ไม่พบผลการค้นหา
‘ชลน่าน’ ลั่นคว่ำร่างพ.ร.บ.งบ 64 ให้เวลา กมธ.ทำงานน้อย กำหนดงบไม่ตอบโจทย์ ฟันธงนับจากเดือน ต.ค. ประเทศไทยเจอ ‘มหาประยุทธภัย’ วิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรังยาวไม่น้อยกว่า 2 ปี ส่อซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ขั้นรับหลักการวาระที่ 1 เป็นวันที่สอง ในช่วงกลางดึกวันที่ 2 ก.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายภาพรวมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านบาท ว่า ฝ่ายค้านไม่สามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ได้ โดยยก 6 เหตุผลที่ไม่สมควรรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายคือ 1.คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีไม่ให้เกียรติสภาผู้แทนราษฎร เห็นเป็นสภาตรายาง เพราะหากผ่านการรับหลักการไปแล้ว คณะกรรมาธิการมีเวลาพิจารณาเพียง 70 วันเท่านั้น เพื่อให้พิจารณาวาระที่ 2 และ 3 วันที่ 16 - 17 ก.ย. ทั้งที่ต้องพิจารณางบประมาณซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว เพราะมีหน่วยรับงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 784 หน่วยรับงบประมาณ และต้องส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาวันที่ 21 - 22 ก.ย. และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งถือเป็นการมัดมือสภาให้ทำหน้าที่อย่างหนักหน่วง

2.ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปีนี้ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 วรรคท้าย และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 45 เกี่ยวกับวิธีการใช้เงินทุนสำรองจ่าง เพราะงบกลาง 96,000 ล้านบาทของปีงบประมาณ 2563 ใช้หมดแล้วและต้องเอาเงินคงคลังมาสำรองจ่ายอีก 25,000 ล้านบาท

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า 3.ไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ จัดงบประมาณเป็นงบรัฐราชการโดย 2.5 ล้านล้านบาท เป็นงบประจำ ส่วนงบลงทุนเพียง 647,000 ล้านบาท ไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ เพราะคนตกงาน 8 ถึง 10 ล้านคน

4.ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ อย่างสถานการณ์ภัยแล้งทั้ง 4 ภูมิภาค 5.เสี่ยงแสวงหาผลประโยชน์ต่อทุจริต และ 6.ไม่ทำตามสัญญานโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นมหาประยุทธภัย ทำให้เป็นมหาวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือหลังเดือน ต.ค. เป็นต้นไป และจะประสบปัญหาอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นขณะที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นเพียงแพะ แต่ปัญหาเศรษฐกิจเกิดก่อนวิกฤตโควิด-19 และเมื่อเกิดวิกฤตซ้ำ 

นพ.ชลน่าน ระบุว่า ประกอบกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นมหาประยุทธภัย ปิดบ้านเมืองจนกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ และก็ไม่มีความจำเป็นตั้งงบประมาณสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท เพราะมีเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ใช้จ่ายในขณะนี้ จึงสามารถตั้งงบประมาณให้น้อยกว่า 3.3 ล้านบาทได้ เพราะปีนี้ไม่ต้องชดใช้เงินคงคลัง เพราะงบประมาณปี 2563 รับไปแล้ว ทั้งที่จริงๆ ต้องชดใช้ปีนี้ แต่เป็นเพราะการจัดทำงบประมาณปี 2563 ล่าช้า คาดการณ์ว่า เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้า 2.77 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายถึง 3 แสนล้านบาท และไม่สามารถกู้เพิ่มได้ รัฐมีความเสี่ยงล้มละลายทางการคลัง และจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนปี 2540

โดยการประชุมสภาได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ประธานที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมและนัดประชุมในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค. เวลา 09.00 น. และพักการประชุมเวลา 01.38 น. ของวันที่ 3 ก.ค. 

ทั้งนี้ การประชุมสภาฯ วันที่ 3 ก.ค. วิปพรรคร่วมฝ่ายค้านจะนัดประชุมในเวลา 09.30 น. เพื่อหามติร่วมกันในการลงมติขั้นรับหลักการ โดยคาดว่าจะลงมติได้ก่อนเที่ยงคืน