ไม่พบผลการค้นหา
กำไรไตรมาสสองไทยพาณิชย์ ลดลงร้อยละ 24 ครึ่งปีแรกตั้งสำรองกันประเด็นหนี้เสียสูงถึง 19,400 ล้านบาท นักวิเคราะห์ชี้ ความเสี่ยงที่แท้จริงอยู่ในฝั่งบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดสูง

ผลประกอบการของธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อย (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) ในไตรมาส 2/2563 พบว่ามีกำไรสุทธิ 8,360 ล้านบาท คิดเป็นการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 24 ขณะที่กำไรสุทธิครึ่งปีแรก รวมเป็นเงิน 17,611 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งธนาคารฯ ชี้แจงว่ามีเหตุผลหลักมาจากการตั้งเงินสำรองที่สูงขึ้น

จากข้อมูลรายงานพบว่า ธนาคารฯ ตั้งสำรองเงินจากหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญและขาดทุนจากการด้อยค่า ในไตรมาสนี้ทั้งสิ้น 9,734 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 64.7 และคิดเป็นยอดตั้งสำรองรวมครึ่งปีแรกทั้งสิ้น 19,4600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.8 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2562 

ปัจจุบัน อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.05 ภายใต้กฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการพักการจัดชั้นหนี้ด้อยคุณภาพของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือทางการเงิน ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 152 อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ แจงว่าระดับเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 18 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้และแนวโน้มกำไรของธนาคารในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อมั่นว่าสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งและการตั้งสำรองหนี้สูญในระดับสูง จะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ 

ประธานบริหารฯ ชี้ว่า ตั้งแต่การเริ่มมีการระบาด ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าบุคคลไปแล้วกว่า 1.1 ล้านรายและลูกค้าธุรกิจกว่า 13,000 ราย รวมธุรกิจขนาดย่อมและบริษัทต่างๆ คิดเป็นยอดสินเชื่อภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 รวมประมาณ 840,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 39 ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ว่า แท้จริงแล้วตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่คาดว่าจะเห็นตัวเลขที่แท้จริงในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ น่าจะมาจากภาคธุรกิจที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลมากกว่า เนื่องจากกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีขนาดใหญ่และการล้มลงจะส่งผลกระทบกับยอดหนี้เสียในสัดส่วนที่สูงกว่าหนี้ครัวเรือน 

โดย ดร.จิติพล มองความเสี่ยงไว้ในฝั่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดหนัก อาทิ อสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงกลุ่มการท่องเที่ยว ที่อาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว บางบริษัทจึงอาจล้มลงไปก่อนเศรษฐกิจจะกลับมา