ไม่พบผลการค้นหา
เนื่องในวันครบรอบ 49 ปี จลาจลสโตนวอลล์อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศในสหรัฐฯ และทั่วโลก 'วอยซ์ ออนไลน์' ได้ชวนตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ มารวมพูดคุยว่า LGBT เกี่ยวกับการเมืองอย่างไรบ้าง

วันที่ 28 มิ.ย. 1969 ตำรวจนิวยอร์กได้ออกลาดตระเวนในย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืน เพื่อสอดส่องและบุกจับบาร์เกย์ทั้งหลายเหมือนกับหลายคืนก่อนหน้านั้น แต่คืนวันที่ 28 มิ.ย. ไม่เหมือนกับคืนอื่นๆ การยื้อยุดกันระหว่างตำรวจและกลุ่มหลากหลายทางเพศ ที่หน้าผับสโตนวอลล์ไปลุกลามเป็นจลาจล และเป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในสหรัฐฯ ทำให้มีการยกเลิกกฎหมายที่กดขี่ทางเพศ และมีขบวนการขับเคลื่อนทางการเมืองเรื่องเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนประเด็นด้านความหลากหลายทางเพศในไทยกลับดูเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากกว่าจะเป็นเรื่องสังคมการเมือง แต่ในช่วงที่การเมืองไทยเริ่มคึกคักขึ้น ดูเหมือนหลายพรรคการเมืองจะหันมาให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศกันมากขึ้น ทั้งการแสดงเจตจำนงสนับสนุนสิทธิและร่วมกิจกรรมที่กลุ่มหลากหลายทางเพศจัดขึ้นในช่วง Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศกันมากขึ้น



สโตนวอลล์ Stonewall Riots

สิทธิความหลากหลายทางเพศ = สิทธิมนุษยชน

'ชานันท์ ยอดหงษ์' ผู้เขียนหนังสือ 'นายใน' และนักศึกษาปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์อธิบายว่าเรื่อง LGBT ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองได้ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศของไทยไม่ได้ยึดโยงอยู่กับหลักการประชาธิปไตย



ชานันท์ ยอดหงษ์ นายใน

(ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียนหนังสือ 'นายใน')

"ถ้าย้อนไปที่เหตุการณ์สโตนวอลล์ไรออตส์ปี 1969 ปีถัดมาก็มีการจัดเกย์พาเหรด เกย์ไพรด์ขึ้น เพื่อรำลึกถึงสโตนวอลล์ไรออตส์ ซึ่งเกย์ไพรด์มันมีขึ้นตั้งแต่ค.ศ. 1955 แล้ว แต่ความหมายใหม่ของ 1970 ครั้งนั้น คือการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ LGBT ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐที่มากดขี่ นำไปสู่การทยอยแก้ไขกฎหมายการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน ไม่ให้เป็นอาชญากรรมอีกต่อไป ไม่ว่าจะผลักดันกฎหมาย จะพูดถึงเรื่อง LGBT มันเชื่อมโยงกับเรื่องของอำนาจรัฐอยู่แล้วด้วยตัวของมัน คนที่บอกว่า ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการเมืองไหน LGBT ไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง มันเป็นความเข้าใจผิด เพราะการเรียกร้องสิทธิและการพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องการเมืองด้วยตัวของมันเอง

"ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพก็จำเป็นต้องตระหนักว่าสิทธิความหลากหลายทางเพศ สัมพันธ์กับสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น การจะผลักดันอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางเพศจึงต้องคำนึงถึงรัฐบาลด้วยว่ารัฐบาลไหน หรือคณะพรรคการเมืองไหนที่เขาให้ความสำคัญจริงๆ บางรัฐบาลอาจไม่ได้เห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนเลย เช่น รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร นี่เป็นการฆ่าสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง แต่ก็จะมี NGO กลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าความหลากหลายทางเพศอยู่ทุกกลุ่มทุกฝักฝ่ายทางการเมือง ทุกอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้เขาพร้อมจะสมาทานรัฐบาลที่เป็นเผด็จการจากรัฐประหารเข้าไป เพราะคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ง่ายกว่าการผลักดันกฎหมาย ไทยเคยมีการยกเลิกกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันในปี 2499 สมัยจอมพลป.พิบูลย์สงคราม ซึ่งก็ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

"ขณะเดียวกัน ขบวนการเคลื่อนไหว LGBT ในไทยมักพึ่งพิงกับระบบอุปถัมภ์ การเชื่อมโยงกับรัฐบาลอำนาจนิยมทำให้รู้สึกว่ามันสบายกว่ากับการจะเคลื่อนไหวทางการเมืองในเรื่องเพศ มันก็ค่อนข้างย้อนแย้งกันในระดับนึง แต่ถ้าดูในประวัติศาสตร์ไทยแล้ว โอกาสที่รัฐบาลจะเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้มีมากเท่า ถ้ามาทำตารางกันแล้ว รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในระยะเวลาสั้นกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลเผด็จการ มันก็เลยเป็นการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิทางเพศแบบไทยๆ ซึ่งเป็นตลกร้ายที่น่าเศร้าเหมือนกัน

"มีครั้งหนึ่งจำได้ว่าในรัฐบาลทักษิณครั้งที่ 1 มีความพยายามที่จะผลักดันการแต่งงานเพศเดียวกัน แล้วคุณทักษิณบอกว่า มันยังเร็วเกินไปสำหรับประเทศนี้ โอเค ก็เข้าใจในบริบทสังคมในยุคนั้นด้วย เพราะช่วงนั้น กลุ่ม LGBT เองก็มีคนเคยใช้คำว่า 'ยังเกาไม่ถูกที่คัน' เพราะสังคมยังไม่ยอมรับ บางทีอาจต้องผลักดันทางวัฒนธรรมและสังคมนำก่อน แล้วกฎหมายค่อยตาม ผมคิดว่าปัจจุบันวัฒนธรรมและสังคมค่อนข้างนำกฎหมายไปเยอะแล้ว”

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2562 (ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ล่าสุด) ดูจะเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นความหลากหลายทางเพศกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งตัวแทนไปเข้าร่วมงาน Pride Month หรือพูดเปรยๆ ตามเวทีทางการเมืองต่างๆ ว่าสนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน หรือการมี NGO ด้านความหลากหลายทางเพศเข้าไปร่วมทำงานกับพรรค ทีมงาน 'วอยซ์ ออนไลน์' ได้พูดคุยกับตัวแทน 4 พรรคการเมืองว่า ทำไมจึงเชื่อว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะช่วยส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศได้

พรรคการเมืองกลไกการเปลี่ยนแปลงเปล่งเสียง 'ความหลากหลายทางเพศ'

คนแรกที่เราได้พูดคุยด้วยคือ 'อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์' ผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ เธอเป็น NGO ที่ทำงานด้านสุขภาวะทางเพศ รวมถึงการรณรงค์เรื่องการป้องกันเชื้อเอชไอวี และยังเป็นผู้ที่ต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงานจนสำเร็จ และได้กลับมาเป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเธอได้ตัดสินใจเข้าร่วมเสนอแนวทางสร้างความเท่าเทียมให้กับพรรคการเมืองดังกล่าว



เคท ครั้งพิบูลย์

(เคท ครั้งพิบูลย์ ผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่)

"เราทำงานด้านการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศมา และเราพบว่าช่องทางของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ถ้ามันทำงานกับภาครัฐ มันก็ช้า ถ้าทำงานกับภาคประชาสังคมด้วยกัน NGO ด้วยกันเองก็ลำบาก รับรู้แค่ปัญหาจากกลุ่มเพื่อน แต่ยังผลักไปไม่ถึงขั้นสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเมือง พรรคการเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้เราสนใจว่าพรรคการเมืองน่าจะต้องมีส่วนที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศ และพอได้มีโอกาสได้คุยกับทีมงานอนาคตใหม่แล้ว มีแนวคิดเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตรงกัน ก็เลยรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้ประสบการณ์ที่ตัวเองมีในการเข้าไปพูดคุย เพื่อให้มีการเสนอประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศในพรรคการเมืองด้วย

"ส่วนตัวเห็นด้วยว่าการผลักนโยบายหรือการสนับสนุนกฎหมายที่อยู่ในช่วงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะมันทำให้เห็นบรรยากาศของการการถกเถียง เสนอความคิด ในทางตรงกันข้าม เราได้ไปเสนอนโยบายกับฝั่งรัฐบาลที่ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ยิ่งจะปิดโอกาสในข้อเสนอของตัวเอง มีคนที่นั่งประชุมในห้องนั้นไม่กี่คน หรือมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นี่จึงเป็นข้อจำกัด

"ถามว่าหน้าที่ของคนทำงานภาคประชาสังคมกับการพูดถึงสิทธิและรับรู้สถานการณ์ต้องเลือกฝั่งไหม เราคิดว่าไม่จำเป็น การให้ความรู้ การสร้างความเข้าใจยังทำได้ การให้ความร่วมมือกับคนที่ไม่รู้แล้วอธิบาย เราว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่มันยังต้องทำอยู่ เพียงแต่ถ้าพูดถึงการทำกฎหมายหรือนโยบาย มันจะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ฉะนั้น วิธีการที่คนจะเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด ก็คือการเลือกตั้งและประชาธิปไตย"

ประชาธิปไตยต้องเป็นเนื้อเดียวกันกับสิทธิทางเพศและสิทธิพลเมืองอื่นๆ

NGO ด้านความหลากหลายทางเพศอีกคนที่เข้ามาร่วมทำงานกับพรรคการเมือง คือ 'ชุมาพร แต่งเกลี้ยง' ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคสามัญชน ซึ่งเป็น NGO เคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศมาหลายปีกับกลุ่มโรงน้ำชา หรือ TEA group (Togetherness for Equality and Action) และการเป็น NGO ก็ทำให้เห็นว่าวงการการเมืองยังขาดกลุ่ม LGBT ที่จะเข้าไปพูดคุยถึงปัญหาและข้อเสนอแนะของตัวเอง


ชุมาพร แต่งเกลี้ยง พรรคสามัญชน

(ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคสามัญชน)

"ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่สนใจกลุ่ม LGBT จะเห็นเทรนด์ของพรรคการเมืองต่างประเทศเยอะมากที่เปลี่ยนนโยบายที่เป็นมิตรกับ LGBT มากขึ้น โดยคาดหวังว่าจะส่งผลให้เขาชนะการเลือกตั้ง โอบามานี่ชัดเจนมาก นายกรัฐมนตรีทรูโดของแคนาดาก็ใช้จุดยืนความหลากหลายเข้ามา แม้กระทั่งฝรั่งเศส ประธานาธิบดีออลลองด์ในปี 2013 ก็ประกาศนโยบายอนุญาตให้พลเมืองฝรั่งเศสเข้าถึงนโยบายการสมรสได้ แสดงว่านี่มันเป็นเทรนด์ของโลกว่า การทำงานในแง่ของประชาธิปไตยเปลี่ยน ไม่น่าแปลกใจที่การทำงานของพรรคการเมืองเปลี่ยนไปด้วย

"ของไทยมีกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนการรัฐประหารและการปกครองแบบรัฐข้าราชการนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว และมีอีกกลุ่มที่ค้านเสียงแข็งว่า ไม่สิทธิพลเมือง ประชาธิปไตยต้องเป็นเนื้อเดียวกันกับสิทธิทางเพศและสิทธิพลเมืองอื่นๆ เราว่าถ้ามองอย่างเป็นธรรม ทุกประเด็นมีการเคลื่อนไหวที่มีสองฟากสองฝั่ง เรามองว่าความแตกต่างหลากหลาย การเรียนรู้แบบนี้กำลังทำงาน แต่แน่นอนว่า คนที่ทำงานเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ ยังไม่ได้ทำงานมากพอเกี่ยวกับสิทธิพลเมือง

"เราทำงานลงพื้นที่ เราเคยนั่งอยู่ในการประชุมของคณะกรรมการของรัฐสภา เราเห็นว่า มันยากมากที่จะให้คนอื่นพูดแทนเรา และเขาพูดไม่หมด หรือวันนึงที่เขาทนกับกระแสสังคมที่ต่อต้านเขา แล้วเขาทนได้ไม่มากพอ เขาจะเปลี่ยนคำพูด เขาอาจให้คำมั่นสัญญาว่า ฉันจะสนับสนุน แต่วันนึงที่กระแสสังคมเปลี่ยน เขาจะเอาเรื่องเราไว้ทีหลัง เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เราจะต้องเอาเสียงของเราเข้าไปในสภาให้ เพื่อที่จะบอกได้ว่าคนที่เป็น LGBT มีความต้องการอะไร และไม่ว่าสภาจะอยู่ในรูปแบบไหน เขาพร้อมที่จะชวนเพื่อนส.ส. ในสภามาร่วมด้วยกัน เพื่อที่จะผลักดันกฎหมายต่างๆ"

สังคมไทยขับเคลื่อน 'จากการรณรงค์ เป็นสิทธิตามกฎหมาย'

จากการพูดคุยกับ NGO ที่หันมาช่วยทำงานทางการเมือง ทำให้ต้องย้อนกลับมาดูว่าแล้วพรรคการเมืองใหญ่ที่กุมฐานเสียงคนจำนวนมากยังไม่สามารถตอบโจทย์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศมากพอหรือไม่ เราได้พูดคุยกับ 'สุรชาติ เทียนทอง' อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็คลุกคลีอยู่กับกลุ่ม LGBT และได้ถามถึงประเด็นที่กลุ่ม LGBT ค้างคาใจ ทั้งเรื่องที่ทักษิณ ชินวัตรเคยพูดเมื่อครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ว่าไทยยังไม่พร้อมมีกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน รวมถึงเรื่องที่กลุ่ม 'รักแดงเชียงใหม่ 51' ล้มงานไพรด์พาเหรดว่า นี่เป็นเหตุผลให้พรรคเพื่อไทยกลัวว่าการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศจะกระทบฐานเสียงหรือไม่



สุรชาติ เทียนทอง

(สุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย)

"ผมอยากจะสื่อสารว่า เรื่องนโยบาย LGBT เป็นนโยบายที่เป็นการตื่นตัวทางสังคม คนไทยให้การยอมรับกลุ่ม LGBT มากขึ้นแล้ว วันนี้สังคมไทยกำลังเขยิบจากการรณรงค์เรื่องการยอมรับ ไปเป็นเรื่องของการให้สิทธิทางกฎหมาย ซึ่งถ้าฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ผมว่าพรรคไหนก็แล้วแต่ ก็สามารถผลักดันได้ ส่วนพรรคเพื่อไทย เราสนับสนุนเต็มที่

"เรื่อง LGBT เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมือง แต่เราไม่อยากเอาเรื่องของ LGBT มาเป็นเรื่องของการแสวงผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ เพราะเรื่องนี้เราคงไม่ได้มองแค่เรื่องคะแนนเสียง

"ผมว่าในเมื่อหลายๆ พรรคการเมืองออกมาพูดเรื่องนี้ ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ แสดงจุดยืนในด้านนี้ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี และพรรคเพื่อไทยเราเป็นพรรคใหญ่ และเราสนับสนุนเรื่องนี้เต็มที่ ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องไปฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เราผลักดัน แล้วใครก็แล้วแต่ที่ได้เข้าไปบริหารบ้านเมืองต่อจากนี้ ก็สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ และเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองทุกฝ่าย ผมว่า วันนี้เราเห็นพ้องต้องกัน เพราะฉะนั้น การจะทำนโยบายเรื่องพวกนี้มันไม่ใช่การทำนโยบายเพื่อชิงคะแนนเสียงกัน

"หลายๆ ประเด็น เป็นประเด็นที่เปราะบางของสังคม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นสังคมทุกภาคส่วนอย่างระมัดระวัง เพราะกลุ่ม LGBT กันเองก็มีความเห็นที่หลากหลาย ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็มีความเห็นและเงื่อนไขที่ต่างกันออกไปด้วย จึงต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านก่อน"

พรรคการเมืองเก่าแก่ กับหนทางก่อร่าง 'พ.ร.บ.คู่ชีวิต'

นอกจากนี้ เรายังได้พูดคุยกับ 'วิรัตน์ กัลยาศิริ' อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นทีมกฎหมายของพรรค และเป็นหนึ่งในคณะทำงานผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเกี่ยวกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาที่พรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์เหมือนจะส่งสัญญาณว่าต้องการผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศราวกับพยายามจะช่วงชิงเสียงของคนรุ่นใหม่และกลุ่ม LGBT เห็นได้จากการที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ได้พูดบนเวทีทางการเมืองหลายครั้งว่าอยากเห็นคนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ หรือการไปเข้าร่วมงานวัน IDAHOT หรือวันสากลเพื่อการยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา


วิรัตน์.JPG

(วิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์)

"ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ถามว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายได้หรือไม่ อันนี้ตอบไม่ได้นะครับ แต่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ท่านสนับสนุน ท่านเห็นด้วยมานาน 5-6 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาสนับสนุน

"ช่วงนั้น ผมหยิบยกเรื่องนี้มา ตอนทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของวิปรัฐบาล เห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนส่งเสริม ต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็มีผู้ร้อง คือ คุณเกย์นทีมาร้อง เราดำเนินการยกร่างกฎหมายโดยย่อได้ 15 มาตรา คือเอาประมวลแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม 15 มาตรา ไปฟังความเห็นในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภาคใต้ จากกลุ่มประชากรที่มาร่วมแสดงความเห็น 200-300 คน เห็นด้วยร้อยละ 80 แม้แต่พี่น้องมุสลิมที่มีระดับการศึกษาปริญญาโท ปริญญาตรี น้องๆ หนูๆ สนับสนุนแนวคิดนี้ร้อยละ 83 ถามว่าการเมืองไม่เข้าไปเกี่ยวข้องได้ไหม การเมืองต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยทุกกลุ่ม คือภาระหน้าที่ของการเมือง

"ส่วนเรื่องผลักดันนโยบายในรัฐบาลประชาธิปไตยช้ากว่าไหม คือรัฐธรรมนูญตั้งแต่ ปี 2540, 2550 และ 2560 ต้องฟังความเห็นพี่น้องประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 77 เพราะงั้นเรื่องนี้ก็ต้องฟัง ส่วนจะขับเคลื่อนใน สนช. ในรัฐบาลปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะร่างกฎหมายคู่ชีวิตอยู่ในที่ประชุมสภาแล้ว เพราะงั้นถ้า สนช.เห็นด้วยหยิบยกขึ้นมาก็สามารถทำได้เลย ไม่มีใครหวงนะว่า อันนี้ของผมนะ ห้ามเอาไปใช้ ไม่มีหรอกครับ เพราะฉะนั้น ถ้ากลุ่ม LGBT หรือ LGBTI อยากให้ สนช.สนับสนุนก็เดินไปหาคุณสมชายที่เป็นประธานวิป สนช. หรือใครที่เห็นว่าสนิทสนมก็ไปได้ ไม่ได้ห้ามเอาไปใช้นะ ว่าต้องเสนอในรัฐบาลปกติ ไม่จำเป็น เห็นว่าจังหวะใดควรสนับสนุนก็ได้เลย

"เวลาทำกฎหมายนี้บางทีก็ถูกล้อ บอก พี่วิรัตน์ตอนนี้หน้าขาวนะ คือล้อ ผมก็เข้าใจ ผมมีลูกมีภรรยา แต่แม้ว่ามีลูกมีภรรยา ผมเห็นควรสนับสนุน ผมก็สนับสนุนก็เป็นเรื่องความเห็น แต่สังคมส่วนใหญ่จะเห็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องการรับฟัง เรื่องการชี้แจง เป็นเรื่องที่กลุ่ม LGBTI ต้องโปรโมทตัวเองด้วย"วิรัตน์ กล่าว