนอีกเลยไม่ว่าวิถีทางใด เขาอยู่กับการไม่ต้องถูกตรวจสอบมาจนเคยตัวกันหมดแล้ว ก็หวังว่าสภาผู้แทนราษฏรจะไม่ปล่อยให้พล.อ.ประยุทธ์เอาตัวรอดจากการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนไปได้ด้วยการบิดเบือนหลักการ”

ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กลายเป็นเหตุบานปลาย เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้จะพบว่า ปัญหาเกิดจากสภาพดันทุรังของตัวผู้นำสืบทอดอำนาจ ตอนนี้เชื่อว่าเขาเป็นบุคคลที่ล้มละลายทางความน่าเชื่อถือในสายตาของสังคมทั้งในและต่างประเทศไป ครั้นจะขอให้เขาแสดงความรับผิดชอบถอยออกจากเวทีการเมืองเองอย่างผู้นำในประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้วเขากระทำ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากเพราะบุคคลผู้นี้ไร้ซึ่งสปิริตอย่างที่เห็นกันถ้วนหน้า สถานการณ์จึงเดินมาถึงขั้นที่ว่าบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีนิติรัฐนิติธรรมอันเป็นเหตุมาจากผู้นำสืบทอดอำนาจเพียงคนเดียว สังคมจะได้เห็นธาตุแท้อย่างหมดเปลือก สถานการณ์จะคลี่คลายก็ต่อเมื่อเขาล้มตกร่วงลงมา จากนั้นประชาธิปไตยที่ไม่มีทางตันก็จะแสวงหาทางออกอย่างสันติกันต่อไป