ไม่พบผลการค้นหา
โต้เดือด ฝ่ายค้าน โวย รัฐบาลยึด กมธ.ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตรวจสอบยาก ขัดหลักถ่วงดุลอำนาจ 'สุชาติ' ใช้สิทธิรองปธ.สภาฯ สั่งถอนวาระแต่งตั้งกมธ.ทั้ง 4 คณะออกไปก่อน ด้าน 'ไพบูลย์' สวน ฝ่ายค้านใช้กมธ.เป็นเครื่องมือตลอด

การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญในคณะกรรมาธิการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) แทนนายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยซีกรัฐบาล ได้เสนอนายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นกมธ.แทน แต่ซีกฝ่ายค้าน ได้เสนอนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทำให้ต้องขอมติจากที่ประชุม 

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมติชอบ ลุกขึ้นอภิปรายว่า ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 90 กมธ.สามัญ ตั้งจากผู้ที่เป็นสมาชิกจำนวนใกล้เคียงกับอัตราของสมาชิกแต่ละพรรคที่มีอยู่ในสภาฯ ถือว่า เป็นเรื่องสำคัญ เพราะกมธ.ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาในกมธ.มีปัญหาเสมอ เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลส่งคนเข้ามาจนมีปัญหาถกเถียง ทำให้การทำงานในเรื่องการตรวจสอบยากมาก

โดยขณะนี้กมธ.มีส.ส.รัฐบาล 8 คน แต่ส.ส.ฝ่ายค้านเหลือเพียง 6 คนเท่านั้น การเสนอสัดส่วนรัฐบาลเพิ่มจะเป็น 9 ต่อ 6 คน ซึ่งเชื่อว่า ขัดต่อข้อบังคับการประชุมที่ 90 เพราะไม่ได้สัดส่วนตามสภาฯ

ภาพ ห้องประชุมสภา_๒๐๐๗๐๙_1.jpg

รัฐบาลกลับลำส่งคนชิงเก้าอี้ กมธ.

ในการติดต่อเบื้องต้นก็ได้มีการเจรจากันระหว่างวิป 2 ฝ่าย จนทำให้นายประเสริฐพงษ์ ลาออกจากกมธ.คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อมาเป็นกมธ.ป.ป.ช. แต่หลังจากไม่กี่วันมานี้ กลับเปลี่ยนใจ โดยเสนอคนเข้ามาแข่งขัน จึงเชื่อว่าเป็นการเสนอโดยไม่ชอบ และไม่ชอบด้วยหลักการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพราะหากในกมธ.ป.ป.ช.มีฝ่ายรัฐบาล 9 เสียง ฝ่ายค้าน 6 เสียง กมธ.จะตรวจสอบได้อย่างไร

การเชิญผู้มาชี้แจงแต่ละครั้งก็จะไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งขัดหลักการถ่วงดุลอำนาจ จึงขอให้รัฐบาลถอนชื่อออกไป แต่ก็เชื่อว่า รัฐบาลจะใช้เสียงข้างมากที่จะไม่ยอม ทั้งที่ไม่ถูกต้อง

ด้าน นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นชี้แจงว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกันมานานแล้ว จนเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ประสานงานกับวิปของพรรคก้าวไกล ซึ่งวิปก้าวไกลก็ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาอะไร จึงนำมาสู่การแต่งตั้งในวันนี้ ส่วนในเรื่องสัดส่วนกมธ.ก็มีการปรับนิดหน่อย เนื่องจากมีสมาชิกส.ส.อนาคตใหม่ 12 คน ถูกตัดสิทธิ ดังนั้น ถ้าจะให้สัดส่วนตรงทั้งหมดก็คงเลือกตั้งกมธ.กันใหม่ทั้งสภาฯ ขณะที่ นายสุชาติ ตันเจริญ ในฐานะประธานการประชุม ยืนยันว่า สัดส่วนของกมธ.ถูกต้อง ไม่ได้ผิดข้อบังคับ

เสนอคำนวนสัดส่วนใหม่

ต่อมา นายธีรัจชัย ลุกขึ้นโต้ว่า หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ สัดส่วนของกมธ.ย่อมเปลี่ยนแปลง แต่สัดส่วนกมธ.ป.ป.ช. ฝ่ายค้านมี 8 คน ฝ่ายรัฐบาลมี 7 คน แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นฝ่ายรัฐบาล 8 คน ฝ่ายค้าน 6 คนเท่านั้น จึงขอเสนอให้คำนวณสัดส่วนใหม่ทั้งหมดทั้งโควต้า และกมธ. เพราะการใช้เสียงข้างมาก ไม่ใช้การแก้ปัญหา แต่การทำงานในสภา การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นสิ่งสำคัญกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ หลังจากตกลงให้พรรคก้าวไกลได้โควต้ากมธ.ป.ป.ช. และนายประเสริฐพงษ์ ได้ลาออกจากกมธ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ แต่ต่อมาเปลี่ยน เพราะรัฐบาลกลัวการตรวจสอบ หลังกมธ.ป.ป.ช.มีมติในการส่งเรื่องกรณีถวายสัตย์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อประธานสภาฯ รัฐบาล จึงมีการเปลี่ยนตัว

ภาพ ห้องประชุมสภา_๒๐๐๗๐๙.jpg

กระทั่ง นายสุชาติ ตัดบทโดยให้ถอนวาระการแต่งตั้งกมธ.ทั้ง 4 คณะตามระเบียบวาระออกไปก่อน โดยจะนัดวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านในวันอังคารที่ 14 ก.ค. นี้ เพื่อยืนยันสัดส่วนกมธ.ว่าสภาฯไม่ได้ทำผิดข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ ทำให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นต่อว่า นายสุชาติ เพราะไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนวาระนี้ออกไป เพราะกำลังจะโหวตอยู่แล้ว และกมธ.ป.ป.ช.คณะนี้ กลายเป็นที่ทำงานของพรรคฝ่ายค้านไปแล้ว ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะไม่ว่า กมธ.ชุดไหนก็ตรวจสอบรัฐบาลทั้งนั้น จึงไม่ควรบิดเบือน ทำให้นายสุชาติ ตัดบทอีกครั้ง