ไม่พบผลการค้นหา
อย่าเสียน้ำตาให้สิ่งที่คล้ายกับความรัก รักแท้อาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือขายดีระดับโลกชี้ว่า ความรักไม่ใช่การพึ่งพิง ไม่ใช่การเสียสละ และไม่ใช่ความรู้สึก

คุณเคยตกหลุมรักใครสักคนไหม รักแบบหมดหัวใจ เขา/เธอคือ ‘โลกทั้งใบ’ พร้อมแลกทุกอย่าง หรือทำทุกทาง เพราะขาดเขา/เธอไปไม่ได้

ความรักอาจเป็นความรู้สึกรุนแรง และหลากหลายแตกต่างตามนิยาม แต่จากนิยามของ เอ็ม. สก็อต เปค (M. Scott Peck) จิตแพทย์อเมริกัน เขาปฏิเสธว่า สิ่งที่เอ่ยมาทั้งหมด ‘ไม่ใช่ความรัก’ และความรักไม่ใช่เรื่องของความรู้สึก พร้อมย้ำว่า สิ่งที่เหมือนจะเป็นความรักนั้น มักไม่ใช่ความรักเลย

ในหนังสือ The Road Less Traveled ซึ่งมียอดขายทั่วโลกกว่าสิบล้านเล่ม ได้แยกความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรักออกเป็น 5 รูปแบบ อาจฟังดูรุนแรง แต่เขาเรียกความสัมพันธ์แบบแรกว่า ‘ปรสิต’


ปรสิตในคราบของความรัก

“ฉันรักเธอมาก ถ้าขาดเธอไปฉันคงมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้” เป็นคำกล่าวที่ผิด เพราะการที่สิ่งมีชีวิตหนึ่งจำเป็นต้องเกาะติดสิ่งมีชีวิตอื่น เพื่อจะอยู่รอดต่อไปได้นั้นเป็นธรรมชาติของปรสิต ตัวอย่างสุดขั้วของความสัมพันธ์ลักษณะนี้คือ การขู่ฆ่าตัวตายเมื่อถูกปฏิเสธหรือบอกเลิก นับเป็นความผิดปกติของบุคลิกแบบหนึ่ง คือบุคลิกภาพแบบต้องพึ่งพา (dependent personality disorder) ผู้มีบุคลิกภาพลักษณะนี้ดิ้นรนขวนขวายความรักจากคนอื่นมากเสียจนไม่เหลือแรงพอจะมอบความรักให้ใคร

ในความสัมพันธ์แบบปรสิตนั้น คู่รักไม่เหลืออิสระหรือทางเลือกอยู่เลย เป็นการอยู่ด้วยความจำเป็นมากกว่าอยู่ด้วยความรัก

เขายกตัวอย่างกรณีคนไข้ผู้เพิกเฉยภรรยา และลูก กระทั่งเธอขู่ว่าจะทิ้งเขาหลายครั้ง และทุกครั้งที่เขาสัญญาจะเปลี่ยนแปลงก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงได้นานเกินหนึ่งวัน เขามาพบกับสก็อตด้วยสภาพซึมเศร้า และวิตกกังวล พร้อมเล่าว่าเขาอยู่โดยไม่มีครอบครัวไม่ได้ เขารู้สึกไม่มีความหมาย แม้จะไม่ใส่ใจครอบครัว แต่ก็ขาดไปไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีครอบครัวแล้ว ตัวเขาก็ไม่เหลือความหมายอะไรเลย

สาเหตุที่เขาขาดครอบครัวไปไม่ได้ทั้งอย่างนั้น เพราะครอบครัวมอบอัตลักษณ์ให้กับเขา ทำให้เขามีตัวตนบอกได้ว่าตัวเองเป็นใคร เป็นพ่อ เป็นสามี เป็นคนสำคัญของครอบครัว แต่ในอีกสองวันต่อมา เขากลับมาพบสก็อตด้วยหน้าตายิ้มแย้มมีความสุข และบอกว่าเขาคงไม่ต้องกลับมาปรึกษาอีกแล้ว เพราะเขาพบผู้หญิงคนหนึ่งในผับที่บอกว่าเธอชอบเขา สก็อตมองว่านี่เป็นการพึ่งพิงทางอารมณ์อย่างหนึ่ง เขาต้องการจะเป็นที่ต้องการ จะเป็นใครก็ได้ ขอเพียงถูกรักก็พอ

alone-architecture-buildings-220444.jpg

อีกกรณีที่เขายกตัวอย่างคือ ผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นผู้หญิงเก่ง แต่คบผู้ชายแย่ๆ และต้องเปลี่ยนแฟนครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่อง เธอเล่าถึงชายคนหนึ่งที่เธอพบว่า เขาตกงานและดื่มเหล้าเยอะไปหน่อย แต่พื้นฐานแล้วเป็นคนเก่ง แล้วก็เอาใจใส่เธอมากๆ

เธอคิดว่า ครั้งนี้จะต้องไปรอดแน่ๆ แต่แล้วทุกอย่างก็ซ้ำรอยเดิม เพราะความพึ่งพิงตลอดเวลาของเธอทำให้อีกฝ่ายอึดอัดเหมือนทุกครั้ง หลังจากบำบัดกับสก็อตอยู่สามปีเธอจึงหลุดจากวงจรนี้ได้ เมื่อตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง และแยกแยะระหว่างความรู้สึกว่างเปล่าและขาดพร่องในตัวเธอออกจากความรักที่แท้จริง

ทั้งสองกรณีนั้นมีปัญหาอยู่ที่การเข้าใจผิดว่า ความว่างเปล่าเปล่า และโหยหานั้นคือ ความรัก และคิดว่าคงจะเติมเต็มได้ด้วยความรักจากผู้อื่น จึงโหยหาใครก็ได้ที่จะมาให้ความสำคัญกับพวกเขาอย่างไม่สิ้นสุด ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง

"หากการถูกรักเป็นเป้าหมายของคุณ คุณย่อมประสบความล้มเหลว ทางเดียวที่จะมั่นใจได้ว่าจะได้รับความรัก ก็คือการเป็นคนที่มีค่าคู่ควรกับความรัก"

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้จะไม่ทำอะไรเพื่อคนอื่นเลย แต่แรงจูงใจที่ทำให้เขาทำอะไรสักอย่างให้คนอื่นนั้น ก็เป็นไปเพื่อมัดความสัมพันธ์ให้แน่นขึ้น และเสริมความมั่นใจว่าตัวเองจะได้รับความใส่ใจเท่านั้น


คนรักหรือสัตว์เลี้ยง

อีกด้านหนึ่งของความสัมพันธ์แบบจำต้องพึ่งพิงทางอารมณ์คนอื่นตลอดเวลาอย่างปรสิตนั้น ก็คือความสัมพันธ์แบบ ‘สัตว์เลี้ยง’ ความสัมพันธ์ของคนที่ต้องการเป็นฝ่ายถูกพึ่งพา คล้ายกับการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ผู้เขียนเริ่มจากการอธิบายว่า ความรักที่เรามีให้สัตว์นั้นแตกต่างจากคนอย่างไร เราอาจจะรักสุนัขของเรามาก ให้อาหาร อาบน้ำ กอด เกา และน้วย รวมถึงโศกเศร้ากับการจากไปไม่ว่าจะหนีจากกรงหรือตาย ก็ดูเหมือนจะเป็นความรัก แต่สิ่งที่แตกต่างกันกับความสัมพันธ์ของคนมีสามข้อ

ก่อนอื่นเลย การสื่อสารระหว่างคนกับสัตว์นั้นมีข้อจำกัดอยู่ เราไม่รู้ว่าสัตว์เลี้ยงของเราคิดอะไรอยู่ ในหลายๆ ครั้งความไม่รู้นี้ทำให้สัตว์เลี้ยงตกเป็นเป้าของการแสดงความรัก ด้วยการคิดแทนว่ามันต้องการอะไร คิดและรู้สึกอย่างไรอยู่ เราอาจจับมันแต่งตัว เอาอาหารแปลกๆ ให้กิน และคิดเอาว่ามันชอบสิ่งที่เราตั้งใจทำให้มัน

ประการที่สอง ในหลายๆ ครั้งเรารักสัตว์เลี้ยงก็เพราะมันเป็นอย่างที่เราต้องการ เราคงไม่เลี้ยงมันไว้ถ้ามันกัดเราทุกวัน และถ้ามันไม่เชื่อง หรือไม่ทำอย่างที่เราต้องการ เราก็จะส่งมันไปฝึก

ข้อสุดท้าย ในความสัมพันธ์กับสัตว์ เราไม่ต้องการให้มันเป็นอิสระ จะมีสักกี่คนที่เลี้ยงสุนัขโดยหวังให้มันโตขึ้นมาฉลาดแข็งแรง และจากเราไปมีชีวิตอิสระเป็นของตัวเอง เราต้องการให้มันอยู่นิ่งๆ กลิ้ง และหมอบอยู่ใกล้ๆ สายตาของเราตลอดไป คุณค่าของสัตว์เลี้ยงคือการที่มันผูกพันกับเรา แต่เราไม่ต้องการให้มันเป็นอิสระจากเรา

adorable-animal-canine-1254140.jpg

แล้วสัตว์เลี้ยงเกี่ยวอะไรกับความรักของคนกันล่ะ ตัวอย่างสุดโต่งอย่างหนึ่งคือทหารอเมริกันจำนวนมากที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ เช่น ชาวเยอรมัน อิตาลี หรือญี่ปุ่น ในช่วงสงคราม โดยที่ต่างฝ่ายก็พูดกันคนละภาษา มอบความรักแบบให้ในสิ่งที่อยากจะให้มากกว่าจะสนใจว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร ใกล้ชิดผูกพันแบบเดียวกับที่เราเป็นกับสัตว์เลี้ยง และก็อยู่กันด้วยดี กระทั่งภรรยาทหารเหล่านั้นเรียนภาษาอังกฤษ และสื่อสารกันได้ขึ้นมา หรืออาจเรียกได้ว่ามีปากเสียง

สก็อตยกตัวอย่างโดยหมายรวมไปถึงความรักที่แม่หลายๆ คนมีให้กับทารก ที่จะรักและติดลูกมาก กระทั่งลูกเริ่มโต มีความคิดและตัวตนเป็นของตัวเอง ไม่สามารถบงการให้พวกเขาเป็นอย่างที่อยากให้เป็นได้อีกต่อไป


หลุมรัก กับดักจากวัยเยาว์

นอกจากความสัมพันธ์ในรูปแบบของปรสิตและสัตว์เลี้ยงแล้ว ผู้เขียนยังมองว่าการตกหลุมรักและความรักโรแมนติกเป็นเพียงภาพมายา สำหรับที่มาของความคิดนี้ต้องสืบสาวไปถึงสมัยที่เรายังเป็นทารก

ในช่วงเดือนแรกๆ ของชีวิต ทารกไม่สามารถแยกตัวเองจากสิ่งต่างๆ ในโลกได้ แยกห้อง แม่ และตัวเองไม่ออก ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา

เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ทารกจึงรู้ว่าตัวเองคือตัวตนที่แยกขาดจากสิ่งอื่นๆ เมื่อเขาหิว แม่ไม่ได้หิวไปกับเขาด้วย และอาจไม่ได้มาป้อนเขา เวลาที่เขาอยากเล่น แม่อาจไม่ได้กำลังอยากเล่นกับเขา เขาจะเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่สิ่งที่แม่ต้องทำตาม เด็กจะเริ่มตระหนักถึง 'ตัวฉันเอง' รู้ว่าความคิดของตัวเองสัมพันธ์กับร่างกายของตัวเองเท่านั้น รู้ว่าเมื่อตั้งใจจะขยับแขน แขนของตัวเองก็ขยับ แต่ห้อง หลังคา และแม่ยังคงอยู่ที่เดิม รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นเรา และอะไรคือสิ่งที่ไม่ใช่ เกิดสิ่งที่เรียกว่าอาณาเขตแห่งตัวตน (ego boundary)

music-818459_1280.jpg

การตระหนักถึงอาณาเขตแห่งตัวตนนี้ อาจทำให้เรารู้สึกเปลี่ยวเหงาได้ในบางครั้งและอยากจะทลายอาณาเขตของตัวเองออกมา แม้เมื่อโตขึ้นจนรู้แล้วว่าความต้องการของตัวเองไม่ใช่ความต้องการของคนอื่น แต่ในบางครั้งเรายังคงคาดหวัง เช่น ในช่วงวัยสองถึงสามขวบแม้จะรู้ขอบเขตตัวตนของตัวเองแล้ว ก็ยังมักจะยังหวังว่าแม่จะต้องตอบสนองความต้องการของเขาอยู่ดี ทำให้เด็กในวัยนี้พยายามที่จะสำรวจขอบเขตอำนาจของตัวเอง และทำตัวเป็นไอ้ตัวแสบที่คอยบงการพี่น้อง พ่อแม่ หรือสัตว์เลี้ยง เมื่อโตขึ้น ยังคงมีบางทีที่เราพยายามแหวกออกมานอกอาณาเขตแห่งตัวตนของเราเป็นครั้งคราว คิดว่าคนอื่นต้องคิดและต้องการแบบเดียวกับเรา ความรักโรแมนติกนั้นเกิดมาจากการพังทลายลงของอาณาเขตแห่งตัวตนนี่เอง

เมื่อเรามีความรัก กำแพงระหว่างเราทลายลง เข้ากันดีจนรู้สึกเหมือนเป็นคนๆ เดียวกัน การรวมเป็นหนึ่งกับคนที่เรารักทำให้เรารู้สึกว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ ความไม่สมจริงของความรู้สึกนี้คล้ายกับเด็กในวัยสองขวบที่รู้สึกราวกับตัวเองเป็นเจ้าโลกมีอำนาจบงการทุกคนในครอบครัว และรู้สึกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเป็นทารกที่เราคิดว่าเมื่อเราต้องการอะไรแม่ก็ต้องรู้ ในช่วงของการตกหลุมรัก เราอาจคิดว่าอีกฝ่ายก็คิดแบบเดียวกับเรา ในรูปแบบของการรู้ใจหรือใจตรงกันไปเสียหมด

ทว่าภาพฝันของรักโรแมนติกพังทลายลงเสมอเมื่อความเป็นจริงมาเยือน ช้าก็เร็วเราก็จะพบความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน เขาอยากมีเซ็กส์ เธอไม่อยาก เธออยากไปดูหนัง แต่เขาอยากอยู่บ้าน เขาอยากบ่นเรื่องงานของเขา แต่เธอก็ไม่อยากฟังเพราะอยากบ่นเรื่องงานของเธอเอง ทีละน้อยๆ อาณาเขตของตัวตนจะเริ่มกลับมา และเราก็จะไม่ใช่เด็กสองขวบที่เป็นเจ้าโลกของความสัมพันธ์อีกต่อไป

ความรู้สึกว่าเรารักกันเมื่อตกหลุมรักเป็นภาพลวงตา การก่อตัวของความรักที่แท้จริงจะเริ่มขึ้นก็หลังช่วงเวลานี้จบลง สาเหตุที่สก็อตมองว่าการตกหลุมรักหรือรักโรแมนติกไม่ใช่ความรักที่แท้จริงก็เพราะการตกลงไปในหลุมรักและภวังค์แห่งความหลงใหลนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นผู้เลือกเอง สก็อตมีคำอธิบายเพิ่มเติมสำหรับเรื่องนี้ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ยังมีความเข้าใจผิดอื่นที่ยังต้องอธิบายนั่นก็คือ รักไม่ใช่การเสียสละ


รักไม่ใช่การเสียสละ

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้หลายคนคงนึกสงสัยว่า จิตแพทย์คนนี้จะเอาอะไรนักหนากับความรัก ทำไมแม้แต่การเสียสละทุ่มเทให้คนรักก็ยังไม่ใช่ความรักอีก

กลับกันกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ สก็อตมองว่า การเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างให้คนที่รักนั้นไม่ต่างจากมาโซคิสม์หรือผู้ชื่นชอบความเจ็บปวด เพราะส่วนสำคัญของความรักคือการทำให้อีกฝ่ายเติบโต ไม่ใช่การทำให้คนรักต้องพึ่งพิงเราตลอดเวลา

casual-couple-cute-773124.jpg

ผู้ป่วยรายหนึ่งของเขาเป็นพ่อที่ดูแลครอบครัวที่ไม่มีใครช่วยเหลือตัวเอง คอยไปรับไปส่ง พาภรรยาไปดูโอเปราด้วยทั้งที่เขาเกลียดและเบื่อเหลือทน ซี้อรถและจ่ายประกันให้ลูกทั้งสองแม้จะรู้สึกว่าลูกควรจะหัดดิ้นรนด้วยตัวเองบ้าง เขามองว่าตัวเองอาจไม่ใช่คนที่เลิศเลอ แต่ก็ใส่ใจครอบครัวเสมอ เขาทำงานหนักสายตัวแทบขาดนอกเวลางานเพื่อดูแลทุกคน ถึงอย่างนั้นครอบครัวเขากลับไม่มีใครดูแลตัวเองหรือทำความสะอาดบ้านเลย เขาเสียสละให้ครอบครัวอย่างหนักกระทั่งครอบครัวของเขาทั้งครอบครัว ‘ป่วย’ และภรรยาก็ซึมอยู่กับบ้าน ลูกชายทั้งสองดรอปเรียนมาอยู่เฉย ทุกคนมีปัญหาต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ จนเมื่อสก็อตแนะทำให้เขาเปลี่ยนแปลง แสดงความต้องการของตัวเอง รวมถึงตำหนิและเรียกร้องให้คนในบ้านดูแลตัวเองบ้าง สถานการณ์ทุกอย่างในครอบครัวจึงดีขึ้น แม้ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านย่อมเกิดความโกรธเคืองกันบ้างก็ตาม

เขาเน้นว่า การยับยั้งไม่ให้ในบางเวลาที่เหมาะสมนั้น นับเป็นความใส่ใจมากกว่าการให้ที่ผิดเวลา และการปล่อยให้คนที่เรารักเป็นอิสระ ก็เป็นการแสดงความรักยิ่งกว่าการเอาแต่ประคบประหงมดูแลคนที่ควรดูแลตัวเองได้แล้ว อย่างในกรณีของชายคนนี้ การเติบโตของจิตใจและสุขภาพจิตของครอบครัวก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเสียสละของเขาเลย

ในอีกมุมหนึ่ง หากย้อนกลับไปในช่วงแรกของการบำบัด ชายคนนี้เอาแต่เล่าถึงสิ่งที่เขา ‘ทำเพื่อครอบครัว’ ซึ่งนำไปสู่ความคิดว่าเขาเสียสละและทุ่มเทโดยไม่หวังและไม่ได้อะไรตอบแทน แต่ที่จริงแล้วการเสียสละเหล่านั้นมีเบื้องหลังเสมอ อย่างในกรณีนี้ การเสียสละของเขาไม่ได้มาจากความต้องการของคนในครอบครัว แต่เขาทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีกับตัวเอง เพราะเบื้องหลังผู้ป่วยรายนี้ เขาโตมากับพ่อขี้เมาที่ปล่อยปละละเลยครอบครัว เขาจึงสาบานกับตัวเองว่าจะไม่เป็นคนอย่างพ่อ การดูแลครอบครัวอย่างที่พ่อไม่เคยทำจึงทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง

สก็อตชี้ว่า สิ่งใดก็ตามที่คนเราทำนั้น เราทำก็เพราะเรา ‘เลือก’ จะทำ และเราเลือกทำมันก็เพราะมันตอบโจทย์ของเรามากที่สุด เราทำเพื่อคนอื่นก็เพราะมันเติมเต็มความต้องการของเรา

ในเมื่อบอกว่าอะไรๆ ที่เราเชื่อว่าเป็นความรักนั้นไม่ใช่ความรัก ถ้าอย่างนั้นแล้วความรักคืออะไรกันล่ะ ข้อสรุปนั้นพบได้ในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรักประการสุดท้าย ความรักไม่ใช่ความรู้สึก


ไม่ใช่ความรู้สึก แล้วความรักคืออะไร

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรักอย่างสุดท้ายคือ ความรักไม่ใช่ความรู้สึก จิตแพทย์อธิบายว่า ความรู้สึกเป็นเรื่องชั่วคราว คู่รักย่อมพ้นจากช่วงของการตกหลุมรัก ไม่ช้าก็เร็ว แต่ความรักแท้จริงในนิยามของเขาอยู่เหนือความผูกพันทางอารมณ์ เมื่อความรักเกิดขึ้น มันจะยังคงอยู่ไม่ว่าจะมีความผูกพันทางอารมณ์หรือไม่ ไม่ว่าจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกรักอยู่เลยก็ตาม

สก็อตให้ความสำคัญกับเจตจำนง การตัดสินใจ และการเลือก ความรักแท้จริงของเขาไม่ใช่ความรู้สึก แต่เป็นการตัดสินใจเลือกที่จะรัก เป็นการให้คำมั่นกับตัวเองว่าจะรัก ไม่ว่าจะรู้สึกรักหรือไม่ นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้เขียนปฏิเสธเรื่องของความรู้สึก เขาว่าหากรู้สึกรักด้วยก็ยิ่งดี แต่ในเวลาที่ไม่รู้สึกรัก แล้วยังคงยึดมั่นกับความรัก ยังคงมีเจตจำนงที่จะรัก และยังแสดงความรักต่อกัน นั่นต่างหากคือหลักฐานว่าความรักยังคงอยู่

adult-affection-baby-302083.jpg

ในทางกลับกัน คนที่มีความรักจำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงการทำตามความรู้สึกรักด้วยซ้ำ เราอาจพบคนที่สวย หล่อ หรือน่ารัก และรู้สึกรัก แต่ต้องเลือกจะไม่รัก

"ผมอาจจะพบผู้หญิงที่ดึงดูดใจผมมาก แล้วผมก็รู้สึกรักเขาด้วย แต่ถ้าผมเป็นชู้กับเธอ มันก็จะทำลายชีวิตการแต่งงานผม ผมจะพูดกับเธอในใจตัวเองว่า ‘ผมรู้สึกรักคุณนะ แต่ผมจะไม่รักคุณ’"

โดยสรุป ในมุมมองของสก็อตนั้น ความรักแท้จริง ไม่ใช่ความรู้สึกท่วมท้นในใจ แต่เป็นพันธะสัญญาที่ผ่านการไตร่ตรองมาดีแล้ว เขาเน้นย้ำเรื่องของความสำคัญของการตัดสินใจเลือก การแสดงเจตจำนงจะรัก และยึดมั่นกับคำสัญญาไม่ว่าความรู้สึกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะตามอุดมคตินั้น ความรักแท้จริงไม่ใช่การพึ่งพิงทางอารมณ์ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อคนสองคนที่อยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เลือกจะอยู่ด้วยกัน

อ้างอิง: หนังสือ The Road Less Traveled โดย M. Scott Peck