ไม่พบผลการค้นหา
คอลัมน์วิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ 'โลกไม่ได้แบน' ประเดิมตอนแรกด้วยเรื่องอิทธิพลจีนในแอฟริกาที่เป็นข่าวฮือฮาต้นเดือน ก.ย. เมื่อจีนทุ่มเงินพัฒนาเส้นทางให้กับแอฟริกากว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับจีนและแอฟริกาเลยแม้แต่น้อย

-----------------------------------------------------------------------------

ทั่วโลกตกตะลึงเมื่อเห็นว่าในการประชุมความร่วมมือระหว่างจีนกับแอฟริกา (Forum on China – Africa Cooperation) ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศทุ่มเงินหกหมื่นล้านดอลลาร์โดยไม่มีข้อผูกมัดแก่แอฟริกา เพื่อให้แอฟริกาก่อสร้างเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนน และท่าเรือ เชื่อมแอฟริกาเข้ากับโครงการเส้นทาง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “One Belt One Road” ของจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมประชุมความร่วมมือระหว่างจีนกับแอฟริกาเมื่อปี ค.ศ. 2015 จีนได้เคยมอบเงินหกหมื่นล้านดอลลาร์แก่แอฟริกาไปแล้วครั้งหนึ่ง สื่อหลายสำนักมองว่าการขยายอิทธิพลของจีนในแอฟริกาเป็นเรื่องใหม่

000_18V4GM.jpg

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า การที่จีนรุกขยายอิทธิพลในแอฟริกานั้นเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

หลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนคอมมิวนิสต์ ในปี ค.ศ.1949  จีนได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศที่ได้รับเอกราชใหม่ๆ ในแอฟริกา ด้วยการค้าและการให้เงินช่วยเหลือ จีนกล่าวเสมอว่าจีนเป็นประเทศเกิดใหม่ เคยถูกต่างชาติรุกราน และเป็นประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกับบรรดาประเทศในแอฟริกา จึงเข้าใจหัวอกของบรรดาประเทศในแอฟริกาเป็นอย่างดี เฉพาะระหว่างปี ค.ศ.1964-1965 นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนไปเยือนแอฟริกาถึงสิบประเทศ เหตุผลเบื้องหลังคือจีนต้องให้ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาหันมารับรองสถานะของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์แทนรัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งที่พ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองและต้องหนีไปตั้งมั่นที่ไต้หวัน การช่วงชิงการยอมรับกับไต้หวันนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องร่วมยี่สิบปี จนถึงปี ค.ศ. 1971 จีนจึงสามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนที่ไต้หวัน ด้วยการโหวตของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเสียงของประเทศในทวีปแอฟริกาแทบทั้งทวีปต่างเทคะแนนโหวตให้กับจีน

000_ARP3315900.jpg

(ภาพของ AFP เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2516 ในภาพประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีประเทศโรดีเซียเหนือ, ประธานาธิบดีแทนซาเนียเยี่ยมชมการก่อสร้างอุโมงค์มในแทนซาเนีย และถ่ายภาพร่วมกับทีมงานขุดเจาะอุโมงค์ชาวจีน)

การค้าและความช่วยเหลือที่จีนให้กับแอฟริกานั้น เล็กน้อย แต่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี ค.ศ.1999 จีนได้ใช้ยุทธศาสตร์ “ออกไปสู่ภายนอก” (Go Out Policy หรือ 走出去战略) ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนของจีนออกไปลงทุนภายนอกประเทศ การลงทุนจากจีนจึงหลั่งไหลไปสู่แอฟริกามหาศาล บรรดากิจการที่จีนเข้าไปลงทุนนั้นมีตั้งแต่ การตั้งร้านค้า โรงแรม เหมืองแร่ อัญมณี การก่อสร้างทางรถไฟและเส้นทางคมนาคม ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแต่ให้ในตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ        

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2000 จีนกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการพัฒนาเศรษฐกิจสูงมาก มีความต้องการพลังงานสูง และเริ่มมีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน แอฟริกากลายเป็นแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่ง ที่จีนเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม นอกเหนือจากละตินอเมริกาและเอเชียกลาง 

ตั้งแต่ ค.ศ. 2005 ถึงปัจจุบัน มีรายงานว่า จีนกลายเป็นประเทศที่ลงทุนในแอฟริกาสูงที่สุด มีการลงทุนที่มีขนาดเกินร้อยล้านดอลลาร์มากกว่าสามร้อยโครงการ สร้างการจ้างงานในแอฟริกาเกินกว่าแสนตำแหน่ง นอกจากนี้ จีนยังได้ให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งแอฟริกา ได้แก่ ท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ สนามบิน เขื่อน โรงไฟฟ้า

ค.ศ.2013 ประธานาธิบดีสิจิ้นผิงของจีน ประกาศนโยบายที่ต้องการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าของจีนกับโลก ในนามนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” รวมทั้งนโยบายสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” จีนได้วางยุทธศาสตร์นำแอฟริกาเข้าร่วมในเส้นทางการค้าของจีนด้วย โดยใช้ประเทศเคนย่าเป็นตัวเชื่อมเส้นทางจากจีนทั้งทางทะเลและทางบกไปยังประเทศอื่นๆในแอฟริกา

000_16H2JD.jpg

(ทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างไนโรบีและเคนยา ลงทุนโดยจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2561: AFP)

จีนยังสร้างบุคลากรแอฟริกาที่ใช้ภาษาจีนได้คล่องแคล่ว มารองรับการขยายตัวของธุรกิจจีน ด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนแอฟริกาให้ไปศึกษาต่อในจีน ทั้งนี้ ระหว่าง ค.ศ.2015 ถึง 2018 จีนได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาแอฟริกาให้ไปศึกษาต่อในจีนถึง 3 หมื่นทุน และปัจจุบันมีนักศึกษาแอฟริกาในจีนทั้งหมดราวๆ 5 หมื่นคน มีมากกว่าร้อยคนศึกษาในมหาวิทยาลัยชิงหัวซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของจีน

ในทางหนึ่ง มองได้ว่าจีนแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของแอฟริกา แต่ในอีกด้านหนึ่งแอฟริกาก็ได้ประโยชน์มหาศาลจากจีน

ในสายตาแอฟริกา จีนไม่ใช่นายทุนหน้าใหม่ แต่เป็นเพื่อนเก่าที่คุ้นเคยมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ดี จีนในปัจจุบันกลายเป็นประเทศนักธุรกิจ ไม่ใช่จีนยุคแรกเริ่มที่แอฟริกาเคยรู้จัก