ไม่พบผลการค้นหา
สทนช.พร้อมรับมือฤดูฝน คาดเริ่มต้นช่วงกลางเดือน พ.ค. ส่งผลน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ชี้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระยะต่อไป ประเมินหลังหมดฤดูฝนแหล่งน้ำสำคัญในภาคกลางจะมีน้ำมากกว่าปี 2562

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าแล้งปี 2562/63 ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่า สามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้ ยกเว้นลุ่มเจ้าพระยาต้องจัดสรรน้ำจากกลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยเหลือมากกว่าแผน 300 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า หลังจากสิ้นฤดูฝนปีนี้ แหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ภาคกลางจะมีน้ำมากกว่าปี 2562

โดยช่วงต้นฤดูฝนในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. นี้ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุฤดูร้อน จึงประเมินว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำช่วง 2 เดือนนี้อีกประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้ำจำนวนนี้จะสำรองไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภคช่วงฝนทิ้งช่วงต่อไป

สำหรับเกษตรกรสามารถเริ่มเตรียมแปลงข้าวนาปีได้ช่วงกลางเดือน พ.ค. โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ค. และจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณปลาย มิ.ย. ต่อเดือน ก.ค. ในเบื้องต้นวางแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกักเก็บน้ำช่วงต้นฤดูฝนไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ในช่วงดังกล่าว คาดว่า จะไม่กระทบภาคการเกษตรมากนัก เนื่องจากข้าวนาปรังได้เก็บเกี่ยวทั้งหมดแล้ว

ส่วนข้าวนาปีความชื้นสัมพัทธ์ยังคงมีในดินและอากาศ ทำให้ข้าวจะไม่ขาดแคลนน้ำและฝนจะเริ่มตกอีกครั้งประมาณเดือน ส.ค. ส่วนเดือน ก.ย. จะมีพายุเข้ามา อาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังในพื้นที่จันทบุรี ตราด เชียงใหม่ เชียงราย นครพนม อุบลราชธานี และบางส่วนของภาคกลาง ด้านพื้นที่ภาคใต้ต้องเฝ้าระวังช่วง 1-2 เดือนนี้ คือ ระนอง ชุมพร พังงา และสุราษฎร์ธานี

เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เตรียมมาตรการรองรับฤดูฝนปีนี้ ด้วยการทำแผนที่พื้นที่เสี่ยง คาดการณ์น้ำหลาก น้ำท่วม ดินถล่มแจกจ่ายให้แต่ละจังหวัดทราบ เพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า พิจารณาปรับแผนเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ จัดทำเกณฑ์ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน รวมทั้ง ให้หน่วยงานตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเข้าหน้าฝน กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการไหล เร่งขุดลอกคูคลองและกำจัดวัชพืชทางน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมเข้าช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก ประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดให้สร้างการรับรู้ต่อประชาชนเรื่องหลักเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยให้ตรงกัน