ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมการค้าภายในลั่นมอบหมายสำนักงานชั่งตวงวัดและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกวดขันตรวจสอบการชั่ง เครื่องวัดความชื้น การหักน้ำหนักสิ่งเจือปน การปิดป้ายแสดงราคา ณ จุดรับซื้อของผู้ประกอบการทุกราย หลังชาวนาพิจิตรโวยถูกกดราคาข้าวเปลือกดิ่ง นโยบายประกันรายได้ไม่ช่วยจริง

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกษตรกรชาวนาใน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เรียกร้องทางราชการหามาตรการช่วยเหลือและพยุงราคาให้สูงขึ้นนั้น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขอแจ้งว่า มาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้รับรายได้ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต โดยพิจารณาจากต้นทุนการผลิตข้าวเปลือกแต่ละชนิดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บวกด้วยค่าขนส่งไปจำหน่ายและกำไรที่เหมาะสมซึ่งควรจะได้รับ เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร ซึ่งเป็นราคาความชื้นไม่เกิน 15% ณ หน้าโรงสี ตามคุณภาพมาตรฐาน เพื่อใช้กับเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยไม่คำนึงว่าจะปลูกเพื่อจำหน่าย บริโภค หรือทำพันธุ์ ผลผลิตเสียหายหรือไม่ เก็บเกี่ยวจริงเมื่อใด ได้ผลผลิตมากน้อยเพียงใด ก็จะได้สิทธิ์ตามที่ขึ้นทะเบียน แต่ไม่เกินที่โครงการฯ กำหนด 

ทั้งนี้ การได้รับสิทธิของเกษตรกร กำหนดให้เกษตรกรได้รับสิทธิ์ในช่วงที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวตามทะเบียนเกษตรกร การคำนวณเกณฑ์กลางอ้างอิงใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วันทำการ จากแหล่งต่างๆ ดังนี้ 

  • (1) ราคาขายส่งข้าวสารและผลิตภัณฑ์เฉลี่ยของกรมการค้าภายในและสมาคมโรงสีข้าวไทยคำนวณเป็นราคาข้าวเปลือก 
  • (2) ราคาข้าวเปลือกจากการสำรวจของกรมการค้าภายใน 
  • (3) ราคาข้าวเปลือกของสมาคมโรงสีข้าวไทย เช่น ในการประกาศราคางวดที่ 3 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิ์ คือ ผู้ที่แจ้งเก็บเกี่ยวในช่วงวันที่ 1 – 15 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วันทำการ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าราคาประกันรายได้ 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิมีราคาอ่อนตัวลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากประกอบกับในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และโรคไหม้คอรวง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้จำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าราคามาตรฐานทั่วไป ข้าวในแต่ละแปลงสุกไม่เสมอกัน มีความชื้นสูงต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการอบแห้งมากกว่าปกติ 

ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานกับการประกันรายได้ โดยเร่งให้มีการดูดซับผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เป้าหมาย 6.5 ล้านตัน และจูงใจให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเก็บข้าวไว้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงเดือน พฤศจิกายน 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้มีมติเห็นชอบกรอบการขอใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 2,572.5 ล้านบาท ดังนี้ 

  • (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้สินเชื่อเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บตันละ 1,500 บาท วงเงิน 1,500 ล้านบาท กรณีเข้าร่วมผ่านสถาบันเกษตรกร เกษตรกรได้รับ 500 บาท สถาบันเกษตรกรได้รับ 1,000 บาท
  • (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือ เพื่อการแปรรูปโดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับชดเชยดอกเบี้ยในร้อยละ 3 ต่อปี วงเงิน 562.5 ล้านบาท เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน 
  • (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป้าหมายให้ผู้ประกอบการค้าข้าว  ที่เข้าร่วมโครงการฯ รับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกรแล้วเก็บเป็นระยะเวลา 2–6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 3 วงเงิน 510 ล้านบาท เป้าหมาย 4 ล้านตัน นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อเร่งรัดให้มีการส่งออกเพิ่มทั้งในรูปรัฐต่อรัฐ (G to G) และเอกชนกับเอกชนที่จะช่วยพยุงราคาข้าวได้ระดับหนึ่ง

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการดูแลให้ความเป็นธรรมในการซื้อขายข้าวเปลือก กรมการค้าภายในได้มอบหมายให้สำนักงานชั่งตวงวัดและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเข้มงวดกวดขันในการกำกับดูแลตรวจสอบการชั่ง เครื่องวัดความชื้น การหักน้ำหนักสิ่งเจือปน และการปิดป้ายแสดงราคา ณ จุดรับซื้อของผู้ประกอบการทุกราย โดยได้มีการสุ่มตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด หากเกษตรกรพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :