ไม่พบผลการค้นหา
เหตุดินถล่มที่เหมืองหยกในเมืองพะอัน รัฐกะฉิ่นของเมียนมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 120 ราย และไม่ใช่การสูญเสียครั้งแรก แม้รัฐบาลพยายามปรับกฎหมายด้านความปลอดภัยแรงงาน แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า ส่วนรายได้จากเหมืองหยกไหลออกนอกระบบ เข้ากระเป๋าทหาร-พ่อค้ายา-นักธุรกิจสีเทา

หลังฝนตกอย่างหนักหลายวันในรัฐกะฉิ่น ทางเหนือของเมียนมา เป็นเหตุให้ดินถล่มที่เหมืองหยกแห่งหนึ่งในเมืองพะอัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยสำนักข่าว AFP รายงานเมื่อ 2 ก.ค.ว่า แรงงานเหมืองหยกเสียชีวิตราว 120 ราย และสูญหายอีกจำนวนหนึ่ง จึงคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 

ขณะที่ The New York Times สภาพอากาศที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินบริเวณหลุมขุดของเหมืองหยกอ่อนตัวถล่มลงมาอย่างฉับพลัน หน่วยกู้ภัยก็ไม่สามารถใช้เครื่องมือขุดขนาดใหญ่เพื่อช่วยเหลือผู้ติดอยู่ใต้ดินถล่มได้อย่างทันเวลา เพราะพื้นดินอ่อนเกินไปจนทำงานลำบาก

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558-2562 เกิดเหตุดินถล่มที่เหมืองหยกในเมืองพะอันมาก่อน โดยแต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย แต่ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากที่สุด จึงถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา  

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิเวสต์มินสเตอร์เพื่อประชาธิปไตย หรือ WFD องค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหราชอาณาจักร เผยความคืบหน้าการทำงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมาและสหประชาชาติ พบว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานในกิจการเหมืองแร่ของเมียนมาเป็นอุปสรรคหนึ่งซึ่งทำให้การกำกับดูแลความปลอดภัยในเหมืองทั่วประเทศไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดรายละเอียดด้านเทคนิคและการประเมินความเสี่ยง ทั้งยังไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจนแก่ผู้ละเมิดกฎด้านความปลอดภัย และไม่มีการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ


'หยกสีเลือด' ทำเงินไหลออกนอกระบบ

แม้กิจการเหมืองแร่ในรัฐกะฉิ่นจะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายปี แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุดินถล่มในแต่ละปีมีจำนวนหลายร้อยราย ทำให้นิตยสาร Time ตั้งฉายาอุตสาหกรรมเหมืองหยกในเมียนมาว่าเป็น 'หยกสีเลือด' เพราะแรงงานขุดหาหยกในเหมืองเหล่านี้ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันด้านความปลอดภัยใดๆ ทั้งยังได้รับค่าแรงที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในการทำงานแต่ละวัน แต่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อนำตัวนายจ้างไปลงโทษนั้นทำได้ยาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ทำสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

AFP-เหมืองหยกถล่มในรัฐกะฉิ่น เมียนมา พม่า-02072020-2.jpg

ทั้งนี้ แรงงานในเหมืองหยกไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะรัฐกะฉิ่นเกิดเหตุปะทะระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพเมียนมาอยู่เป็นประจำ การหางานและหารายได้ของประชากรในพื้นที่จึงมีเพียงเหมืองหยกที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ แต่กิจการเหล่านี้มักจะอยู่ในเครือบริษัทที่เกี่ยวพันกับอดีตนายทหารระดับสูงซึ่งเคยปกครองประเทศใต้ระบอบเผด็จการ และปัจจุบัน ทหารอาวุโสหลายนายก็ยังมีตำแหน่งสำคัญในรัฐสภาเมียนมาอยู่

ส่วนรายงานของ Global Witness องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการค้าที่เป็นธรรม สำรวจสถานการณ์เหมืองหยกในเมียนมาเมื่อปี 2557 พบว่ารายได้จากการค้าหยกเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเมียนมา แต่รายได้ไหลเข้าสู่กลุ่มนายทุนสีเทาซึ่งเกี่ยวพันกับนายทหารในรัฐบาลเผด็จการเมื่อครั้งอดีต นำไปสู่การทุจริต ติดสินบน และเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง

เนื้อหาในรายงานระบุว่า เครือข่ายของนายทหารเหล่านี้เกี่ยวพันกับการลักลอบค้าหยกเถื่อนเลี่ยงภาษีด้วย ทำให้เงินจากการค้าหยกไหลออกนอกระบบ รัฐบาลไม่สามารถนำมาใช้พัฒนาท้องถิ่นและประเทศเมียนมาโดยรวมได้ ขณะที่เครือข่ายค้ายาเสพติดและกองกำลังติดอาวุธก็หารายได้จากการค้าหยกเถื่อนเช่นกัน

ประเทศที่เป็นแหล่งรับซื้อหยกเมียนมารายใหญ่ คือ 'จีน' ซึ่งมีความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณว่าหยกมีค่ามากกว่าทอง เพราะเกี่ยวโยงกับราชวงศ์ ส่วนการลอบขนหยกเถื่อนไปยังจีนสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะพรมแดนรัฐกะฉิ่นส่วนหนึ่งติดกับจีน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: