ไม่พบผลการค้นหา
สิงคโปร์รับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัย ด้วยการช่วยปรับทักษะพนักงานอาวุโสใหม่ให้เท่าทันการทำงานยุคดิจิทัล เมื่อคนทำงานมีอายุมากขึ้น และทักษะที่มีอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ภาครัฐจึงสมทบทุนเรียนรู้สกิลอนาคต ขณะที่ภาคธุรกิจสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ รองรับพนักงานหน้าเดิมที่ผ่านการอบรมปรับทักษะ

ประเทศสิงคโปร์เข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุคาดการณ์เฉลี่ยสูงที่สุดในโลก โดยรายงานความสูงวัยของประชากรโลก (World Population Ageing) ในปี 2017 ของสหประชาชาติ ชี้ว่าอายุคาดการณ์เฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของผู้หญิงอยู่ที่ 84.5 ปี ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ 80.1 ปี อายุที่ยืนยาวขึ้นย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น

ในเดือนสิงหาคม ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้กล่าวว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้แรงงานสูงวัยได้ทำงานต่อนานขึ้น และมีอิสระทางการเงินมากขึ้น

"ที่จริงแล้วผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่อยากหยุดทำงาน เราสุขภาพดีกันนานขึ้น มีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่เราไม่อยากจะใช้เวลาวัยเกษียณอยู่เฉยๆ นานขึ้น เรายังอยากจะแอคทีฟ มีส่วนร่วม รู้สึกมีคุณค่าและจุดหมาย" นายกสิงคโปร์กล่าว

ในด้านของความมั่นคง รัฐบาลสิงคโปร์ได้รองรับประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นด้วยการค่อยๆ ขยายเพดานอายุเกษียณให้ถึง 65 ปี และเมื่อถึงเกณฑ์แล้วก็กำหนดให้นายจ้างต้องเสนอจ้างงานใหม่อีกครั้งจนกว่าจะอายุ 70 ปีหากลูกจ้างยังต้องการทำงาน รวมถึงเพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับผู้สูงวัย ทว่าการปรับตัวรับทักษะใหม่ๆ หรือรีสกิล (reskill) ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานเช่นกันเมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล

afp- สิงคโปร์ พนักงาน แรงงาน ออฟฟิซ - singapore worker labour workforce

หนึ่งในการสนับสนุนของรัฐบาล คือการตั้งองค์กรอย่างสกิลส์ฟิวเจอร์สิงคโปร์ (SkillsFuture Singapore: SSG) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวสิงคโปร์ โดยมีโครงการสกิลส์ฟิวเจอร์เครดิต (SkillFuture Credit) ที่รัฐจะสมทบทุนการเรียนรู้ของแรงงาน

ตั้งแต่ปี 2016 ชาวสิงคโปร์อายุ 25 ปีขึ้นไป จะได้รับเครดิตมูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 11,000 บาท) ซึ่งสะสมได้ ไม่มีวันหมดอายุ และรัฐบาลจะเพิ่มเครดิตให้เป็นระยะสำหรับใช้เรียนในหลักสูตรที่รัฐสนับสนุน ทว่าไม่สามารถแลกเป็นเงินสดหรือนำไปใช้อย่างอื่นได้

นับตั้งแต่เริ่มโครงการนี้ในปี 2016 มีชาวสิงคโปร์ใช้เครดิตนี้เพื่อการฝึกทักษะแล้วกว่า 431,000 ราย เพื่อเรียนคอร์สเรียนที่มีไว้รองรับกว่า 26,000 คอร์ส ทั้งจากมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชน โดยเน้นใน 8 ด้าน คือ 1) การวิเคราะห์ข้อมูล 2) การเงิน 3) การปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจบริการ 4) สื่อดิจิทัล 5) ความมั่นคงทางไซเบอร์ 6) ทักษะผู้ประกอบการ 7) เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และ 8) การแก้ปัญหาเกี่ยวกับเมือง

ทางสกิลส์ฟิวเจอร์ ได้สำรวจความเห็นชาวสิงคโปร์ราว 3,500 หลังจบหลักสูตรที่เรียน และสำรวจอีกครั้ง 6 เดือนให้หลัง พบว่า 8 ใน 10 ระบุว่าทักษะที่ได้เรียนรู้นั้นเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

สิงคโปร์.jpg

ภาคธุรกิจเองก็มีการสนับสนุนการเรียนรู้ของแรงงานสูงวัยในองค์กรเช่นกัน อย่างบริษัทสิงคโปร์เทเลคอมมิวนิเคชันส์ หรือซิงเทล (Singapore Telecommunications: SingTel) บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ก็ได้ลงทุน 45 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1,000 ล้านบาท) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้พนักงาน

วาเลอรี เหยียงถาน วัย 65 ปี ทำงานด้านทรัพยากรบุคคลในซิงเทล 47 ปี และไม่มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมมาก่อน ได้เข้าร่วมคอร์สอบรมพื้นฐานการสร้างโปรแกรมอัตโนมัติหรือบอท (Bot Maker Training) ของบริษัท จนตอนนี้เธอได้ทักษะใหม่นี้ มาช่วยทำงานที่มีกระบวนการซ้ำๆ อย่างการทำรายงานและการจัดทำงบ ให้ทำงานได้โดยอัตโนมัติ ช่วยลดเวลาในการทำงานตามปกติของเธอไป

"การเรียนรู้เป็นกระบวนการยาวนานตลอดชีวิต และฉันอยากจะทำให้ความคิดยังตื่นตัวอยู่" เธอกล่าว

ปัจจุบันเริ่มมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาปฏิวัติกระบวนการทำงานและบทบาทของพนักงานแบบเดิมๆ ไป เช่นในภาคธนาคารนั้น สถาบันธนาคารและการเงิน (Institute of Banking and Finance) และองค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) ระบุว่าในปัจจุบันภาคธนาคารกำลังเผชิญความท้าทายใหม่เมื่อแชทบอทและแพลตฟอร์มบริการตัวเองเข้ามาแทนที่งานของมนุษย์ พนักงานต้องเพิ่มทักษะการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยี ความเข้าใจผลิตภัณฑ์ และการวิเคราะห์และตีความข้อมูล

เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ เดอะสเตรตไทมส์ (The Strait Times) สื่อสิงคโปร์ได้รายงานตัวอย่างการปรับตัวของภาคธนาคารไว้ ว่าดีบีเอสแบงก์ (DBS Bank) ธนาคารรายใหญ่ในสิงคโปร์ มีการพนักงานศูนย์บริการของธนาคารกว่า 500 ราย ได้รับการรีสกิลเพื่อทำงานในตำแหน่งใหม่ 13 ตำแหน่ง เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

เมื่อกลางปีที่แล้วธนาคารซิตี้แบงก์ (Citibank) ในสิงคโปร์ ก็มีโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพ (Professional Conversion Programme: PCP) นาน 12 เดือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล เพื่อรีสกิลพนักงาน 400 คนไปทำงานตำแหน่งใหม่ โดยโครงการนี้ของซิตี้แบงก์เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการรีสกิลพนักงาน 2,000 คนภายใน 3 ปี

เมื่อต้นเดือนนี้ สถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute for Business Value) บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ ได้เผยงานวิจัยใหม่ที่ทำการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารกว่า 5,670 คน ใน 48 ประเทศ มาประมวลผล กระทั่งได้ผลการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้แรงงานถึง 120 ล้านคน จากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 12 ประเทศ อาจต้องรีสกิลหรือผ่านการอบรมปรับทักษะใหม่ภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยจำนวนแรงงาน 120 ล้านคนนั้น คิดเป็นจำนวนมากกว่าแรงงานทั้งประเทศของแคนาดาและบราซิลรวมกันเสียอีก รายงานของไอบีเอ็มจึงชี้ว่าการจะรับมือกับวิกฤตด้านทักษะอาชีพนี้ ผู้นำจำเป็นต้องมุ่งปรับทักษะของพนักงานใหม่มากกว่าการจ้างคนมาแทนที่พวกเขา

ที่มา: Bloomberg / Strait Times / สำนักงานแรงงานประเทศสิงคโปร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: