ไม่พบผลการค้นหา
คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชำระเงินส่วนต่างรายได้ผ่านทาง พร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM กว่า 1.95 พันล้านบาท หลังจาก ต.ค.ปีก่อน ชี้ขาดให้ กทพ. จ่ายกว่า 9 พันล้าน

นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา เรื่องคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับคดีปรับอัตราค่าผ่านทางทางพิเศษศรีรัช ส่วนดี ปี 2546 โดยระบุว่า ตามที่ BEM ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2551 เพื่อเรียกร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. ชำระเงินส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 ส.ค. 2546 กับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญานั้น 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2562 บริษัทฯ ได้รับทราบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 22 เม.ย. 2562 โดยคณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้ขาดให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท ดังนี้

1) ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำนวน 1,048.23 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ข้อ 25.6 ของต้นเงินค่าเสียหาย จำนวน 914.35 ล้านบาท คิดเป็นรายวันตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2551 เป็นต้นไป จนกว่า กทพ.จะชำระเสร็จสิ้น

2) ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตามอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับลงวันที่ 29 ส.ค. 2546 กับส่วนแบ่งที่บริษัทฯ มีสิทธิจะได้รับตามสัญญา โดยคำนวณตามจำนวนรถยนต์แต่ละประเภทที่ใช้ทางตามจริง เป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2551 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2551 รวมทั้งชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาข้อ 25.6 ของผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทฯ จนเสร็จสิ้น 

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 บริษัทฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลทำการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ ในขณะที่ กทพ. อาจขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา BEM ได้รับทราบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้ขาดให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายในคดีปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ปี 2551 เป็นค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย 9,091.79 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ของต้นเงินเสียหาย จำนวน 7,909.59 ล้านบาท โดยคิดเป็นรายวัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2556 เป็นต้นมาจนกว่า กทพ. จะชำระเสร็จสิ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :