ไม่พบผลการค้นหา
ชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาจำนวนมากไม่ได้เพิ่งอพยพลี้ภัยออกมาจากรัฐยะไข่ของเมียนมา หลังความรุนแรงที่ปะทุจากการโจมตีตำรวจเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเท่านั้น แต่มีการอพยพออกจากพื้นที่มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ลองฟังเสียงของชาวมุสลิมที่ตัดสินใจอพยพออกจากยะไข่มาอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

แม้ส่วนใหญ่ ชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆจากรัฐยะไข่ มักจะลงเรือไปขึ้นฝั่งแถวระนอง เพื่อเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย ประเทศมุสลิมที่พวกเขาคาดหวังว่า จะใช้ชีวิตได้โดยไม่ถูกเกลียดชัง แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งก็เลือกที่จะเดินทางก็นั่งรถลงมาที่เมียวดี เพื่อข้ามมาอยู่ที่อำเภแม่สอด จังหวัดตาก

เมื่อ 1 ปีก่อน มะบีและน้องสาวตัดสินใจนำเงินที่เก็บไว้ ว่าจ้างให้คนพาอพยพจากเมืองตั่นดวย ทางตอนใต้ของรัฐยะไข่ ใช้เวลาประมาณ 2 วันในการนั่งรถยนต์ลัดเลาะไปในป่าจนถึงเมืองเมียวดี แล้วจึงข้ามมาที่แม่สอด เพื่อมาหางานทำและส่งเงินกลับไปให้ญาติๆ


"การไม่มีงานทำ ไม่ใช่การไม่ทำงาน"

เมื่อถามว่า มะบีรู้สึกอย่างไรที่มีคนไทยจำนวนมากบอกว่า ไม่อยากรับชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิมเข้ามาอยู่ในไทย เพราะพวกเขาเป็นคนขี้เกียจทำงาน มะบีก็มองว่า คนเหล่านั้นอาจเข้าใจผิดว่า "การไม่มีงานทำไม่ใช่การไม่ทำงาน" เธอและอีกหลายคนทำงานหนักมาก ตอนที่อยู่ในรัฐยะไข่ เธอรับจ้างสารพัดตั้งแต่รับจ้างเก็บพริก ทำไร่ทำนา ทำทุกอย่างที่คนจะจ้าง แต่ค่าแรงที่ได้ต่ำมาก ส่วนงานที่พวกเขาอยากทำก็ทำไม่ได้ เช่น งานในโรงงานที่เข้าไปตั้งในรัฐยะไข่ เพราะโรงงานรับแต่แรงงานชาวพุทธเท่านั้น


ฟังเสียงคนจากรัฐยะไข่ ทำไมต้องอพยพ?

คุกกลางแจ้ง

หากยังไม่เห็นภาพว่า การไม่มีงานที่มั่นคงเป็นเรื่องลำบากแค่ไหน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนลเพิ่งออกรายงานการศึกษาวิจัยสถานการณ์ในรัฐยะไข่โดยเปรียบเทียบว่า รัฐยะไข่คือคุกกลางแจ้ง

คนที่นั่นถูกปิดกั้นจากโลกภายนอก ถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง หากจะออกจากหมู่บ้านก็ต้องยื่นเอกสารและจ่ายเงินจำนวนมาก ต่อให้ไปตกปลาในแม่น้ำได้ แต่จะไปขายที่ตลาดก็ต้องจ่ายเงินค่าผ่านด่านจนอาจไม่เหลือเงินกลับมา หากป่วยต้องไปโรงพยาบาล คุณต้องทำเรื่องผ่านด่านที่มีอยู่มากมาย กว่าจะไปถึงโรงพยาบาลก็อาจกินเวลาหลายวัน และเมื่อไปถึง โรงพยาบาลจะมีการแยกวอร์ดชาวพุทธและมุสลิม ในขณะที่คุณเป็นชาวมุสลิมนอนป่วยอยู่นั้น ก็จะมีตำรวจยืนคุมวอร์ดอยู่ตลอดเวลา กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาและเงินเยอะมาก แต่รายได้กลับน้อยมาก


ปี 2012 คือจุดพลิกผันของรัฐยะไข่

มะบีอธิบายว่า เขตตั่นดวยที่เธออยู่ ไม่รุนแรงเท่าที่อื่น แต่เคยเห็นคนที่บ้านแตก หนีจากพื้นที่ขัดแย้ง ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ไปอยู่แถวหมู่บ้านของเธอ หลายคนพลัดพราดจากญาติ หลายคนครอบครัวเสียงชีวิตกันหมด และแม้เธอจะอยากช่วยพวกเขา เธอก็ไม่กล้าพอ เพราะกลัวโดนหางเลขไปด้วย

ด้านติน โช เอ หญิงเชื้อสายกัมมานที่เข้ามาทำงานเป็นแม่บ้านในแม่สอด ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเช่นกันยืนยันว่า แม้ทางการเมียนมารับรองสัญชาติให้คนเชื้อสายกัมมาน เธอและครอบครัวมีบัตรประชาชนพม่า แต่ชีวิตของพวกเขาก็ยังยากลำบากมาก ต่อให้เรียนสูงแค่ไหนก็ไม่ได้ทำงานที่ดี โดยเธอเล่าว่า ก่อนปี 2012 ชาวมุสลิมในเมืองตั่นดวยเคยอยู่ร่วมกับชาวพุทธอย่างสงบสุข คนพม่าพุทธกับมุสลิมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี แต่เมื่อมีเหตุปะทะกันรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมใน ปี 2012 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

ติน โช เอเปิดเผยว่า เธอและชาวมุสลิมหลายคนก็เริ่มหวาดกลัวมากขึ้น แต่ก็ยังพออยู่ได้ แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พระวีรธุ แกนนำกลุ่มพุทธสุดโต่งมาบาธาได้เดินทางเข้าไปรัฐยะไข่หลายครั้ง ทำให้คนพุทธและมุสลิมเริ่มมีปัญหากันมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีมัสยิดจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่นอย่างเมืองทางตอนเหนือ เพราะการแบ่งแยกทางศาสนาจะชัดเจนกว่า

แม้อยู่ไทย ก็บอกไม่ได้ว่ามาจากยะไข่

มะบีกับติน โช เอพูดตรงกันว่า สังคมชาวพม่าในแม่สอดแตกต่างจากในรัฐยะไข่มาก เพราะชาวพม่าพุทธที่แม่สอดเปิดกว้าง สามารถอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมได้มากกว่าในรัฐยะไข่ อย่างไรก็ตาม แม้พวกเขาจะมาทำงานในแม่สอดแล้ว แต่พวกเขาก็ยังไม่กล้าบอกคนอื่นว่า พวกเขามาจากรัฐยะไข่ เพราะนอกจากเรื่องโรฮิงญาและเรื่องศาสนาจะยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่คนใน แม่สอดหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง การที่คนรุ้ว่าเขาหนีออกมาจากยะไข่ ยังอาจทำให้พวกเขาและญาติเดือดร้อน เพราะทางการเมียนมาไม่อนุญาตให้คนในรัฐยะไข่เดินทางออกนอกรัฐยะไข่