ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ การคล้ายล็อกดาวน์-มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยบวกส่งประชาชนวางแผนเที่ยวในประเทศ ตัวเลขชี้ร้อยละ 69.3 อยากไปทะเล ตามมาด้วยภูเขา และทำบุญไหว้พระมาในอันดับสุดท้าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจแผนเดินทางการท่องเที่ยวของประชาชน หลังหน่วยงานภาครัฐออกมาประกาศผ่อนคลายมาตรการการเดินทางข้ามจังหวัด ระบบการคมนาคมขนส่ง ท่าอากาศยาน และสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งยังออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. ที่จะถึงนี้ ก่อนพบว่า ผู้ตอบแบบถามราวร้อยละ 47.7 มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าจะสร้างเม็ดเงินรายได้ส่วนเพิ่มในตลาดไทยเที่ยวไทยอีกราว 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.1 มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 1-3 เดือน (หลังการคลายล็อก) โดยร้อยละ 69.3 เลือกที่จะไปทะเล ขณะที่อีกร้อยละ 39.1 มองว่าจะไปภูเขา-น้ำตก ขณะที่ร้อยละ 13.4 ที่เหลือต้องการทำบุญไหว้พระ

การท่องเที่ยว-วัดพระแก้ว-นักท่องเที่ยว-เที่ยวไทย-เที่ยวกรุงทพ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยฯ เตือนว่าด้วยกำลังซื้อที่เปราะบางและความท้าทายของธุรกิจภายใต้สภาวะความปกติใหม่ (New Normal) จึงมองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดจะยังไม่พลิกกลับมาเป็นบวก

เมื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรก ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทั้งปี 2563 คนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัวร้อยะ 45.2-46.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่รายได้จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ น่าจะมีมูลค่า 5.45-5.67 แสนล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 47.5-49.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่เคยประเมินไว้

ศูนย์วิจัยชี้ว่า ในอนาคต ธุรกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการ ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำตลาด โดยใช้จังหวะที่ภาครัฐออกมาตรการฯ จัดแพคเกจท่องเที่ยวพิเศษ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์จากมาตรการของรัฐ หรือการจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีกครั้ง โดยนำเสนอ แพคเกจราคาพิเศษให้ลูกค้ามาใช้บริการในครั้งต่อไปแทน