ไม่พบผลการค้นหา
ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกๆ ประเทศเริ่มตระหนัก แต่ก็ยังไม่มีประเทศไหนมีแผนการปฏิบัติชัดเจนใดๆ

โลกร้อนขึ้นทุกวัน

ฤดูร้อนที่ผ่านมาทุกคนคงสัมผัสได้ถึงอุณหภูมิความร้อนที่บ้าระห่ำในประเทศไทย กรุงเทพฯมหานครทำสถิติสูงสุดกว่า40 องศาเซลเซียส ส่วนในภาคเหนือไต่ระดับถึง 44 องศา ภาวะโลกร้อนไม่ได้เกิดในประเทศไทยที่เดียวแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติทุกคน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 1.5องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม สาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนเกิดจากการปล่อยกาซเรือนกระจกจากการขยายตัวของการปฏิวัติอุตสาหกรรม จากฝุ่นควันมลภาวะที่เกิดจากธรรมชาติรวมถึงจากฝีมือมนุษย์ หรือจากการเปลี่ยนแปลงของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกแม้เพียง 1.5 องศาเซลเซียส แต่ส่งกระทบอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลเฉลี่ยสูงขึ้นกว่า 8 นิ้วเมื่อเทียบกับปี 1880 เกิดความแปรปรวนทางอากาศ อากาศร้อนสลับกับหนาวเย็น อากาศที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาไฟป่าขนาดใหญ่กว่า 250 ครั้งในมลรัฐทางตะวันตกของอเมริกา เกิดพายุ อุทกภัยบ่อยขึ้น ในเขตแอตแลนติคเหนือพบว่ามีพายุเฮอริเคนกว่า 8 ครั้งต่อปี ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นทุกชนิด

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พบคลื่นความร้อนมากขึ้นในแต่ละปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ ระบบหายใจ ระบบการรักษาสมดุลย์อุณหภูมิและน้ำในร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตมากขึ้น ในปี 2012 มีการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน กว่า 123 คน และความสูญเสียคิดเป็นมูลค่ากว่า 33000 ล้านดอลลาร์ ความร้อนที่สูงขึ้นก็กระทบวิถีชีวิตประจำวันเช่นกัน เช่น ในกลุ่มเด็กนักเรียนจะเกิดความเหนื่อยล้ามากขึ้นและส่งผลต่อการเรียน หรือลดความสามารถในการทำงานโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ความร้อนยังส่งผลต่อการระบาดโรค เช่นโรคอหิวาตกโรค เป็นต้น[1]  

มาตรการภาวะโลกร้อนในแต่ละประเทศไม่คืบหน้า

ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกๆ ประเทศเริ่มตระหนัก องค์กรรัฐและเอกชนระว่างประเทศ การประชุมกรอบข้อตกลงระหว่างรัฐต่างๆเพื่อหาทางแก้ไข ในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2015 โดยมีประเทศสมาชิก 196 ประเทศเข้าร่วม และได้ข้อตกลงว่าแต่ละประเทศจะมีแผนการร่วมกันเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้อยู่ระดับสูงกว่าอุณหภูมิโลกก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 1.5องศาเซลเซียส และในกรณีที่แย่ที่สุดคือไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตามเวลาผ่านไป 3 ปีแล้ว แต่ละประเทศก็ไม่มีแผนการปฏิบัติชัดเจนใดๆในการทำข้อตกลงให้เป็นจริงขึ้นมา รายงานจาก Climate Change Performance Index Results 2019[2] ได้รายงานตัวชี้วัดของประเทศต่างๆซึ่งประเมิน 4 ด้านได้แก่ นโยบายทีส่งผลต่อภูมิอากาศ  การใช้พลังงาน การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนใหม่และ การปล่อยกาซเรือนกระจก ซึ่งตัวชี้วัดบ่งชี้ว่า ประเทศที่มีคะแนนสูงสุดคือสวีเดนและหมายความว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกดีที่สุด ในกลุ่มประเทศยุโรปมีคะแนนตัวชี้วัดในระดับกลาง ส่วนประเทศเอเชียรวมถึงไทยนั้นอยู่ในระดับแย่ โดยที่คะแนนด้านนโยบายที่ส่งผลต่อภูมิอากาศของไทยอยู่ในระดับแย่มากและยังไม่มีมาตรการเท่าใดนักในการแก้ปัญหาดังกล่าว

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแต่ละองศาส่งผลกระทบต่อคนไม่เท่ากัน

ถึงแม้ปัญหาโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างทั่วถึง แต่ทว่าผลกระทบดังกล่าวของแต่ละคนกลับไม่เท่ากัน ในอดีตที่ผ่านมาการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อนมักจะศึกษาปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลก การค้นหาสาเหตุและมาตรการการป้องกัน หรือศึกษาผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น ส่งผลต่อการผลิตผลการเกษตรและรายได้ของประเทศ อย่างไรก็ตามเริ่มมีการตระหนักว่าปัญหาโลกร้อนยังส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยเช่นกัน ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวพบได้ทั้งการเปรียบเทียบระหว่างประเทศ และการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มประชากรในประเทศ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแต่ละองศาของคนเรานั้นไม่เท่ากัน ปัญหาภาวะโลกร้อนและความเหลื่อมล้ำสังคมจึงเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ซึ่งองค์กรสหประชาชาติพยายามกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมด้วยช่วยกัน

โครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำอยู่แล้ว เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางเข้าถึงอาหารยารักษาโรค ความเหลื่อมล้ำสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำด้านกระบวนการยุติธรรม จะถูกทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยสภาวะโลกร้อน กลุ่มคนที่เสียเปรียบกลุ่มคนชายขอบจะยิ่งถูกซ้ำเติมผ่านทาง 3 ช่องทาง[3] ได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำสังคมส่งผลให้แต่ละคนมีความเสี่ยงในการได้รับผลจากภาวะโลกร้อนไม่เท่ากัน 2. ความเสียหายที่เกิดจากภาสะโลกร้อนที่ส่งผลต่อแต่ละกลุ่มนั้นไม่เท่ากัน 3. ความสามารถในการฟื้นฟูความเสียหายจากภาวะโลกร้อนในแต่ละกลุ่มนั้นไม่เท่ากัน ซึ่งโดยทั่วไปกลุ่มคนที่เสียเปรียบหรือชนชั้นล่างจะได้รับความเสี่ยงในการประสบปัญหาภาวะโลกร้อนสูงกว่ากลุ่มคนชั้นสูง เช่น คนรวยสามารถเลือกที่จะอยู่ในบ้านที่มีวัสดุก่อสร้างกันความร้อนหรือมีเครื่องปรับอากาศอยู่ภายใน แต่ทว่าคนจนกลับไม่มีกำลังซื้อ และเมื่อคนจนต้องเผชิญความเสี่ยมากกว่าแล้วก็เกิดความเสียหายมากกว่า เช่น อาจเกิดปัญหาคลื่นความร้อนแล้วส่งผลต่อสุขภาพทำให้ต้องขาดงานและรายได้ตามมา ต่อมาเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกลับพบว่าความสามารถในการฟื้นฟูจากความเสียหายก็ไม่เท่ากัน เช่น เมื่อคนจนไม่สบายแล้วก็ต้อเข้ารับการรักษาซึ่งการเข้าถึงหมอและยารักษาโรคคุณภาพดีก็ลำบาก ในขณะที่คนรวยสามารถเข้าถึงดีกว่าและรักษาความเจ็บป่วยได้ดีกว่า ผลสุดท้ายกลุ่มคนจนก็จะยิ่งจนลง ความเหลื่อมล้ำก็จะมากขึ้นๆเป็นวัฏจักรที่ยาดจะหลุดพ้น 

ทิศทางประเทศไทย

ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยอยู่ในระดับสูงและเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน รัฐบาลต่างๆพยายามสร้างนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าพร้อมลดช่องว่างสังคมไปพร้อมๆกัน ซึ่งบ้างก็สำเร็จบ้างก็ล้มเหลว ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยถ่างออกมากขึ้น ชนบทยังเข้าถึงทรัพยากรต่างๆและการบริการจากภาครัฐได้ยากลำบากกว่าในเขตเมือง ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยในอนาคตจะถูกทวีคูณจากภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาครัฐและประชาสังคมจึงควรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวก่อนที่จะสายเกินไป 


[1] สรุปจาก Global Warming Impacts. จากเวปไซต์ Union of Converned Scientists:  https://www.ucsusa.org/our-work/global-warming/science-and-impacts/global-warming-impacts

[2] Burck, Jack. et al. Climate Change Performance Index Results 2019. Retrieved from: https://www.climate-change-performance-index.org/sites/default/files/documents/ccpi2019_results.pdf

[3] Islam, S.N. & Winkel, J. (2017). Climate Change and Social Inequality. DESA Working Paper No. 152.

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog