ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาครอบครัวแรกเดินทางกลับเมียนมาแล้ว แม้สหประชาชาติจะเตือนว่าเมียนมายังไม่ปลอดภัยสำหรับชาวโรฮิงญาก็ตาม

ทางการเมียนมาเปิดเผยว่าครอบครัวผู้ลี้ภัยที่มีสมาชิก 5 คนได้เดินทางจากบังกลาเทศกลับเมียนมา โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ไปอยู่ใน 'ค่ายผู้ถูกส่งกลับประเทศ' แม้สหประชาชาติเตือนว่าทางการเมียนมาต้องเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานและการเดินทาง เพื่อรับผู้ลี้ภัยกลับประเทศ เนื่องจากขณะนี้เมียนมายังไม่ปลอดภัยเพียงพอ และไม่มีการรับรองว่าจะปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หากข้อมูลของรัฐบาลเมียนมาสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริงจะถือว่าชาวโรฮิงญาครอบครัวนี้เป็นครอบครัวแรกที่ได้กลับประเทศ หลังจากเกิดความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2017 จนทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 7 แสนคนต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ

นอกจากได้กลับไปอยู่ในพื้นที่แล้ว ผู้ลี้ภัยทั้ง 5 คนยังได้รับเสบียงและบัตรประจำตัว แต่ทางการเมียนมาไม่ได้เรียกพวกเขาว่าเป็น 'ชาวโรฮิงญา' ระบุเพียงว่า พวกเขาเป็น 'ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิม' เท่านั้น ด้านผู้นำชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยกล่าวว่าบัตรประจำตัวดังกล่าวไม่ได้รับรองความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญาที่กลับไปเลย

ที่ผ่านมา ทางการเมียนมาไม่เคยยอมรับว่ามี 'ชาวโรฮิงญา' อยู่ในประเทศ แต่จะเรียกพวกเขาว่าเป็น 'ชาวเบงกาลี' เพื่อระบุว่า พวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยที่มาจากบังกลาเทศอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ชาวโรฮิงญาที่เกิดในเมียนมาจำนวนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน แม้จะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก็ตาม

ชาวโรฮิงญาหลายคนในค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศเปิดเผยว่า ก่อนที่พวกเขาจะได้รับการพิจารณาให้เดินทางกลับเมียนมา พวกเขาต้องการเห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมว่าพวกเขาจะได้รับสถานะทางกฎหมาย ความเป็นพลเมือง ความปลอดภัย รวมถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา

ก่อนหน้านี้ ยูเอ็นและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกประณามว่ากองทัพเมียนมากำลังลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา หลังจากมีรายงานระบุว่า กองทัพเมียนมาสังหาร ข่มขืน และเผาบ้านของชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นการกดขี่ชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ แต่ทางการเมียนมาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยอธิบายว่ารัฐบาลเมียนมาปฏิบัติหน้าที่อย่างชอบธรรมในการปราบปราม 'กลุ่มก่อการร้าย' ที่โจมตีตำรวจชายแดนในรัฐยะไข่

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการเมียนมาเพิ่งตัดสินจำคุกทหาร 7 นายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารชาวโรฮิงญา 10 ราย หลังเจ้าหน้าที่ยอมรับว่ารู้สึกโกรธแค้นที่กลุ่มติดอาวุธทำร้ายชาวพุทธในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญาครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่

ที่มา: BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: