ไม่พบผลการค้นหา
ไอเอ็มเอฟ ชี้โควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจโลกสูญ 370 ล้านล้านบาท หั่นประมาณการจีดีพีโลกปีนี้หดตัวร้อยละ 5 คาดจีนเติบโตร้อยละ 1 หัวแถวการฟื้นตัว ส่วนไทยติดลบร้อยละ 7.7

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ว่าจะหดตัวร้อยละ 4.9 จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3 เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และคาดการณ์ด้วยว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.4 ในปี 2564 ซึ่งปรับลดลงจากร้อยละ 5.8 ในการคาดการณ์เมื่อเดือน เม.ย.พร้อมทั้งให้จับสัญญาณทิศทางตลาดแรงงานที่จะได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19

กิตา โกปิเนธ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ ที่แม้ว่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิดได้ แต่กลับกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ Great Depression ปี 1930 (พ.ศ.2473)

อย่างไรก็ตาม การปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกรอบล่าสุดของไอเอ็มเอฟ นับว่าเลวร้ายกว่าวิกฤตการเงิน (Hamburger Crisis) รอบล่าสุดเมื่อสิบปีก่อน ที่จีดีพีโลกหดตัวร้อยละ 0.1 ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกยังคงต้องรักษาระยะห่างทางสังคมกันต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ประมาณการล่าสุดของไอเอ็มเอฟ ยังถือว่าดูดีกว่าประมาณการเศรษฐกิจโลก จากธนาคารโลกและ OECD ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลก จะหดตัวได้ถึงร้อยละ 5.2 และร้อยละ 6 ตามลำดับ ก่อนจะเห็นสัญญาณฟื้นตัวได้ในปีหน้า

เมื่อดูเป็นรายประเทศ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ร้อยละ 1 สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8 อินเดียหดตัวร้อยละ 4.5 บราซิลหดตัวร้อยละ 9.1 เม็กซิโกหดตัวร้อยละ 10.5 อังกฤษหดตัวร้อยละ 10.2 ส่วนฝรั่งเศสและอิตาลี หดตัวร้อยละ 12.5 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ ส่วนประเทศไทย ไอเอ็มเอฟ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 7.7 และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 5 ในปีหน้า

ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า พิษโควิด-19 สะเทือนเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่า 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 370 ล้านล้านบาทไปแล้ว และชี้ว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี กว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับฟื้นคืนมาเหมือนช่วงปลายปี 2562 ได้

การประเมินจากไอเอ็มเอฟรอบล่าสุดนี้สะท้อนว่า หากจำแนกตามภูมิภาค ส่วนใหญ่จะเผชิญหน้ากับการหดตัวทางเศรษฐกิจและมีสัดส่วนจีดีพีหดตัวมากที่สุดในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา ยกเว้นเพียงจีนประเทศเดียวที่จีดีพีหดตัวต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่หนึ่ง ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนที่น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นตามลำดับในปีหน้า

เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างการฟื้นตัวของจีน, ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว, ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา และค่าเฉลี่ยโลก พบว่าจีนจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดและได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอีกสามแห่งที่เหลือ ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วกลับได้รับผลกระทบมากที่สุดและฟื้นตัวลำบากที่สุด


จนแล้วจนอีก

รายงานฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟยังสะท้อนความน่ากังวลในประเด็นเรื่องความยากจนของประชากรโลก ที่ชี้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ส่งผลร้ายต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วโลกอย่างมากซึ่งจะยิ่งไปบั่นทอนการต่อสู้เพื่อให้ผู้คนเหล่านี้หลุดพ้นขึ้นมาจากเส้นความยากจน 

ความยากจน - AFP

ตัวเลขประชากรในระดับอยากจนแร้นแค้น (Extreme Poverty) หรือผู้ที่มีรายรับต่ำกว่าวันละ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 60 บาท ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา จากที่เคยขึ้นสูงถึงร้อยละ 35 ในทศวรรษที่ 90 อย่างไรก็ตาม ผลจากวิกฤตโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ส่งผลให้เกิดการว่างงานและขาดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลร้ายกับกลุ่มคนเหล่านี้โดยตรง

นอกจากนี้ มิติด้านการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรผู้มีรายได้น้อยผ่านการศึกษา ก็อ่อนแอลงไปอีกจากผลของโรคระบาดที่ทำให้เด็กนักเรียนกว่า 1,200 ล้านคนทั่วโลก ตามข้อมูลจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของเด็กนักเรียนทั่วโลก ขาดการเรียนรู้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับนักเรียนในฝั่งประเทศที่มีรายได้ต่ำ 


แนะประสานนโยบายการเงิน-การคลังรับมือความไม่แน่นอน

กิตา ชี้ว่า ด้วยความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มาก เหล่าผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศต้องมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น การช่วยเหลือต้องร่วมกันอย่างต่อเนื่องทั้งฝั่งนโยบายการเงินและการคลัง อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศจำเป็นต้องดำเนินการนโยบายต่างๆ บนความโปร่งใสและตรวจสอบได้ 

ไอเอ็มเอฟ - กิตา โกปิเนธ - รอยเตอร์ส
  • กิตา โกปิเนธ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัย ไอเอ็มเอฟ

ผอ.ฝ่ายงานวิจัย ไอเอ็มเอฟ แนะว่า สิ่งสำคัญที่สุดในปัจจุบันยังคงเป็นการจัดการความเสี่ยงกับระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศเพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าสู่การเปิดเมือง ในประเทศที่ต้องใช้มาตรการอย่างรุนแรง รัฐบาลต้องทำให้มั่นใจว่าประชาชนได้รับความช่วยเหลือครบถ้วนในการดำรงชีวิต อาทิ เงินเยียวยา ประกันสำหรับผู้ที่ว่างงาน รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องต่างๆ 

ในประเทศที่เริ่มกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการกระตุ้นให้ผู้คนกลับไปทำงาน หรือช่วยเหลือในการย้ายอุตสาหกรรมของแรงงานหากมีความจำเป็นจากอุปสงค์ที่เปลี่ยนไป ผ่านการจัดอบรมหรือการจ้างงานอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อลดปัญหาอัตราการว่างงานของประชากรลง และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจประเทศ 

พร้อมกับย้ำว่า สังคมนานาชาติต้องช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาให้สามารถมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนของประเทศตนเอง ผ่านทั้งสินเชื่อเพิ่มเติม ไปจนถึงการพักชำระหนี้ หรือการยกหนี้ให้ทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;