ไม่พบผลการค้นหา
‘ขนาดประชาธิปไตย 99.99% แบบไม่มีเลือกตั้งและปกครองโดยรัฐบาลทหารเรายัง make sense กับมันมาได้ตั้งนานเนี่ย คอมมิวนิสต์แบบจีนก็ไม่ยากเกินความเข้าใจของเราหรอกค่ะ’

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เมื่อคิดให้ดีโลกนี้ประหลาด เครื่องใช้ไม้สอย อาหารการกิน ตลอดจนข้าวของจิปาถะห้าร้อยอย่างที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันนับตั้งแต่กรรไกรตัดเล็บแมวไปจนถึงสมาร์ทโฟนนั้นแลจะเป็นสินค้าที่ Made in China แทบทั้งสิ้น แหม่... ก็ใครจะขายของเก่งเท่าคนจีนล่ะนะ ดูแต่อากงอาม่าเราเถิด เสื่อผืนหมอนใบ โล้สำเภามาจากเมืองจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารไม่เท่าไหร่ก็ร่ำรวยเป็นเสี่ยเป็นเถ้าแก่เนี้ยกันหมดแล้ว 

แต่...เดี๋ยวๆๆๆๆ จีนแผ่นดินใหญ่ ณ ปัจจุบันนี้มันชื่อ สาธารณรัฐประชาชนจีน ปกครองโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ใช่เหรอ ? คอมมิวนิสต์นี่มันไม่ใช่จะต้องต่อต้านระบบตลาดเสรี และนายทุน และการมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private property) หรอกหรือ แล้วทำไมจีนมันถึงตีตลาดโลกได้เบอร์นี้ แล้วยังจะมีการส่งแจ๊ค หม่ามาสอนชาวอุษาคเนย์เรื่องเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การธนาคาร 4.0 อีกต่างหาก ?


คอมมิวนิสต์แบบจีนก็เหมือนประชาธิปไตยแบบไทยนั่นล่ะค่ะ แหม่...อยู่มาจะสี่ปีแล้วนะตัวเธอว์ อย่ามาทำเป็นไม่เข้าใจหน่อยเลย ขนาดประชาธิปไตย 99.99% แบบไม่มีเลือกตั้งและปกครองโดยรัฐบาลทหารเรายัง make sense กับมันมาได้ตั้งนานเนี่ย คอมมิวนิสต์แบบจีนก็ไม่ยากเกินความเข้าใจของเราหรอกค่ะ


เราต้องเท้าความกลับไปถึงตอนประธานเหมาประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) น่ะมันเป็นคอมมิวนิสต์รึเปล่า ? สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อแรกสถาปนานั้นเป็นคอมมิวนิสต์แบบ เหมา เจ๋อตง ผู้เป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนคนแรก กล่าวคือ เป็นแบบที่หลายคนจะเรียกว่า “สังคมนิยมเกษตร” (agrarian socialism) มันคืออะไรนะไอ้สังคมนิยมเกษตรเนี่ย? มันก็คือสังคมนิยมแบบที่ถ้า คาร์ล มาร์กซ์ มาเห็นก็จะบอกว่าอันนี้ไม่ใช่สังคมนิยม ไม่ต้องมาอ้างชื่อกรู เดี๋ยวจะโดนฟ้อง พรบ.คอมฯ เพราะว่าสังคมนิยมแบบของมาร์กซ์ที่นำเสนอออกมาในงานอย่าง Communist Manifesto เนี่ยต้องเกิดมาจากสังคมอุตสาหกรรมเท่านั้นค่ะ วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์แบบมาร์กซ์คือวาดรูปออกมาจะได้ประมาณนี้ค่ะ

สังคมบุพกาล (เก็บของป่าล่าสัตว์) à สังคมเกษตรกรรม à ศักดินา à ค้าขาย à ปฏิวัติอุตสาหกรรม à สังคมอุตสาหกรรม à ทุนนิยม (นายทุนกดขี่แรงงาน) à ปฏิวัติสังคมนิยม à เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ à ยูโทเปีย (สังคมปราศจากชนชั้น)

ซึ่งหมายความว่าถ้าสังคมใดยังมีแรงงานส่วนใหญ่และการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรย่อมนับได้ว่ายังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นสังคมนิยม เรียกว่าเวลายังไม่สุกงอมสำหรับการปฏิวัติ แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเนี่ยต้องเรียกว่ามีความชิงสุกก่อนห่ามอย่างแท้จริง (คุ้นๆ มะ... เอ๊ะทำไมพวกประเทศแถวเอเชียอันแสนจะ conservative นี่กลับชอบชิงสุกก่อนห่ามมากกว่าฝรั่งนะ อย่างน้อยก็เรื่องการเมืองเนี่ย ไวไฟกันเหลือเกิ๊น) เหมาบอกว่า รอไม่ไหวแล้ว ผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นถูกกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายแรงเกินทน และประเทศก็ประสบกับภาวะสงครามและการคุกคามจากเจ้าอาณานิคมต่างๆ อย่างต่อเนื่องในระยะร้อยกว่าปีตั้งแต่สงครามฝิ่นจนถึงสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน มันไม่มีทั้งเวลาและเสถียรภาพที่จะสามารถพัฒนาไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อนที่จะทำการปฏิวัติสังคมนิยม คือถ้าจะรอให้แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศย้ายมาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเสียก่อนแล้วค่อยปฏิวัติก็อาจจะเกิดความคนชั้นผู้ใช้แรงงานจะตายกันหมดประเทศก่อนน่ะค่ะ เพราะความขัดแย้งมันรุนแรงเหลือเกิน

ก็เลยปฏิวัติสังคมนิยมไปค่ะ โดยอาศัยแรงงานภาคเกษตรนี่แหละเป็นพลังขับเคลื่อน แทนที่จะไปมุ่งจัดตั้งแต่กรรมกรโรงงานก็หันไปจัดตั้งชาวนาแทน ใช้ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองสู้กับฝ่ายจีนคณะชาติและสามารถเอาชนะและตั้งรัฐบาลปกครองแผ่นดินใหญ่ได้ในที่สุดในช่วงต้นของยุคสงครามเย็น (พ.ศ. 2492)

ดังที่ว่าให้ฟังไว้เบื้องต้นนั่นล่ะค่ะ แล้วตกลงมันเป็นคอมมิวนิสต์มั้ย ?

ก็ต้องตอบว่าคอมมิวนิสต์แบบจีนในยุคต้นสงครามเย็นนี้ก็เป็นคอมมิวนิสต์แบบเหมา กล่าวคือ มันก็ไม่ต่างจากกบฏชาวนายุคราชวงศ์ซักกี่มากน้อยหรอกค่ะ คือเป็นการปกครองแบบเผด็จการของคนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้นำการปฏิวัติ แบบที่เรียกกันว่า “อภิชนาธิปไตย” (การปกครองที่อำนาจเป็นของคนกลุ่มน้อยที่เป็น “อภิชน” คือดีกว่าเหนือกว่าชาวบ้านนั่นแหละค่ะ บางทีภาษาอังกฤษก็ใช้ว่า rule of the best คือการปกครองโดยคนที่ดีที่สุด... ซึ่งตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยแบบสากลค่ะทั่นผู้ชม)

นั่นแหละค่ะ ถ้าจะต่างจากเผด็จการอื่นๆ ที่เคยมีมาบ้างก็ตรงที่มีฐานความสนับสนุนทางการเมืองจากคนส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานในภาคเกษตร ดังนั้น รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในยุคเหมาจึงมีแนวโน้มเอาใจชาวนา เน้นการปฏิรูปที่ดินให้ชาวนามีที่ทำกินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตลอดจนเน้นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาให้สูงขึ้นกว่าในยุคก่อนๆ เพื่อความมั่นคงในอำนาจเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองนั่นแหละไม่ใช่เพื่อใครอื่นหรอกค่ะ

ทีนี้พออยู่ไปซักพักมันก็จะมีปัญหาค่ะ เพราะดันไปโละชนชั้นนายทุนทิ้งไปแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ปฏิวัติอุตสาหกรรม แล้วก็มีความต่อต้านพวกปัญญาชนผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในฐานะนายทุนน้อยไปแล้วด้วย ทีนี้จะเอาทุนกับความรู้ความเชี่ยวชาญที่ไหนมาพัฒนาประเทศต่อล่ะคะ? ประเทศมันก็ต้องจนเท่าเดิม ด้อยพัฒนาเท่าเดิมมาเรื่อยๆ และทุกครั้งที่มีความตั้งใจอยากจะพัฒนาให้มันเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมหรือทันสมัยทัดเทียมประเทศทุนนิยมอื่นๆ ก็จะเกิดความฉิบหายวายป่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกอย่างที่ดำเนินการไปก็จะทำไปแบบขาดทั้งทุนทั้งความรู้ใช้แต่แรงงานผลักดันไปแบบไม่มี know how เลย ผลผลิตที่ทำออกมาก็ต่ำกว่ามาตรฐานหรือในหลายๆ กรณีก็ใช้การไม่ได้เลย

การผลิตในภาคเกษตรก็ไม่สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ ก็เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอยู่บ่อยๆ ผู้คนอดตายกันทีเป็นหลักสิบล้านทุกครั้ง จะแก้ไขอะไรที่ตัวระบบก็ทำไม่ได้เพราะจะค้านกับอุดมการณ์ดั้งเดิมของเหมาตั้งแต่คราวสถาปนาประเทศว่าจะเป็นสังคมนิยมเกษตรที่ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ต่อต้านชนชั้นนายทุนและไม่เอาความรู้และความช่วยเหลือจากต่างประเทศ


ก็ต้องรอจนเหมาตายอ่ะค่ะทั่นผู้ชม วันที่ 9 เดือน 9 พ.ศ. 2519 ค่ะ ประชาชาติจีนถึงจะเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ผู้นำที่ต่อมาจากเหมาคือ เติ้ง เสี่ยวผิง ที่มีวลีเด็ดว่า “ไม่ว่าแมวสีอะไร ถ้าจับหนูได้ก็นับว่าเป็นแมวที่ดี” (ที่มีผู้นำบางประเทศพยายามมาดัดแปลงนำเสนอบ้าง แล้วพังไม่เป็นท่านั่นแหละค่ะทั่นผู้ชม)


หมายความว่า คนจีนไม่ต้องยึดติดกับหลักการสังคมนิยมแบบเหมามากนักก็ได้ เปิดรับอะไรใหม่ๆ บ้าง ถ้ามันจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวจีนดีขึ้นก็ควรจะนับว่ามันเป็นนโยบายที่ดี (แม้ว่ามันอาจจะเป็นทุนนิยม!) จีนก็เลยเริ่มเปิดรับตลาดโลกค่ะ ยอมรับการลงทุนจากทุนต่างประเทศ ยอมค้าขายและมีปฏิสัมพันธ์กับโลกทุนนิยม ลองเปิดตลาดหลักทรัพย์ของตัวเองดูบ้าง และพีคสุดคือเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อต้นสหัศวรรษใหม่ปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) นี่แหละค่ะ

เหมาเจ๋อตง-เหมาเจ๋อตุง-ประธานเหมา-แฟชั่นเหมา-รถไฟเหมาเจ๋อตง-รถไฟสายเหมา

สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เวลานี้ก็ยังปกครองแบบเผด็จการโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่นั่นแหละค่ะ แต่ว่าเขาปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับตลาดโลกแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือทางเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นทุนนิยมแล้วค่ะ แต่ทางการเมืองยังเป็นเผด็จการเหมือนเดิม ผู้ปกครองก็ยังเป็นพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหมือนเดิม ฟังดูตรรกะพังพินาศเหมือนบางประเทศเลยนะคะ

รัฐบาลเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่อ้างตัวเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพจะมีนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ยังไง? ก็นี่แหละค่ะเลยเป็นที่มาของคำว่า “สังคมนิยมแบบจีน” คือหัวเด็ดตีนขาดพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ยอมปล่อยวางอำนาจเผด็จการทางการเมืองของตัวเองหรอกค่ะ ดังนั้นต้องยืนยันว่าตัวเองเป็นสังคมนิยม แต่ในทางเศรษฐกิจนั้นเปิดประเทศเป็นทุนนิยมเต็มที่แล้วค่ะ แล้วก็สร้างรากฐานที่มาของความชอบธรรมให้กลุ่มผู้นำประเทศใหม่คือความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตราบเท่าที่เศรษฐกิจจีนยังโตขึ้นปีละหลายๆ เปอร์เซ็นต์ และชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีเงินมีโอกาสออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่งลูกเรียนเมืองนอก และใช้สินค้าแบรนด์เนมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมได้ต่อไปเรื่อยๆ รัฐบาลที่อ้างตัวเป็นสังคมนิยมแต่บริหารประเทศแบบทุนนิยมจัดนี้ก็ยังคงมีความชอบธรรมที่จะกุมอำนาจเผด็จการไว้ต่อไปค่ะ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จะปกครองแบบไหนก็ได้ จะเผด็จการแค่ไหนก็ได้ ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้ เพราะแท้จริงแล้ว... ความพังของเผด็จการไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์อันเลิศลอยอะไรหรอกค่ะ ความพังของเผด็จการเกิดจากความหิวของประชาชน และความไร้อนาคตทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่นะคะ... ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวค่ะทั่นผู้ชม <3

“อย่าบอกโรซี่”
คนทำงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีน และจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนไทย และประเทศใหญ่น้อย
0Article
0Video
0Blog