ไม่พบผลการค้นหา
'วินทร์ เลียววาริณ' ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัลซีไรต์ 'ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน' วิจารณ์วรรณกรรมชื่อดังแอนิมอล ฟาร์มมีเนื้อหาแสบแซ่บ เหมือนถูกแส้ฟาดหลังแล้วโรยด้วยเกลือสินเธาว์ ชี้เนื้อหาต้องการเสียดสี 'อำนาจ' มากกว่า 'เผด็จการ' ก่อนยกตัวอย่าง เผด็จการรัฐสภา - แทรกแซงองค์กรอิสระคืออำนาจฉ้อฉล เตือนมนุษย์ได้อำนาจเป็นทุกคน

'วินทร์ เลียววาริณ' ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์และเจ้าของผลงานรางวัลซีไรต์ 2 สมัย นวนิยายประชาธิปไตยบนเส้นขนาน และรวมเรื่องสั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์วรรณกรรม นวนิยาย แอนิมอล ฟาร์ม โดยสรุปเรื่องย่อของนวนิยายชื่อดังว่ามีเนื้อเรื่องเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่อ่านแล้วเหมือนโดนเฆี่ยนด้วยแส้หนังกลางหลัง โรยด้วยเกลือทะเลและเกลือสินเธาว์อย่างละสองช้อนโต๊ะแซ่บแสบและแสบแซ่บ

วินทร์ ระบุตอนท้ายว่า เชื่อว่าผู้อ่านร้อยละ 99 คงเห็นว่านวนิยายเรื่องนี้เสียดสีระบอบเผด็จการ ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะเผด็จการยังไม่ใช่หัวใจของเรื่อง นิยายเรื่องนี้เสียดสี 'อำนาจ' ต่างหาก มันบอกว่าอำนาจนั้นมักฉ้อฉล

ประโยคที่ชาวโลกคุ้นกันดีคือ "Power corrupts; absolute power corrupts absolutely." เป็นประโยคที่ถูกทอนมาจากจดหมายที่นักประวัติศาสตร์ ลอร์ด แอคตอน เขียนถึง บิชอบ แมนเดลล์ ไครตัน เมื่อปี 1887 ว่า "Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men." แปลว่า อำนาจมักจะฉ้อฉล และอำนาจสูงสุดมักฉ้อฉลสูงสุด ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เป็นคนเลวเกือบเสมอ

โปรดสังเกตว่าประโยคเต็มมีคำว่า 'tends to' (มักจะ) บอกว่าไม่ทุกๆ อำนาจเลวร้าย แต่ส่วนใหญ่มักจะเลวร้าย Animal Farm สะท้อนสันดานมนุษย์ว่า เมื่อไรที่มีอำนาจในมือ ไม่ว่าเดิมทีมีนิสัยดีอย่างไร จะเปลี่ยนไปเสมอ (นี่ก็คือคอนเซปต์ของประชาธิปไตยบนเส้นขนาน) ยิ่งมีอำนาจมาก ก็จะยิ่งเปลี่ยนมาก

วินทร์ ระบุว่า จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนเรื่อง Animal Farm เพื่อสะท้อนเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ที่เปลี่ยนระบอบเป็นคอมมิวนิสต์ พวกบอลเชวิกผู้ก่อการสัญญาชาวบ้านเสียดิบดี แต่ลงท้ายก็ฆ่ากันเองเพื่อแย่งอำนาจ

จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนนวนิยายแรงๆ แบบนี้สองเรื่องคือ Animal Farm กับ 1984 สองเรื่องนี้ควรอ่านคู่กัน ขอแนะนำอย่างสูง

“ขณะที่นักอ่านส่วนมากเห็นว่า Animal Farm เสียดสีเผด็จการ ผมกลับเห็นว่า Animal Farm สะท้อนความอ่อนแอของมนุษย์มากกว่า เรื่อง 1984 ต่างหากที่สะท้อนระบบเผด็จการชัดเจนกว่ามาก คือตัวละคร Big Brother ควบคุมทุกอย่าง อีกเหตุผลหนึ่งเพราะอำนาจไม่ได้หมายถึงบริบททางการเมืองอย่างเดียว ในองค์กรธุรกิจ ก็มีอำนาจฉ้อฉล ในครอบครัวก็มีอำนาจฉ้อฉล ลูกน้องที่ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้านายแล้วเปลี่ยนเป็นชอบกดขี่ ก็คือ Power corrupts”

“เจ้านายด่าคนใช้เป็นหมูเป็นหมา ก็คือ Power corrupts (ส่วนภรรยากดขี่สามีไม่ใช่ Power corrupts เป็นแค่เทคนิคฝึกสัตว์ให้เชื่องเท่านั้น) แม้กระทั่ง 'เผด็จการรัฐสภา' และการแทรกแซงองค์กรอิสระก็คือ Power corrupts”

Animal Farm ชี้ให้เห็นว่าอำนาจเปลี่ยนคนธรรมดาเป็น Power addict และลงท้ายด้วย Power corrupts อย่างไร

อำนาจก็เหมือนไฟ แรกๆ คนแสวงหามันเพื่อความอบอุ่น แต่เมื่อได้มาแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะใช้เผาตัวเอง เป็นอย่างนี้แทบทุกคน บางทีความเป็นมนุษย์เป็นอย่างนี้เอง นั่นคืออ่อนแอ ตกอยู่ใต้ตัณหาที่เรียกว่าอำนาจได้ง่ายดาย ยิ่งมีอำนาจ ก็ยิ่งอ่อนแอ จึงต้องกดหัวคนอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :