ไม่พบผลการค้นหา
โป๊ปฟรานซิสเริ่มต้นการเสด็จเยือนเมียนมา-บังกลาเทศตลอดสัปดาห์นี้ ถือเป็นหนึ่งในทริปที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่โป๊ปเคยเผชิญ ทั่วโลกจับตามองว่าพระองค์จะตรัสคำต้องห้ามของรัฐบาลเมียนมาอย่าง ‘โรฮิงญา’ หรือไม่

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาธอลิก เสด็จเยือนเมียนมาและบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคมนี้ โดยถือเป็นการเสด็จเยือนในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังจับตามองวิกฤตการณ์โรฮิงญา ทำให้นี่เป็นทริปที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่โป๊ปเคยเผชิญ ในฐานะประมุขแห่งคริสตจักร ที่จะเดินเข้าไปในวังวนความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธเมียนมาและมุสลิมโรฮิงญา

โป๊ปมีกำหนดการจะพบกับทั้งนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา และพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้กุมอำนาจที่แท้จริง ซึ่งคาดว่าพระองค์จะตรัสกับผู้นำทั้งสองเรื่องการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญา และการยุยงให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาและชาติพันธุ์ในเมียนมาอย่างแน่นอน

โรฮิงญา คำต้องห้าม

สำนักข่าวรอยเตอร์สตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในประเด็นที่โป๊ปจะต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากที่สุด ก็คือประเด็นสามัญที่สุดอย่างการใช้คำว่า ‘โรฮิงญา’ เพราะเป้าหมายใหญ่ที่สุดของโป๊ปก็คือการผลักดันให้รัฐบาลเมียนมาแก้ปัญหาโรฮิงญาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ ‘โรฮิงญา’ เป็นคำต้องห้ามของรัฐบาลเมียนมา

ที่ผ่านมา รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ไม่เคยเรียกชาวโรฮิงญาว่าโรฮิงญา แต่ใช้คำว่า ‘เบงกาลี’ อันหมายถึงคนเชื้อสายเบงกอล ส่อนัยว่าพวกเขาคือผู้ที่อพยพมาจากบังกลาเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับทั้งรัฐบาลบังกลาเทศ ที่ยืนยันว่าชาวโรฮิงญาในเมียนมาไม่ใช่พลเมืองบังกาลี และชาวโรฮิงญาเองก็ไม่ต้องการให้ชื่อเผ่าพันธุ์ของพวกเขาถูกลบไปจากสารบบของเมียนมา เพราะก่อนหน้านี้ โรฮิงญาเป็นชื่อที่ปรากฏอย่างเป็นทางการ มีแม้แต่ตัวแทนในสภาเชื้อชาติของเมียนมา

ที่ปรึกษาของโป๊ปฟรานซิสเตือนว่าพระองค์ไม่ควรใช้คำว่าโรฮิงญาในระหว่างการเยือนเมียนมา เพราะเสี่ยงจะสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมียนมาและรัฐบาลนางซูจี ทำให้ความพยายามของโป๊ปในการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในเมียนมาไม่เป็นผล

โดยคำที่เป็นไปได้ว่าโป๊ปจะใช้กล่าวถึงชาวโรฮิงญา อาจเป็น ‘ชาวมุสลิมในเมียนมา’ ซึ่งแม้จะไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงนัก แต่ก็จะสามารถรวมเอากลุ่มชาวมุสลิมที่ไม่ใช่โรฮิงญาเข้ามาไว้ในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและการแบ่งแยกทางเขื้อชาติ-ศาสนาเช่นกัน แต่ไม่ได้รับการพูดถึงอยากเจาะจงเท่าชาวโรฮิงญา

แต่ในขณะเดียวกัน หากโป๊ปหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าโรฮิงญา ก็อาจกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิเสธการมีอยู่ของเผ่าพันธุ์โรฮิงญาของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งถือเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในยะไข่

ลบล้างเผ่าพันธุ์?

อีกคำที่อาจสร้างความลำบากใจให้กับโป๊ป แม้ไม่มากเท่าคำว่าโรฮิงญา ก็คือ ‘ลบล้างเผ่าพันธุ์’ สหประชาชาติยืนยันอย่างเป็นทางการหลายครั้ง ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา เป็นการลบล้างชาติพันธุ์ หรือ ‘ethnic cleansing’ และล่าสุด นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าเมียนมาจงใจลบล้างชาติพันธุ์โรฮิงญา และสหรัฐฯกำลังพิจารณาคว่ำบาตรเมียนมาเพื่อตอบโต้การกระทำที่ขัดต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศนี้ ถือเป็นการยืนยันท่าทีของสหรัฐฯต่อเมียนมา เพียง 3 วันก่อนการเสด็จเยือนของโป๊ปฟรานซิส

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธเด็ดขาดว่าไม่เคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือลบล้างชาติพันธุ์ แต่เหตรุนแรงทั้งหมดมาจากการโจมตีของกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน หรือ Arsa และกองทัพต้องปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอย่างเด็ดขาด นางซูจีเคยถึงกับกล่าวว่าเหตุรุนแรงในยะไข่ ไม่ใช่ชาวพุทธหรือทหารไล่ฆ่าชาวมุสลิม แต่ ‘ชาวมุสลิมก็ฆ่ากันเองด้วย’ ล่าสุด พระสงฆ์แกนนำกลุ่มมาบาธา องค์กรพุทธที่อยู่เบื้องหลังกระแสต่อต้านมุสลิมในเมียนมา ก็ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ยืนยันว่าไม่มีการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ในเมียนมา

มีความเป็นไปได้สูงที่โป๊ปอาจหลีกเลี่ยงคำนี้เช่นเดียวกัน เพราะไม่ต้องการสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลเมียนมามากเกินไป แต่หากไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงตรงประเด็น ต้องดูว่า ‘ไม้นวม’ ที่โป๊ปจะทรงใช้กับเมียนมา จะได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด ในเมื่อไม้แข็งหลายไม้ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลเมียนมาที่มีต่อชาวโรฮิงญาได้