ไม่พบผลการค้นหา
บ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ บีอีเอ็ม ประกาศอัตราค่าโดยสารสายสีน้ำเงิน 16-42 บาท หรือปรับเพิ่ม 1 บาท ในสถานทีที่ 5,8,11 มีผลตั้งแต่ 3 ก.ค.2561-2 ก.ค. 2563

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ออกประกาศแจ้งอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2561 - 2 ก.ค. 2563 มีอัตราค่าโดยสารเต็มราคาเริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุด 42 บาท (อัตราค่าโดยสารปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทจากเดิม ณ จำนวนสถานีที่เดินทางที่ 5, 8 และ 11 นับจากสถานีต้นทาง) 

อย่างไรก็ตาม มีส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กและผู้สูงอายุร้อยละ 50 และสำหรับนักเรียน นักศึกษาร้อยละ 10 ของอัตราค่าโดยสารบุคคลทั่วไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป


รถไฟสายสีน้ำเงิน 3 ก.ค.

ทั้งนี้ เมื่อ 28 มี.ค. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผลการเจรจาระหว่างรัฐกับเอกชน โดยให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เดินรถไฟฟ้าต่อเนื่อง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำมัน ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระหว่างปี 2559-2592 (รวม 33 ปี) โดยใช้อัตราค่าโดยสารร่วม 16-42 บาท ตลอดอายุสัญญา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ มีค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท 

สำหรับผลการดำเนินงานของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ตามที่รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ขณะที่บริษัทมีรายได้รวม 4,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 289 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้ง 3 ธุรกิจหลัก 

ปัจจัยสำคัญมาจากรายได้ของโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครและรายได้ค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยรายได้ส่วนหนึ่งจำนวน 112 ล้านบาท เป็นการบันทึกดอกเบี้ยรับของลูกหนี้ค่างานระบบรถไฟฟ้าตามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ที่ได้รับจาก รฟม. ซึ่งเริ่มบันทึกตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2560 เป็นต้นมา 

นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัทมีรายได้จากธุรกิจระบบราง 1,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 55 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้ค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และเป็นผลมาจากการเชื่อมต่อของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ทำให้ผู้โดยสารมีความสะดวกและประหยัดเวลาในการเดินทาง ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารของทั้งสองโครงการเพิ่มขึ้น 

โดยในไตรมาสที่ 1/2561 มีปริมาณผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินเฉลี่ยวันละ 312,300 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.3

ขณะที่ ต้นทุนในการให้บริการของธุรกิจระบบราง ประกอบด้วย ต้นทุนค่าโดยสาร ต้นทุนการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง และค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนภายใต้สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สำหรับไตรมาสที่ 1/2561 มีจำนวน 909 ล้านบาท ลดลงสุทธิจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 58 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 ซึ่งเป็นผลมาจากการคำนวณและบันทึกบัญชีค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนภายใต้สัญญาสัมปทาน ให้สอดคล้องกับระยะเวลาของสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งสิ้นสุดในปี 2593

อีกด้านหนึ่ง บริษัทมีรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรกนี้ จำนวน 166 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 15 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.9 ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจระบบราง และเป็นการเพิ่มขึ้นมากในส่วนของรายได้จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์และรายได้จากพื้นที่ร้านค้าปลีก ซึ่งทางบริษัทย่อยได้มีการปรับปรุงรูปแบบสื่อโฆษณาและเพิ่มจำนวนร้านค้าปลีกภายในสถานีให้ทันสมัยสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ข่าวเกี่ยวข้อง :