ไม่พบผลการค้นหา
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำสั่งให้มีมาตรการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมา และให้เก็บรักษาหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้

ผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ ทั้งหมด 17 คนได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ออกคำสั่งให้เมียนมา “ใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่ในมือ” ในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงร้ายแรง รวมไปถึงการป้องกันการสังหาร และ “ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงทางร่างกายและจิตใจ” ต่อชาวโรฮิงญา อีกทั้งยังต้องเก็บรักษาหลักฐานในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นแล้วไว้ด้วย

นอกจากนี้ ประธานพิพากษาอับดุลคาวี อาเหม็ด ยูซุฟกล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาจะต้องรายงานกลับไปยัง ICJ ภายใน 4 เดือนว่าได้ดำเนินการตามคำสั่งของ ICJ อย่างไรบ้าง 

มาตรการเหล่านี้จะมีผลผูกพันระหว่างประเทศ และไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ ICJ ก็ไม่มีช่องทางโดยตรงในการบังคับให้ประเทศนั้นๆ ปฏิบัติตาม

เมื่อเดือนต.ค.ปี 2016 กองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา มีการสังหารหมู่ ข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ รวมถึงการเผาทำลายหมู่บ้านอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมีการเผาทำลายมัสยิด ร้านค้าและคัมภีร์อัลกุรอาน นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังได้ออกมาเปิดเผยเองว่าโพสต์ที่โจมตีชาวโรฮิงญามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับกองทัพเมียนมา

การปราบปรามชาวโรฮิงญาช่วงนั้น ทำให้มีชาวโรฮิงญาลี้ภัยไปยังบังกลาเทศมากกว่า 700,000 คน และทีมสืบสวสอบสวนของสหประชาชาติได้เตือนว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมาอาจเกิดขึ้นอีก

ต่อมาในเดือนพ.ย. 2019 แกมเบียได้ยื่นฟ้องร้องเมียนมาต่อ ICJ กล่าวหาว่าเมียนมาสังหารหมู่ ข่มขืน และทำลายชุมชนต่างๆ ในรัฐยะไข่ละเมิดอนุสัญญาปี 1948 ว่าด้วยเรื่องการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยแกมเบียเรียกร้องให้มีการลงโทษคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย รวมถึงเรียกร้องให้มีการยุติการโจมตีชาวโรฮิงญาโดยทันที

เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาจะขึ้นให้การกับ ICJ ว่า ทางการเมียนมาและกองทัพเมียนมาไม่มีเจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด พร้อมกล่าวหาว่าแกมเบียบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และการปราบปรามชาวโรฮิงญาในปี 2017 เป็น “ปัญหาภายในประเทศ”

ด้านพาราม-พรีต ซิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านความยุติธรรมระหว่างประเทศของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ICJ สั่งให้เมียนมามีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ถือเป็นก้าวสำคัญในการยุติความเลวร้ายไม่ให้เกิดขึ้นกับหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกดขี่มากที่สุดในโลกอีกต่อไป ประเทศต่างๆ ที่กังวลและสหประชาชาติต้องพิจารณาว่า คำสั่งดังกล่าวถูกบังคับใช้จริง ในขณะที่คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กำลังคืบหน้าต่อไป


ที่มา : BBC, Human Rights Watch, The Guardian


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :