ไม่พบผลการค้นหา
ประธานวุฒิสภาเผย 'สุชาติ ตระกูลเกษมสุข' ที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบให้เป็น กรรมการ ป.ป.ช. มีปัญหาเรื่องร้องเรียนคุณสมบัติ ต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อน พร้อมขยายเวลาการลาออกจากตำแหน่งปัจจุบันของว่าที่กรรมการ ป.ป.ช.ออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติ

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ชี้แจงกรณีที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี  เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระทุกองค์กรจะดำเนินการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานศาลปกครอง กับมีผู้แทนจากศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทุกองค์กร แต่จะไม่มีผู้แทนจากองค์กรอิสระที่จะมีการเลือกกรรมการขององค์กรอิสระนั้น เช่น การสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่มีผู้แทนจาก ป.ป.ช. มาเป็นกรรมการ มีข้อยกเว้นเฉพาะการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีกรรมการจากองค์กรอิสระมาร่วมเป็นองค์ประกอบ แต่จะมีผู้แทนจากองค์กรภาคประชาชนมาร่วมเป็นองค์ประกอบแทน สรุปได้ว่าไม่มีกรรมการสรรหาที่มาจากวุฒิสภา และวุฒิสภาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งหรือเลือกกรรมการสรรหาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการประกาศรับสมัคร กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยกฎหมายกำหนดว่าผู้สมัครที่จะได้รับการเสนอชื่อต้องได้คะแนนให้ความเห็นชอบด้วยมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการสรรหา กระบวนการสรรหาดังกล่าวกฎหมายกำหนดให้ใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการองค์กรอิสระมายังวุฒิสภา วุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และจริยธรรม ของบุคคลทั้งสอง ส่วนในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสอง เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 203 วรรคห้า บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาในเรื่องคุณสมบัติให้เป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภาจึงไม่ได้มีการยกเรื่องคุณสมบัตินี้ขึ้นมาเป็นประเด็นในการวินิจฉัย 

สำหรับขั้นตอนภายหลังที่วุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบแล้ว ปกติประธานวุฒิสภา จะให้ผู้ได้รับความเห็นชอบลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ภายใน 15 วัน จากนั้นจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป แต่กรณีนี้เนื่องจากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการและขั้นตอนในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความถูกต้องและมีข้อมูลรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงเห็นควรขยายเวลาการลาออกจากตำแหน่งปัจจุบันของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติจากองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยในประเด็นเรื่องดังกล่าว แล้วประธานวุฒิสภาจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง