ไม่พบผลการค้นหา
'ปุ๊น ตรีรัตน์' ติงรัฐบาลประยุทธ์ 4 เดือน 4 ความล้มเหลวแก้วิกฤตโควิด สู่บทเรียน การบริหารราชการแผ่นดิน ชี้ล้มเหลวการบริหารวิกฤต-ระบบ-สื่อสาร-ความเชื่อมั่น

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส แกนนำคนรุ่นใหม่พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก กล่าวถึง ความผิดพลาด และล้มเหลวในการบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีเนื้อหาดังนี้ ถอดรหัส 4 เดือน การแก้ปัญหาวิกฤตการระบาดโรคโควิด-19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะสามารถมีมาตรการการป้องกัน และเยียวยา ที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วได้หรือไม่

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่เฝ้ารอความหวัง ถึงแม้จะคาดเดาผลลัพธ์ล่วงหน้า จากการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งครั้งจะถือว่าเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำและฝีมืออย่างแท้จริง อยากจะเสนอแนะความคิดเห็นไว้ดังต่อไปนี้

1. 'ความล้มเหลวด้านบริหารวิกฤต' ด้วยความชะล่าใจ และไม่ได้เตรียมความพร้อมของภาครัฐ ส่งผลกระทบทางตรงสู่ประชาชนจำนวนมาก ทำให้ผู้คนตกงาน ไม่สามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้ปกติ โดยภาครัฐสามารถที่จะประเมินได้ล่วงหน้าเพื่อการเตรียมความพร้อม ทั้งจากตัวเลขผู้เข้ารับการตรวจ หรือจำนวนผู้ติดเชื้อประจำวัน รวมทั้งบทเรียนจากประเทศอื่นๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงหมายความว่า รัฐบาลไม่ได้นำเอาข้อมูลต่างๆ มาเตรียมมาตรการป้องกัน และเยียวยาให้ทันท่วงที ตั้งแต่กรณีการรับคนไทยกลับจากอู่ฮั่น ไปจนถึงการล็อกดาวน์ประเทศโดยมิได้มีการประชาสัมพันธ์ที่เพียงพอ ส่งผลให้คนไทยจำนวนมาก ยังตกค้างอยู่ต่างประเทศ ที่สำคัญคือความล้มเหลวในการเตรียมหน้ากากอนามัยที่เพียงพอสำหรับบุคลากร ทางแพทย์ และประชาชน รวมถึงขาดมาตรการควบคุมไม่ให้สินค้ามีราคาแพง หรือการจัดเตรียมอุปกรณ์ชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิดที่เพียงพอ นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้นที่ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้น

2. 'ความล้มเหลวด้านระบบ' ที่ชัดเจนมากที่สุดคือ การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อคน ที่ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ประกอบอาชีพ ฐานภาษี และรายได้ ได้ทันที รวมทั้งผู้ที่มีประกันสังคม แต่ภาครัฐกลับเลือกวิธีให้ลงทะเบียนใหม่ ซึ่งเป็นความซ้ำซ้อน ขาดการบริหารจัดการข้อมูลที่ทางรัฐมีอยู่แล้ว

การให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่ ก็มีปัญหา เพราะระบบการลงทะเบียน ล้มเหลวตั้งแต่วันแรกที่เปิดลงทะเบียน มาจนถึงวันนี้ที่ประชาชนควรได้รับเงินเยียวยาในกระเป๋าแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยังมีประชาชนอีกจำนวนหลายล้านคน ที่ระบบแจ้งว่าข้อมูลผิดพลาด ทั้งเป็นเกษตรกร หรือไม่เข้าเกณฑ์อื่นๆ กว่าจะยื่นอุทธรณ์ และกว่าได้รับเงิน ประชาชนก็รอไม่ไหวแล้ว อดตายกันหมด จึงเห็นภาพการออกไปประท้วงที่กระทรวงการคลังแบบที่เกิดขึ้น 

3. 'ความล้มเหลวด้านการสื่อสาร' ล้มเหลวตั้งแต่ตัวท่านนายกรัฐมนตรีเอง ที่ไม่อาจทำให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่นได้ รวมถึงไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมการรับมือกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะประกาศ ส่งผลให้มีข่าวลือออกมามากมาย นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ผู้คนแห่ไปกักตุนสินค้าเป็นจำนวนมาก จนทำให้สินค้าไม่เพียงพอ และความล้มเหลวในการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อมาตรการการกักตัว ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯ แห่กลับภูมิลำเนาของตน และเป็นที่มาของการกระจายเชื้อสู่จังหวัดต่างๆ กว่าจะมาแก้ก็สายเกินไป

4. 'ความล้มเหลวด้านความเชื่อมั่น' จากความผิดพลาดของภาครัฐที่ผ่านมา ทั้งด้าน 1.)การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในขาลงต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด ส่งผลให้ภาคการส่งออกชะลอตัว 2.)ความผิดพลาดในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ทำให้งบขาดดุล และยังไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ออกนโยบายที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเรือดำน้ำ เป็นต้น สู่ การล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิดในวันนี้ ส่งผลกระทบทางตรงต่อประชาชน และนักลงทุน ว่ารัฐบาลนี้จะพาประเทศไปต่อได้หรือไม่ 

"ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องติเพื่อก่อ เป็นบทเรียนสำคัญในการทำงานในอนาคต เราทุกคนอยากมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม อยากมีความหวัง อยากก้าวไปข้างหน้า และพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลอยู่แล้ว แต่รัฐบาลต้องใจกว้าง รับฟัง ไม่เห็นเสียงประชาชนเป็นปัญหา ถ้าท่านหาทางออกไม่ได้ ไร้ฝีมือ ก็ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องพิจารณาตัวเองออกไปจากปัญหาที่ท่านสร้างขึ้นมาเพิ่มเติม"