ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เผย 'วอยซ์ ออนไลน์' ชี้มติ กกต.ชงศาล รธน. ยุบ 'อนาคตใหม่' ไม่เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ย้ำกู้เงิน 191 ล้านบาทจาก 'ธนาธร' หากชี้ผิดจริงตาม ม.72 จะเป็นเพียงเงินบริจาคโทษไม่ถึงยุบพรรค แต่ต้องริบเงินส่วนเกิน 10 ล้านบาทเข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมืองแทน

รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้สอนวิชารัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายปกครอง ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'วอยซ์ ออนไลน์' หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กรณีพรรคอนาคตใหม่ กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คดีเงินกู้ 191.2 ล้านบาท)

โดย รศ.ณรงค์เดช เริ่มต้นอธิบายถึงการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองว่า การกู้ยืมเงินไม่ใช่รายได้ของพรรคการเมือง ปกติเวลาที่มีเงินเข้า การกู้ยืมเงิน เขาก็ต้องไปลงบัญชี สินทรัพย์ ว่ามีเงินสดเข้ามา และขณะเดียวกันก็ต้อง ลงบัญชีหนี้สิน ว่ามีเจ้าหนี้เท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขมันเท่ากัน มันไม่ใช่รายได้ของ นิติบุคคล พรรคการเมือง ถ้านิติพรรคการเมือง มันต้องมีเงินเข้ามาแล้ว แต่ในขณะนี้เงินกู้ นิติบุคคลพรรคการเมือง มีภาระที่ต้องชำระเงินกู้คืน

"ดังนั้น กรณีเงินกู้ โดยสภาพแล้ว มันจึงไม่ใช่ รายได้ของพรรคการเมือง ต่อมาเมื่อเงินกู้เป็นเงินบริจาคหรือไม่ เวลาที่คนให้ทรัพย์สินกัน คือคนนั้น เขาได้ไปเลย แล้วเขาไม่มีหนี้ ไม่มีภาระผูกพันใดๆ แต่กรณีกู้เงินเนี่ย มันมีความชัดเจนว่าต้องคืนเงินอยู่ ดังนั้น สัญญาเงินกู้ จึงไม่ใช่การบริจาคโดยสภาพ แต่สัญญาเงินกู้อาจจะเป็นการบริจาคก็ได้"

รศ.ณรงค์เดช ระบุว่า การทำนิติกรรมสัญญากู้ ที่ทางพรรคอนาคตใหม่ ทำกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่มีการคิดดอกเบี้ยเอาไว้หรือไม่ อัตราดอกเบี้ย เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้กันตามปกติทั่วไปหรือไม่ ซึ่งจะต้องดูรายละเอียด แต่โดยสภาพตัวเงินกู้คงไม่ใช่การบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองได้ และไม่น่าจะใช่เหตุในการยุบพรรคการเมือง

หากเปิดดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 66 กำหนดว่า "บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 บาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้"

สำหรับโทษตามมาตรา 66 กำหนดไว้ในมาตรา 124 โดยระบุว่า "ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี

ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทําของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย"

อีกทั้งยังกำหนดโทษไว้ใน มาตรา 125 ระบุว่า "พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กําหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกําหนด 5 ปี และให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กําหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน"

รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต

ย้ำหากผิด ม.66 จะไม่เข้า ม.72 ไม่เป็นเหตุยุบพรรคการเมืองได้

ทำให้ รศ.ณรงค์เดช ขยายความว่า พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 กำหนด ไว้ว่าจะมีการบริจาคให้กับพรรคการเมือง ต่อปี ไม่เกิน 10 ล้านบาท จะบริจาคเกิน 10 ล้านบาท ไม่ได้ ถ้าสมมติว่ามีการให้กู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย แล้วนายธนาธร สมมติบริจาคแล้ว 10 ล้านบาท ให้กู้ 191 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนดอกเบี้ยที่ไม่คิด ถือเป็นการบริจาคได้ ถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใด ตรงนั้นถ้าเกินก็จะผิดตามมาตรามาตรา 66 แต่ก็จะไม่ผิดมาตรา72 เพราะมาตรา 72 จะไม่ใช้กับกรณีนี้ ซึ่งมีบทบัญญัติความผิดเฉพาะ คือ มาตรา 66 อยู่แล้ว ดังนั้น มันจะไม่เข้าความผิด ตามมาตรา 72 ที่ กกต. ใช้เป็นฐานในการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 66 ไม่ใช่เหตุแห่งการยุบพรรค การกระทำความผิด ตามมาตรา 66 เขาจะลงโทษใคร ลงโทษผู้บริจาค ที่บริจาคเกิน โดยลงโทษกรรมการบริหาร ที่ไปร่วมรู้ว่า มีการบริจาคเกิน ลงโทษพรรคการเมือง ที่รับเงินบริจาคแล้วเกิน แต่สภาพบังคับสำหรับกรณีพรรคการเมือง สภาพบังคับก็เขียนชัดเจนว่า เงินส่วนที่เกิน เพดาน 10 ล้านบาท ถูกริบเข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมือง แต่เขาไม่ริบเงินต้นด้วย เงินต้น 10 ล้านบาท ในส่วน 10 ล้านบาทแรก ก็จะเป็นของพรรคการเมือง พรรคการเมืองยังคงดำรงอยู่ ดังนั้น มันเป็น บทบัญญัติที่มีความผิดเฉพาะ มีสภาพบังคับอยู่แล้ว

สำหรับมาตรา 72 ที่กำหนดว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ซึ่งไปโยงกับมาตรา 92 ที่กำหนดว่า "เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น" โดยระบุใน (3) ว่ากระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต ยุบพรรค นิติศาสตร์ จุฬา

(ณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

รศ.ณรงค์เดช ตีความว่า การที่ กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 72 จะเขียนไว้ว่า มีการกระทำความผิดอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1.พรรคการเมืองรับบริจาคโดยรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เขายกตัวอย่างถึง อธิบดีกรมหนึ่ง ไปบอกให้บริษัทที่ไปประมูลงานกับภาครัฐ บริจาคเงินให้พรรคการเมือง ซึ่งจะเป็นความผิด เจ้าพนักงานเรียกรับสินบน หรือ มีใครก็ได้ นาย ก นาย ข นาย ค ก็ได้ ไปบอกผู้บริหารบริษัทเอกชน บอกว่าจะเปิดเผยความลับคุณ ถ้าไม่อยากให้เปิดเผย ต้องบริจาคเงินให้เอกชน ด้วยความผิดฐานแบล็คเมล์ รีดเอาทรัพย์ มันต้องมีการกระทำความผิด และกรรมการบริหารรู้ แล้วก็รับเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายพวกนี้ เข้าเป็นเงินบริจาค

2.คือรับบริจาคโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าแหล่งที่มาของเงินทรัพย์สินไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ช่วงนั้นมีข่าวเจ้าของสถานบริการอาบอบนวดค้าประเวณีเด็ก แล้วคนนั้นก็ไปบริจาคเงินให้พรรคการเมืองแล้วมีข่าวอยู่มีการฟ้องร้องกันอยู่ แม้ศาลยังไม่ตัดสินก็ตาม แต่อันนี้มีเหตุอันควรสงสัย ว่าเงินที่เอามาบริจาคมันมีแหล่งที่มาไม่ชอบธรรม

นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญยังย้ำว่า แม้จะเข้าลักษณะทั้งสองกรณีถ้าเป็นเรื่องได้มาโดยกรณีไม่ชอบก็ต้องรอว่าศาลตัดสินแล้วว่าเป็นทรัพย์สินเป็นเงินที่ได้มาจากการเรียกสินบน หรือเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวพันกับการแบล็คเมล์ และกรณีที่ของเงินแหล่งที่มาไม่ชอบก็ต้องมีคำพิพากษาศาลตัดสินแล้วว่า ได้มาจากการค้าประเวณี

"กรณีของการกู้ยืมเงินถ้าจะเป็นความผิดก็เป็นความผิดตามมาตรา 66 คือผมเรียนอย่างนี้ว่ามาตรา 66 ก็มีช่องโหว่ช่องว่างอยู่ มาตรา 66 บอกว่าบริจาคต้องไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี สมมติว่ามีคนคนหนึ่งบริจาคแล้ว 10 ล้านบาท มีความเป็นไปได้ครับที่เขาอยากบริจาคมากกว่านั้นเขาก็เลยทำนิติกรรมอำพราง แทนที่จะบริจาคมันเต็มเพดานแล้วตั้งแต่ 10 ล้าน เขาเลยให้กู้แทนให้กู้อีก 20-30 ล้าน สมมติว่าเป็นนิติกรรมอำพรางจริงๆ สมมติว่าเป็นจริงๆ ความผิดสภาพบังคับก็แค่ถือว่าบังคับให้ทำตามนิติกรรมที่แท้จริงคือ นิติกรรมบริจาคคือจากบริจาคเงิน 10 ล้าน ทำสัญญากู้ 20 ล้านถือว่าเป็นการบริจาค 30 ล้านเกินเพดาน ก็ไปลงโทษฐานบริจาคเกินเพดาน"

ชี้ กกต.ต้องพิสูจน์ก่อนว่า 'ธนาธร' ทำนิติกรรมเงินกู้เป็นนิติกรรมอำพรางบริจาค

รศ.ณรงค์เดช ระบุว่า หน้าที่ในการพิสูจน์ว่าพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธรกระทำผิด เป็นหน้าที่ของ กกต. ดังนั้น กกต. ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าเขาตั้งใจทำนิติกรรมเงินกู้ เพื่อเป็นการนิติกรรมอำพรางการบริจาค และหากเป็นจริงก็จะผิดมาตรา 66 แต่จะไม่เข้ามาตรา 72 ที่เป็นเหตุยุบพรรคการเมืองได้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องมาดูก่อนว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ เป็นความผิดตามมาตรา 72 หรือไม่ ถ้าไม่เป็นความผิดตามมาตรา 72 ก็ไม่สามารถโยงไปใช้มาตรา 92 (3) ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ยุบพรรคการเมืองได้ ดังนั้น ต้องวินิจฉัยขั้นต้นก่อนว่าเป็นความผิดตาม 72 หรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นความผิดตาม 66 ผลที่ตามมาคือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีมติให้ยกคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้

"แต่ถ้าเป็นมาตรา 66 ทาง กกต. ก็ยังสามารถดำเนินการได้โดยไปให้ศาลอาญาไปยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาดำเนินคดีอาญากับตัวผู้บริจาคผู้บริหารแล้วก็ตัวพรรคการเมืองซึ่งมันมีบทบัญญัติเฉพาะอยู่แล้ว"

ดังนั้น การกู้ยืมเงิน แม้ไม่เขียนไว้โดยตรง ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ว่า เป็นวัตถุประสงค์โดยปริยาย ประเด็นแม้ไม่ได้เขียนในข้อบังคับของพรรคว่ากู้ยืมเงินได้ การที่พรรคการเมืองรับเอาประโยชน์ เอาเงินกู้นั้นไปใช้จริงๆ คณะกรรมการบริการพรรคก็รู้จริงๆ ว่า มีการกู้ยืมเงิน ตรงนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นการที่นิติบุคคล พรรคการเมือง ให้สัตยาบัน กับการกู้ยืมเงิน ที่อยู่นอกขอบอำนาจ มันก็จะมีผลในทางกฎหมาย แต่คณะกรรมการบริหารที่ไม่ได้ทำตามระเบียบ ที่ข้อบังคับพรรคไม่ได้เขียนไว้ว่ากู้ยืมเงินได้ แล้วไปทำ อาจจะมีความรับผิด แต่เป็นความรับผิด เช่น ฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค สมาชิกพรรคก็ไปยื่นถอดถอนเขา แต่ไม่ได้มีความรับผิดอื่น เท่าที่ในกฎหมายเขียนไว้

ธนาธร อนาคตใหม่ พรรณิการ์ ลงมติ โหวต ไล่ 4งูเห่า

ย้ำหากข้อบังคับพรรคไม่กำหนดไม่ถึงขั้นยุบพรรคได้

เมื่อถามว่า คดีเงินกู้ 191.2 ล้านบาทจะมีแนวโน้มที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ได้หรือไม่นั้น รศ.ณรงค์เดช ระบุว่า การที่ข้อบังคับพรรคไม่เขียนแล้วกรรมการบริหารพรรคไปทำนอกขอบอำนาจ ผลในทางกฎหมาย คือ นิติกรรมนั้นไม่ผูกพันนิติบุคคลแค่นั้น ไม่ได้มีผลร้ายถึงขั้นยุบพรรค ดังนั้น การจะไปจำกัดสิทธิคน เช่น ยุบพรรค การจำกัดสิทธิคนเช่นเอาไปติดคุก หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องมีกฎหมายให้อำนาจ จึงต้องเขียนให้ชัด

แม้มาตรา 92 (3) จะไม่ได้ระบุเงื่อนไขแห่งการยุบพรรคการเมืองมาจากการกระทำตามมาตารา 66 ที่ห้ามบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกินจำนวน 10 ล้านบาท เนื่องจากผู้ร่างกฎหมายและตัวกฎหมายไม่ได้ประสงค์ให้เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค สังเกตตัวบทเหตุแห่งการยุบพรรคจะเขียนตามตัวบท ดังนั้น เวลาจะใช้กฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพ จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดเท่านั้น

ถามว่า มีการประเมินแล้วว่าหากถ้าคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางรอด รศ.ณรงค์เดช ย้ำว่า แม้จะกระทำผิดจริง สมมติบริจาคเงินเกินจริงๆ ตีความว่าสัญญาเงินกู้เป็นนิติกรรมอำพรางว่าการบริจาค อย่างมากก็แค่ผิด มาตรา 66 ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การที่ กกต.ยื่นคำร้องตามมาตรา 72 ตามช่องทาง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็รับไว้แล้วก็ต้องวินิจฉัยว่าไม่ผิดตามมาตรา 72 ก็จบ แล้วไปให้ กกต.แจ้งความฟ้องคดีอาญากันเอง

แต่ถ้าเข้าข่ายตามมาตรา 72 จะถึงขั้นเพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่หรือไม่นั้น รศ.ณรงค์เดช ย้ำอีกครั้งว่า กรณีพรรคอนาคตใหม่ยุบพรรคไม่ได้มาตั้งแต่ต้น ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีทางเดียวคือ ยกคำร้อง ไม่เข้ามาตรา 72 จึงไม่เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามมาตรา 92 (3) ศาลก็ยุบพรรคไม่ได้

"แต่อาจจะเป็นไปได้ที่มีการตีความทางกฎหมายแตกต่างกัน แต่ถ้าดูกฎหมายทั้งระบบ ความผิดตามเงินบริจาคนั้น ผู้บริจาคเกินก็ผิด พรรคที่รับบริจาคเกินก็ผิด ผู้บริจาคให้พรรคการเมืองไปล้มล้างความมั่นคงก็ผิด เขาจะกำหนดสภาพบังคับไว้แล้ว ดังนั้น หลักการตีความกฎหมายถ้าผิดบทเฉพาะแล้วจะไม่ผิดครอบจักรวาล คือ บททั่วไปตามมาตรา 72 ซึ่งมาตรา 72 ต้องพิสูจน์ก่อนว่าทรัพย์สินนั้นได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วค่อยมาพิสูจน์ว่า รู้ หรือควรรู้ หรือต้องพิสูจน์ก่อนว่าแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วค่อยพิสูจน์เรื่องควรสงสัย"

ธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญ 645629014343680_n.jpg

แนะ 'อนาคตใหม่' สู้ให้ได้เป็นการกู้เงินไม่ใช่เงินบริจาค

รศ.ณรงค์เดช เห็นว่าวิธีการต่อสู้ในชั้นศาลของพรรคอนาคตใหม่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เงินจำนวน 191.2 ล้านบาทไม่ใช่เงินบริจาคที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และถ้าพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นเงินกู้จริง ก็จะปลดบางประเด็นออกไป แต่พรรคอนาคตใหม่จะต้องต่อสู้ในประเด็นดอกเบี้ยจากเงินกู้ด้วย เรพาะตรงส่วนดอกเบี้ยถ้าไม่เลยก็จะมีประเด็นอีก และการคิดดอกเบี้ยต่่ำกว่าราคาตลาดก็จะเป็นประเด็นอีกเช่นกัน

สำหรับกฎหมายของไทยที่กำหนดโทษยุบพรรคการเมืองได้อย่างง่ายดายในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น รศ.ณรงค์เดช จึงมีความเป็นห่วงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการใช้ระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด

เขายกตัวอย่างในต่างประเทศการยุบพรรคการเมืองทำได้ยาก ต้นแบบที่ไทยไปลอกมาจากเยอรมนีนั้น การยุบพรรคการเมืองทำได้ยากมาก เงื่อนไขทั้งในเหตุแห่งการยุบพรรคของเยอรมนีจะแคบ และจะไม่มีเหตุแห่งการยุบพรรค 10 ข้อแบบไทย กระบวนการขั้นตอนค่อนข้างจะเคร่งครัด เวลาจะยุบพรรคต้องมติ 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ไม่ใช่เสียงข้างมากปกติด้วย เวลายุบพรรคเสร็จจะไม่กระทบต่อสถานะ ส.ส. แต่ของไทยจะมีส่วนที่ถูกตัดสิทธิด้วย 

"ผมเป็นห่วงอีกข้อ นอกจากเป็นเครื่องมือกำจัดคู่แข่งทางการเมืองแล้ว ถ้าใช้ระบบกฎหมายความขัดแย้งก็ยิ่งบานปลาย แทนที่พรรคการเมืองจะมีโอกาสโต พัฒนา ระบบพรรคการเมืองที่ควรจะเป็นสถาบัน กลับไม่เหลือเลย ระยะยาว ระยะสั้นก็เสีย ปัญหาเหลืองแดงก็สร้างแผลในใจกับคนกลุ่มหนึ่งที่โดนตลอด ขอให้คิดดีๆถ้าจะใช้เครื่องมือยุบพรรคการเมือง" รศ.ณรงค์เดช ย้ำทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง