ไม่พบผลการค้นหา
ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีไทย แต่อะไรทำให้องค์กรโลกบาลมองไทยอย่างนั้น 'วอยซ์ออนไลน์' สัมภาษณ์พิเศษ 'ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กับคำอธิบายว่าทำไมเวิล์ดแบงก์ หรือ ธนาคารโลกจึงมองทิศทางเศรษฐกิจไทยดี๊ดี

เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี 2561 ไหม

ถ้าเกิดดูปีนี้ เริ่มที่ไตรมาส 1 และ 2 ถือว่าเป็นไตรมาสที่ดีมาก ดีเกินความคาดหมายของหลายคนแล้ว หลายองค์กร แบงก์ชาติ กระทรวงการคลังปรับประมาณการขึ้น แล้วทางธนาคารโลกก็พึ่งทำรายงานออกมา เกี่ยวกับความไม่แน่นอน ก็จะดูเรื่องเศรษฐกิจเอเชียเป็นหลัก เรื่อง จีน เวียดนาม มาเลเซีย ไทย รวมถึง อินโดนีเซีย บรูไนฯ และลาว


"โดยรวมแล้วถือว่าเศรษฐกิจเอเชียเป็นภูมิภาคที่โตได้ค่อนข้างดี แต่ก็จะเริ่มชะลอเล็กน้อย เริ่มมีสัญญาณจากการส่งออกชะลอลง เศรษฐกิจจีนที่โตมาดีมาตลอดก็เริ่มชะลอลงแล้ว"


ถ้าเกิดมาดูในภูมิภาคอาเซียนก็จะเห็นว่ามีหลายประเทศที่มีการปรับการคาดการณ์ลดลง โดยเฉพาะมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ของไทยถือว่าไม่เหมือนชาวบ้านคือยังดี แล้วก็มีการปรับขึ้น สำหรับปี 2561 ก็คือปรับขึ้นจากร้อยละ 4.1 เป็นร้อยละ 4.5 เพราะไตรมาส 1 ดีมาก ไตรมาส 2 ดีมาก


"ถามว่าดีเพราะอะไร เพราะว่ามี 2 ปัจจัยที่มาพร้อมกันพอดี คือปัจจัยภายนอกคือการส่งออกสินค้าแล้วก็การท่องเที่ยว เพราะว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวค่อนข้างดีแล้วก็การท่องเที่ยวจากจีนจากภูมิภาคก็ถือว่าดี แล้วก็ปัจจัยภายในประเทศที่ในช่วง 3 ปีทีไม่ค่อยดี ตอนนี้ก็กลับมาดีแล้ว ก็คือ การลงทุนภาครัฐหลายๆ โครงการที่ชะลอจากปีที่แล้ว ปีนี้ก็เริ่มลงมือทำ"


การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงมาในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ก็เริ่มกลับคืนมา ถ้าเกิดดูตัวเลขการนำเข้าของสินค้าต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องยนต์ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว คือคำสั่งซื้อต่างๆ ก็เริ่มดี โรงงานก็มีการใช้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ปัจจัยภายในประเทศก็เริ่มดีขึ้น มันก็เลยมาพร้อมกัน

มองต่อไปในปี 2562 สถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นไหม

ถามว่ามองไปข้างหน้ามันจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดรึเปล่า ซึ่งอันนี้เป็นคำถามสำคัญ เท่าที่เรามอง ปัจจัยที่เราเห็นในปีนี้ในต้นปีก็จะไม่เป็นอย่างนี้ไปแล้ว เพราะว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มโตเต็มศักยภาพ สหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอลง เขาก็เริ่มบอกได้เวลาปรับดอกเบี้ยขึ้นแล้วเพราะว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับปัจจัยในประเทศตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่าแรงส่งจากภายนอกประเทศ จะสามารถส่งแรงต่อไปให้ในประเทศ เท่าที่เราเห็นก็เริ่มมีสัญญาณแล้ว การลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนนึงก็เพราะว่าเพื่อตอบสนองตลาดภายนอกเพื่อการส่งออก การลงทุนภาครัฐหลายโครงการก็อยู่ในแผนมานานแล้วตอนนี้ก็เริ่มลงมือทำ เวลาเริ่มแล้วก็เป็นไปได้ที่จะขับเคลื่อนให้ต่อปีนี้ ปีหน้า ปีที่สาม โดยเฉพาะทางด่วน รถไฟรางคู่ ก็เป็นสิ่งที่เรามองว่าประเทศไทยต้องการมาสักพักแล้ว

ปัจจัยเสี่ยงที่จะดึงเศรษฐกิจลงในปีหน้า

ปัจจัยเสี่ยงมันก็มีตลอด แต่ถ้าเกิดดูในแง่ของประเทศไทยเทียบกับเพื่อนบ้าน ถือว่าปัจจัยพื้นฐานของเราดีมาก ปัจจัยพื้นฐานของเราก็คือว่าเงินทุนสำรองของแบงก์ชาติถือว่าอยู่ในระดับสูงมากร้อยละ 40 ของจีดีพี หนี้สาธารณะของไทยก็ไม่ได้สูงมากร้อยละ 40 ของจีดีพีเพราะฉะนั้นยังมีศักยภาพในการใช้เงิน ดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูงมากแต่ตอนนี้แบงก์ชาติอาจจะเริ่มคิดแล้วว่าต้องคิดว่าจะปรับขึ้นเมื่อไหร่ เงินเฟ้อก็อยู่ที่ร้อยละ 1 ที่กรอบล่างของเป้าของแบงก์ชาติ ภาคการเงินก็มีเงินทุนสำรองค่อนข้างเยอะ ที่เป็นห่วงอย่างนึงก็คือเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ที่ร้อยละ 80 ค่อนข้างสูง แต่ถ้าเกิดูเม็ดเงินก็เริ่มชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา

เรื่องสงครามการค้าโลก น่าห่วงมากไหม

ปัจจุบันความเสี่ยงหลักอยู่ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงรึเปล่า เท่าที่เราดูเศรษฐกิจจีนก็ยังโตได้อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงก็คือว่าถ้าเกิดสงครามการค้ามันจะแย่ลง นักลงทุนในจีนอาจจะเริ่มตระหนักจะเริ่มลดการลงทุนในจีน ทีนี้ก็จะเป็นความเสี่ยงแล้วว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอลง ถ้าเกิดจีนชะลอก็จะส่งผลต่อเรา การท่องเที่ยว การนำเข้าของจีน หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในไทย แล้วเราส่งไปประกอบที่นั่นก็จะถูกกระทบ ที่นี้ก็เป็นความเสี่ยงที่เรามองว่าเป็นไปได้ แต่ ณ ปัจจุบัน โอกาสไม่ได้สูงมาก

ผมว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความไม่แน่นอนมากกว่า ซึ่งถ้าเกิดมาดูตัวเลขการค้าโลกก็จะเห็นมันเริ่มชะลอลงแล้ว อันนี้ก็อาจจะเป็นสัญญาณนึงว่านักลงทุน ผู้ส่งออกไม่ได้มั่นใจขนาดนั้นในตลาดโลกซึ่งอาจจะมาจากสงครามการค้าส่วนหนึ่งก็ได้

ที่จริงเราโชคดีที่เราอยู่ในเอเชีย CLMV (เขมร-ลาว-พม่า-เวียดนาม) เพราะว่าตรงนี้เป็นภูมิภาคที่กำลังโต มีประชาชนเยาวชนค่อนข้างเยอะ มีแรงซื้อที่กำลังพัฒนา ที่จริงเรื่องการค้า ถ้าเกิดเราสนับสนุนการค้าก็มีเรื่อง CPTPP หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่มารื้อฟื้นใหม่แล้วก็อาจจะช่วยได้ หรือ RCEP หรือ ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่คุยกันในเอเชียหรือ One Belt One Road Initiative (เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21) ที่จีนเป็นหัวหอกสนับสนุนการค้า ก็จะช่วยให้เราผู้ประกอบการสามารถหาตลาดในเอเชียกันเองมากขึ้น

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ขนาดไหน

คือเรื่องการเลือกตั้งก็เป็นคำถามใหญ่สำหรับประเทศไทย สำหรับธนาคารโลก เราจะมองเรื่องนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งที่เราวิเคราะห์มา เราทำงานวิจัยเศรษฐกิจไทย 10 ปีที่ผ่านมา


"เราสังเกตว่า 10 ปี ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตเฉลี่ยของไทยอยู่แค่ร้อยละ 3.5 แต่ก่อนอยู่ประมาณเกือบร้อยละ 5 ช่วง 20 ปีก่อน แล้วก็ชะลอลงมาค่อนข้างเยอะ เราเรียกว่าเป็น 'ทศวรรษที่สาบสูญ' ก็คือเป็นช่วง 10 ปีที่เราเสียโอกาสหายไปและเศรษฐกิจไม่ได้เติบโต"


ทีนี้ถามว่าเพราะว่าอะไร เพราะว่าช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาเรามีแผนหลายอย่าง โครงการการลงทุน เช่น ทางด่วนจากบางประอินไปโคราช แต่เราก็ไม่ได้ทำ พึ่งมาทำปีที่แล้ว ก็ดีแล้วที่ทำแต่ก็ใช้เวลานานมาก แล้วก็กฏหมายหลายอันที่เคยเสนอ 10 ปี ที่ผ่านมาไหม เช่น กฎหมายที่ดิน สินทรัพย์ มรดก และก็กองทุนการออมแห่งชาติ ก็พึ่งมาเริ่มทำช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าดีมากที่เริ่มทำแต่ 10 ปีเราก็ไม่ได้ทำ ก็เป็น 'ทศวรรษที่สาบสูญ'


"ที่นี้เราก็ถือว่า 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประเทศไทยเริ่มตื่นขึ้นมา ตระหนักเห็นความสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ผมว่าประชาชนเห็นความสำคัญของตรงนี้มากกว่าเราต้องแก้ไขอะไรสักอย่างในประเทศ เป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมืองก็แล้วแต่"


ทางธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจชัดเจนมากว่าต้องมีการแก้ไข ต้องมีการปฏิรูปทั้งในด้านของการศึกษา ภาคบริการ การลงทุนภาครัฐ หรือระบบราชการที่จะมาขับเคลื่อนโครงการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

ถามว่ามองไปข้างหน้าจะทำได้รึเปล่า หลังเลือกตั้งจะทำได้รึเปล่าผมว่าที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเกิดไปดูประสบการณ์ประเทศที่สามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ เช่น เกาหลีใต้ หรือ โปแลนด์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาชนเห็นความสำคัญของการปฏิรูปแก้ไขเศรษฐกิจ สองคือประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเข้ามารับข้อมูลจากภาครัฐว่าภาครัฐคิดจะทำอะไร โครงการรถไฟตรงนี้ดีไหม

ตอนที่เกาหลีใต้เขาจะมีรถไฟความเร็วสูงไปทั่วประเทศ แต่ตอนที่เขาเริ่มสร้าง ก็มีการถกเถียงค่อนข้างเยอะว่าคุ้มรึเปล่า แล้วก็วิธีที่เขาทำดีมาก คือเขาเอาแผนประเมินมาให้องค์กรภายนอกประเมิน มีเกณฑ์ชัดเจน มีความโปร่งใส แล้วก็ขึ้นเว็บไซต์ให้ประชาชนเห็นว่าตรงนี้ไม่คุ้มเงินทางด้านของเม็ดเงินแต่ว่าจะดีต่อการเติบโตของจังหวัดนั้น เพราะฉะนั้นประชาชนก็รับทราบและก็เห็นด้วยว่าก็น่าจะคุ้มเพราะว่าช่วยจังหวัดในระยะยาว ช่วยพัฒนาจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากโซน เพราะฉะนั้นผมก็มองว่า ประชาชนเป็นแรงขับเคลื่อน หลังเลือกตั้งถ้าเกิดว่าประชาชนยังเห็นความสำคัญของการปฎิรูปมีส่วนร่วมรับข้อมูลได้ การปฎิรูปก็จะเดินหน้าได้

ข้อดีที่ควรยึดไว้และข้อด้อยที่ต้องปรับปรุงของไทย

ข้อดีก็คือ ที่จริงมี 2 เรื่อง ก็คือเรื่องภูมิศาสตร์ เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดีมาก แล้วก็เพื่อนบ้านก็กำลังเติบโตดี มีประชาชน มีตลาด มีโอกาสเยอะสำหรับผู้ประกอบการไทย สองปัจจัยพื้นฐานของเราดีมาก คือความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจของเราต่ำมาก เพราะว่าหนี้สาธารณะต่ำ เงินทุนสำรองแบงก์ชาติสูง เพราะฉะนั้น ประเทศไทยพร้อมที่จะลงมือทำหลายอย่างโดยที่ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับเพื่อนบ้าน นี่คือข้อดี

ข้อด้อยที่จริงมีหลายจุดแต่ผมคิดว่า ณ ปัจจุบันก็คือ คือผมพูดเรื่องปฏิรูปคือไทยเริ่มปฏิรูปหลายอย่างแล้วที่วางแผนมาค่อนข้างนาน มีการลงทุนภาครัฐ มีเรื่องภาษี การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คือแบงก์ชาติตอนนี้ก็รับผิดชอบดีมาก


"มีจุดนึงที่สำคัญมาก คือเรื่องการศึกษาที่เราอาจจะทำได้มากกว่านี้ งบประมาณก็เยอะมาก ให้ไปเยอะร้อยละ 5 ของจีดีพี นี่เท่ากับเกาหลีใต้นะครับ เกาหลีใต้ก็ร้อยละ 5 แต่ว่าผลที่เราได้คือตอนนี้ก็ตามหลังเวียดนาม"


เราก็ต้องจัดสรรงบประมาณให้ดี ให้โรงเรียนโปร่งใส ให้เด็กและก็พ่อแม่สามารถรู้ได้ว่าโรงเรียนที่ดีอยู่ตรงไหน ครูที่เก่งคือใคร เขาจะได้ส่งลูกไปเรียนที่นั่น ที่นี้ในจุดนี้ ถือว่าเป็นจุดที่เราทำได้อีกเยอะแต่ว่าไม่ได้ทำเร็วเท่าจุดอื่น ผมว่ามองไปข้างหน้าเป็นโอกาสที่เราเข้ามาทบทวนกันใหม่ว่าระบบการศึกษาไทยจะเป็นยังไง ระบบการศึกษาระยะยาวตลอดชีวิตสำหรับเด็กในอนาคตจะเป็นอย่างไร