ไม่พบผลการค้นหา
ต้นทุนและคำสั่งซื้อของการส่งออกไทยขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลก ขณะที่ยังไม่แน่ชัดว่าราคาน้ำมันจะไปจบที่ตรงไหน

รายงานเศรษฐกิจและการเงิน ประจำเดือนตุลาคม 2561 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ถึงการฟื้นตัวของการส่งออกไทยจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าติดลบร้อยละ 5.5 จากที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ต้นปี ส่วนเดือนตุลาคมตัวเลขส่งออกไทยกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 8.4

จากตัวเลขการคาดการณ์การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์มองว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 8

อย่างไรก็ตาม ธปท. มองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะถึงเป้าหมาย เนื่องจากจะต้องทำยอดขายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2561 ให้ได้ประมาณ 22.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งค่อนข้างยาก เนื่องจากโดยปกติยอดการส่งออกในสองเดือนสุดท้ายของปีไม่ได้มีมูลค่าสูงนัก

ฝั่งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชี้ว่า เป้าส่งออกที่ร้อยละ 8 ยังมีความเป็นไปได้ แต่ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปี 2562 จะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะลดลงมาเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5 เท่านั้น โดยประเมินว่าเกิดจากปัจจัยลบภายนอกประเทศเป็นหลัก อาทิ ความยืดเยื้อของสงครามการค้า นโยบายดึงดูดการลงทุนของเวียดนาม และความผันผวนของราคาน้ำมัน


วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา.JPG

(วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย)

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า ราคาน้ำมันส่งผลกับทั้งต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันมีความผันผวนสูงก่อให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุน การที่น้ำมันราคาตกก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับการส่งออก เพราะผู้นำเข้าสินค้าไทยจากประเทศที่ค้าน้ำมันมีกำลังซื้อลดลง นับเป็นการตัดโอกาสในการกระจายการส่งออกของไทย เห็นได้ชัดจากตัวเลขการส่งออกของไทยไปตะวันออกกลางในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาติดลบถึง 7.4


"ถ้าพูดถึงในฐานะของผู้ประกอบการและผู้ผลิต สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ไม่ว่าอุตสาหกรรมใดก็แล้วแต่ เราอยากให้ต้นทุนเรานิ่งๆ แต่เราไม่รู้เหมือนกันว่าราคาน้ำมัน มันจะไปอยู่ด้านไหน แพงไปก็ไม่ดีถูกไปก็ไม่ดี" นางสาวกัณญภัค ประธาน สรท. กล่าว


เกิดอะไรขึ้นกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

เมื่อพิจารณาปัจจัยราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวลงในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์ต่อน้ำมัน แม้ว่าทิศทางของอุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) จะลดลงแต่อุปทาน (การผลิต) ในตลาดกลับมีทิศทางสวนทางกันจากปัญหาการเพิ่มปริมาณการผลิตของทั้งซาอุดีอาระเบียที่เพิ่มการผลิตที่ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงสหรัฐฯ ที่เพิ่มการผลิต 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ปริมาณน้ำมันคงคลังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ก่อให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ส่งผลให้ราคาน้ำมันตก

การเพิ่มอัตราการผลิตของสหรัฐฯ เป็นความตั้งใจของ ประธานธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มองเห็นถึงความได้เปรียบของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าทั้งซาอุดีอาระเบียและรัสเซียตามข้อมูลขององค์กรข้อมูลพลังงานของสหรัฐฯ (U.S. Energy Information Administration, EIA) ที่อ้างว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่าซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม สหรัฐฯ ยังผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่ารัสเซียเป็นครั้งแรกตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2542


ทรัมป์

ทรัมป์มีความต้องการชัดเจนที่อยากให้ราคาน้ำมันต่ำลง โดยทรัมป์ออกมาทวีตข้อความแสดงความเห็นต่อการลดลงของราคาน้ำดิบว่า


"ราคาน้ำมันต่ำลง ยอดเยี่ยม! ราวกับเป็นการลดภาษีให้อเมริกาและโลก เชิญมีความสุข! 54 ดอลลาร์จาก 82 ดอลลาร์ ขอบคุณนะซาอุดีอาระเบีย แต่เอาให้ราคาลงกว่านี้กันเถอะ"


trump tweet.png

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า 'อเมริกา' จะไม่ได้มีความสุขกับราคาน้ำมันที่ต่ำลงอย่างที่ทรัมป์หวังไว้นัก เพราะผู้ประกอบการน้ำมันต่างออกมาวิจารณ์ว่า ความพยายามในการลดราคาน้ำมันของทรัมป์เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและรังแต่จะเป็นการทำร้ายประเทศ

"เขา (ทรัมป์) อยู่ในโลกสมัยเก่า มันเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาควรจะปรารถนา" เอียน เชพเพิร์ดสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ แพมธีออน แม็คโครอีโคโนมิค (Pantheon Macroeconomics) แสดงความเห็นต่อข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวของทรัมป์ที่พูดถึงราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมีความสุข


Putin and Saudi

อย่างไรก็ตาม รัสเซียดูเหมือนจะไม่ปล่อยให้สหรัฐฯ ดึงราคาน้ำมันให้ต่ำลงอีก ล่าสุด วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย ได้พูดคุยถึงการลดกำลังการผลิตของทั้ง 2 ประเทศในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่อาร์เจนตินา ก่อนที่จะมีการพูดคุยระหว่างประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือ OPEC ในช่วงวันที่ 6-7 ธันวาคม 2561

ในการพูดคุยกันครั้งนี้ เจ้าชายโมฮัมหมัดจะเสนอให้ OPEC ลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงวันละ 1 ล้านบาร์เรลในช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นไป เพื่อเยียวยาราคาที่ร่วงลงมากว่าร้อยละ 30 จากสถิติสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่ 76 ดอลลาร์สหรัฐ ด้านรัสเซียจะมีการทยอยลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเช่นกันแต่ไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่นอน

รอยเตอร์ส คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปีหน้าจะอยู่ที่ราวๆ 67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากเดือนตุลาคมซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ออกมาเพิ่มเติมทำให้ราคาน้ำมันลดลงจากเดิมที่คาดไว้

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ตอนนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยต้องทำคือการจับตาดูการเคลื่อนไหวของเหล่าประเทศมหาอำนาจด้านน้ำมันอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานการณ์และคาดการณ์ความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนรวมถึงคำสั่งซื้อต่างๆ

อ้างอิง; WSJ, Reuters, EIA