ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงจับตา 'สุริยะ' ในฐานะปธ.คณะกรรมการวัตถุอันตราย จี้เดินหน้าตามมติเดิม แบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' ตั้งแต่ 1 มิ.ย. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในหนังสือถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง 'ขอขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศในการกำหนดให้ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4' โดยมีใจความในจดหมายสรุปได้ว่า ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศในการกำหนดให้ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยขอให้ขยายเวลาใช้บังคับออกไปถึง 31 ธ.ค. 2563 หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะสิ้นสุดลง และประเทศต่างๆ จะกลับมาทำการเกษตรตามปกติได้ รวมถึงความพร้อมในการปรับใช้สารทดแทนของประเทศไทย 

โดยการส่งหนังสือดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกำหนดเวลาตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ซึ่งกำหนดให้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2563 นี้ ซึ่งงวดเข้ามาแล้ว

ด้านเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงและเครือข่ายผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ในขณะทั่วโลกทยอยแบนพาราควอตแล้ว 59 ประเทศ และสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสอย่างสิ้นเชิงมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2563 แต่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกลับกลืนน้ำลายตนเองที่แถลงสนับสนุนการแบน 3 สารพิษเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เสนอให้เลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นสิ้นปี 2563 แทน

ทั้งนี้ จดหมายของนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหนังสือลงวันที่ 20 เม.ย. 2563 ถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อ้างเหตุผลว่า "จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับภาคธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงทางอาหารของโลก (Food Security) เนื่องจาก สารดังกล่าวใช้ในการเพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบ สำหรับการแปรรูปทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้" และ "หากไม่ได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ อาจส่งผลกระทบต่อการนำสินค้าขาเข้าจากต่างประเทศ ที่ต้องมีค่ากำหนดสารตกค้างจากสารเคมีดังกล่าวเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) จนทำให้ขาด แคลนวัตถุดิบในการผลิต และเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก อันจะยิ่งซ้ำเติม ระบบเศรษฐกิจไทยและมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในช่วงวิกฤตนี้"

การอ้างดังกล่าวขัดแย้งกับจดหมายของนายกลินท์ ที่ยืนยันให้มีการแบนทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อเดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นนายกลินท์ เพียงแต่ขอให้รัฐบาลผ่อนปรนในการอนุญาตให้มีการนำเข้าวัตถุดิบโดยอนุญาตให้มีไกลโฟเซตตกค้างตามมาตรฐานของ CODEX เท่านั้น

ข้ออ้างเรื่องการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสแล้วจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบของนายกลินท์ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตมากว่าทศวรรษ และอียูประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยไม่มีประเทศใดอ้างปัญหาการตกค้างจนส่งผลกระทบต่อการผลิต/อุตสาหกรรมใดๆ เลย แม้กระทั่งจดหมายของสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ส่งมายังนายสุริยะ คัดค้านการแบนไกลโฟเซต แต่ก็ไม่ได้คัดค้านการแบนและอ้างการตกค้างของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสแต่ประการใด

ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงจะติดตามว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีบทบาทอย่างไร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้แสดงบทบาทหัวหอกรับลูกข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา และบริษัทค้าสารพิษ ดำเนินการให้มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต และเลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเดิมกำหนดให้มีผลในวันที่ 31 ธ.ค. 2562 เป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 แทน

อนึ่ง มีความเป็นไปได้ว่าในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 30 เม.ย. นี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายอาจพิจารณากดดันให้กรมวิชาการเกษตร ที่มีนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นผู้กำกับดูแล ผลักดันให้มีการตั้งอนุกรรมการ เพื่อเปิดทางอนุญาตให้มีการนำเข้าสารพิษทั้ง 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เข้ามาในประเทศอีกครั้ง หลังจากนางมนัญญาได้มีคำสั่งยกเลิกการนำเข้ามาตั้งแต่กลางปี 2562 ที่ผ่านมา

"ในขณะที่โลกกำลังต่อต้านสารพิษที่มีฤทธิ์เฉียบพลันสูงและก่อโรคพาร์กินสันอย่างพาราควอต และสารพิษที่มีผลกระทบทำลายสมองเด็กโดยถาวรอย่างคลอร์ไพริฟอส ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตจากไวรัสระบาดซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ ในขณะที่คนจำนวนมาก เห็นว่าหลังวิกฤตโควิด-19 ประเทศต้องทบทวนการผลิตพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีร้ายแรง มาเป็นเกษตรกรรมผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี และลดต้นทุนการผลิต ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น แต่กลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทสารพิษ และนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม กำลังสมคบคิดกันยืดเวลาการแบนสารพิษร้ายแรงออกไป ซ้ำเติมปัญหาสุขภาพของประชาชนให้เลวร้ายลงไปอีก หรือไม่ ?" เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงและเครือข่ายผู้บริโภค ระบุในแถลงการณ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :