ไม่พบผลการค้นหา
ทีดีอาร์ไอชี้การเรียนทางไกล-เรียนออนไลน์ ยังไม่ใช่ความปกติใหม่ เชื่อแค่เปลี่ยนพฤติกรรมมุมมองบุคลากรทางการศึกษา แนะต้องให้น้ำหนักแบบใหม่จัดการปัญหาเดิม หยุดหลักสูตรเทอะทะไม่เข้าบริบทใหม่

สำนักข่าวไทย รายงาน น.ส.ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการนำเอาการศึกษาทางไกลและการเรียนออนไลน์มาใช้ถ่ายทอดความรู้หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเริ่มคลี่คลายลง หลายภาคส่วนเริ่มพูดถึง "ความปกติใหม่" หรือ "New Normal"

ภาคการศึกษาเป็นภาคส่วนหนึ่งที่เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ทั่วโลกและในประเทศไทย โดยเฉพาะการปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ทำให้ทั้งภาคนโยบาย โรงเรียน ครู และนักเรียนนักศึกษา ต้องหันมาใช้การเรียนการสอนทางไกลอย่างเร่งด่วน

ทีดีอาร์ไอยังมองว่าการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์จะยังไม่ใช่ "ความปกติใหม่" แต่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของครู เหตุผลเพราะการจัดการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์ที่ทั่วถึงและมีประสิทธิผลสูงสำหรับผู้เรียนทุกคน ต้องพึ่งพาหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ และความพร้อมของครอบครัวและนักเรียนในการเรียนรู้จากที่บ้าน

วิดีโอคอนเฟอเรนซ์.jpg


ปัจจัยเหล่านี้มีต้นทุนมหาศาล เช่น หากรัฐจะจัดสรรเงินช่วยเหลือค่าคอมพิวเตอร์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ยากจนคนละ 10,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณถึง 2,800 ล้านบาท และหากรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ให้เฉพาะนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษที่มีอยู่กว่า 700,000 คนตามเกณฑ์การคัดกรองของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คนละ 10,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การเรียนออนไลน์ยังมีต้นทุนที่ครอบครัวนักเรียนต้องจ่าย ทั้งค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหารกลางวัน ต้นทุนค่าเสียโอกาสของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องใช้เวลาดูแลการเรียนของลูกแทนการทำงานหารายได้ และต้นทุนค่าเสียโอกาสของนักเรียนจากการเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์ ที่งานวิจัยจำนวนไม่น้อยบ่งชี้ว่า ก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่ำกว่าการเรียนตามปกติกับครูในห้องเรียน

เมื่อคำนึงถึงต้นทุนที่สูงมากในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเรียนทางไกลด้วยเทคโนโลยีและผลลัพธ์เชิงคุณภาพและความเสมอภาคที่ไม่ชัดเจน ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยุติลงระบบการศึกษาในภาพรวมจะกลับไปสู่การจัดการเรียนในโรงเรียนเป็นหลัก ส่วนการเรียนทางไกลด้วยเทคโนโลยีจะเป็นเพียงทางเลือกที่ถูกนำมาใช้ในบางสถานการณ์ กับนักเรียนแค่บางกลุ่ม และในบางพื้นที่ แต่จะยังไม่ใช่ความปกติใหม่ของการศึกษาไทยในอนาคต

library-979896_1280.jpg


น.ส.ณิชา กล่าวอีกว่า บุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากได้ปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีในการทำงานทางไกลเช่น การประชุมออนไลน์ การจัดการเอกสารออนไลน์ผ่านคลาวด์ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยตรง แต่น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ จึงมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปแม้การระบาดสิ้นสุดลง

"ความปกติใหม่" ของภาคการศึกษาไทย ควรเป็นการให้น้ำหนักแบบใหม่เพื่อจัดการปัญหาเดิม ปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่ถึงสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นแท้จริงต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น หลักสูตรแกนกลางที่มีอยู่เดิมเทอะทะเกินไปและไม่เหมาะกับบริบทของเด็กแต่ละคน และกฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายและการไว้ทรงผมไม่มีความสำคัญเมื่อเด็กเรียนรู้อยู่ที่บ้าน เป็นต้น

สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนรวมถึงเด็กทุกวัย ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ยากเมื่อเด็กมีความเครียดหรืออยู่ในภาวะที่เป็นอันตราย ครูจึงควรสอดแทรกเนื้อหาความรู้เรื่องสุขภาวะ การดูแลสุขภาพกายและใจ เพื่อให้เด็กเรียนรู้และปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ครอบครัวและสังคมที่ไม่แน่นอนให้น้ำหนักกับ การจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับ ทรัพยากรออนไลน์ เช่นจัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัวและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก ในลักษณะเดียวกันกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในด้านต่างๆ ไม่เพียงแค่การศึกษาเท่านั้น

นักเรียน คอมพิวเตอร์.jpg

การสร้างความปกติใหม่ตามข้อเสนอนี้สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล เพียงอาศัยการปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับกระบวนการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้านรวมถึงถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ

เนื่องจากแนวทางการจัดการศึกษาที่กล่าวมานี้ คือ "ความปกติเดิม" ที่เกิดขึ้นมาแล้วในระบบการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงบางโรงเรียนในประเทศไทยที่ปรับการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 มาก่อนหน้านี้ และน่าจะยังคงสอดคล้องกับโลกในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :