ไม่พบผลการค้นหา
โฆษก ศบค. แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 ประจำวันเพิ่ม 7 รายยอดสะสมรวม 2,938 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย พบประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อก่อนหน้า

วันที่ 28 เม.ย. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,938 ราย จำนวนผู้ที่หายป่วยแล้วรวมทั้งสิ้น 2,652 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้นอีก 43 ราย และวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 54 ราย      

ผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชายไทยวัย 52 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้จากการประชุมสัมมนา โดยเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.ด้วยอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และวันที่ 21 มี.ค.เข้ารักษาอาการที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. แพทย์ส่งตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 24 มี.ค.มีอาการไข้สูง 38.2 คลื่นไส้ แพทย์จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจอีกครั้งก็ยังยืนยันการติดเชื้อ และวันที่ 30 มี.ค.อาการแย่ลง และมีภาวะปอดรั่ว แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จนกระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 27 เม.ย.จากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และไตวายเฉียบพลัน     

อีกรายเป็นหญิงไทยวัย 63 ปี อาชีพค้าขาย เป็นเจ้าของร้านอาหารทำหน้าที่รับเงิน มีภาวะอ้วน ประวัติสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ในครอบครัว คือ สามี และหลานสาว เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ด้วยอาการไข้ มึนศีรษะ เข้ารักษาตัวในคลีนิกแต่อาการไม่ดีขึ้นจึงไปเข้า รพ.ในจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 1 เม.ย.มีไข้ หายใจเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาอาการแย่ลงแพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ จนกระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 27 เม.ย.ด้วยอาการปอดอักเสบติดเชื้อ และระบบหายใจล้มเหลว      

"สิ่งที่เราเห็นจากทั้ง 2 ราย คือ มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ทั้งคู่ ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญกับการมี Social Distancing และรักษาระยะห่างแม้กระทั่งกับคนในครอบครัว ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ ขอย้ำว่า การ์ดอย่าตก เพราะตัวเลขวันนี้ต่ำสิบเป็นวันที่สอง เกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 7-14 วันที่แล้วที่ทุกท่านร่วมมืออย่างดี...วันนี้ท่านทำอะไรไว้จะไปปรากฏผลในอีก14 วันข้างหน้า หากเรากระทำตัวสม่ำเสมอและเข้มงวดอย่างนี้ไปตลอด เราก็จะอยู่รอดปลอดภัยกันทุกคน" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว     

สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงวัย 20-29 ปี มากที่สุด รองลงมาคือ 30-39 ปี ขณะที่กรุงเทพฯ และนนทบุรีมีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด 1,650 ราย ภาคใต้ 671 ภาคกลาง 373 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคเหนือ 94 ราย      

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 7 รายวันนี้ เป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 5 ราย, ไปสถานที่ชุมชนแออัด เช่น งานแฟร์ คอนเสิร์ต ตลาดนัดในกทม. 1 ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค เป็นชาวจีน 1 ราย     

สำหรับ 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ 13 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันมานี้ ได้แก่ จันทบุรี ราชบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน และ อุตรดิตถ์ที่เพิ่มเข้ามา      

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงจังหวัดที่มีอัตราการป่วยของผู้สูงอายุมากที่สุด คือ ยะลา ภูเก็ต และปัตตานี โดย 2 จังหวัดมีความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบกิจกรรมทางศาสนาในต่างประเทศ      

ด้านสถิติคนไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) จากที่ลงทะเบียนไว้ 370 คน แต่เดินทางเข้ามาจริง 332 คน โดยมาจากมาเลเซีย 303 คน เมียนมา 14 คน สปป.ลาว 8 คน กัมพูชา 7 คน และยังมีคิวคนที่กำลังจะเดินทางกลับมาจากต่างประเทศอีกจำนวนมาก ทั้งอินเดีย ฟิลิปปินส์ มัลดีฟ ศรีลังกา สิงคโปร์ กาฎมัณฑุ คาซัคสถาน เนเธอร์แลนด์ สเปน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะดูแล      

สำหรับงานด้านความมั่นคงจากการประกาศเคอร์ฟิวที่ผ่านมา ยังมีรายงานออกนอกเคหสถานด้วยเหตุที่ไม่จำเป็นเท่าไหร่ 461 ราย ชุมนุมมั่วสุม 143 ราย      

ส่วนกรณีการขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไป 1 เดือน ส่งผลกระทบกับคนไทยที่ซื้อตั๋วไว้แล้วและจะเดินทางกลับมาวันที่ 1 พ.ค.นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศสามารถลงทะเบียนหรือขอความช่วยเหลือจากสถานกงสุล หรือสถานทูตในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ทุกที่ทั่วโลก โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้รับเรื่อง และจัดลำดับความสำคัญเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ      

ส่วนการเปิดร้านค้า ตลาด หรือสถานประกอบการ นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการ 11 ข้อป้องกันโรคที่เป็นมาตรฐานสำหรับทุกคนจะต้องปฏิบัติตามและให้ความร่วมมือ