ไม่พบผลการค้นหา
ส.ศิวรักษ์ ย้ำ ถ้าไม่พูดความจริง ไม่กล้าสู้กับเผด็จการ จะไม่มีวันได้ประชาธิปไตย ยืนยัน ไทยมีทหารเป็นรัฐซ้อนรัฐ ขณะจุฬาฯ เผยแพร่ผลงานอดีตประธานาธิบดีเช็ก ที่เคยมาเยือนเมื่อ 25 ปีก่อน ว่าด้วยการอยู่ในความจริงท่ามกลางความลวง

สำนักงานวิทยาทรัพยากร หรือหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย เปิดตัวหนังสือแปล “จดหมายเปิดผนึกถึง ดร. ฮุสาก จากวาตซลัฟ ฮาเวล” ความหนา 127 หน้า ในวาระครบรอบ 25 ปีที่ 'นายวาตซลัฟ ฮาเวล' อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็ก และอดีตประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเชโกสโลวัก มาเยือนจุฬาฯ พร้อมจัดเสวนา “อยู่ในความจริงท่ามกลางความลวง : ชีวิตและแนวคิดของวาตซลัฟ ฮาเวล” ส่วนหนึ่งของพิธี

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส กล่าวถึง “ความทรงจำเกี่ยวกับวาตซลัฟ ฮาเวล” ก่อนการเสวนาว่า นายฮาเวล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แม้ประเทศเช็กจะมีขนาดเล็ก ทั้งเคยอยู่ใต้การปกครองเผด็จการของโซเวียต แต่ด้วยผู้นำมีวิสัยทัศน์ กล้าสู้กับเผด็จการที่ถือว่าร้ายแรงที่สุด จนประเทศเป็นประชาธิปไตย ที่ประเทศไทยควรเรียนรู้ เพราะไทยถูกเผด็จการทหารยึดอำนาจมานาน แม้วันนี้ คสช.จะวางมือ แต่ทหารก็มีสถานะเป็นรัฐซ้อนรัฐ และถ้าไม่พูดความจริง ก็ไม่มีทางเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก 

ส.ศิวรักษ์ ย้ำว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่คือการที่ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นหัวใจของความเป็นมนุษย์ และภูมิใจที่ จุฬาฯ เห็นคุณค่าในอัจฉริยภาพของนายฮาเวล โดยเฉพาะมีนิสิตจุฬาฯ รุ่นใหม่ แปลผลงานนายฮาเวลเป็นภาษาไทย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของสาระความมนุษย์ คือการมีเสรีภาพในการแสดงออก, การกล้าท้าทายเผด็จการและมีเสรีภาพที่จะยืนหยัดเพื่อคนตัวเล็กคนตัวน้อย 

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าคนไทยรับรู้เรื่องของนายฮาเวลน้อยมาก และเมื่อตัวเองเขียนหนังสือ "เผด็จการวิทยา" ช่วงเดือนธันวาคม 2556 ได้ศึกษางานเขียนของนายฮาเวล เพื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ของสาธารณะเช็กและประเทศในยุโรปตะวันออก ยุคนายฮาเวลกับสังคมไทยในช่วงนั้นที่มีการชุมนุมของ กปปส.ด้วย

พิชญ์ ระบุว่าเขียนจดหมายหรือหนังสือถึงผู้มีอำนาจ จะใช้ภาษาหรือถ้อยคำตรงๆ ไม่ได้ ต้องมีลักษณะเฉพาะของการเขียนงานลักษณะนี้ ขณะที่การศึกษางานเขียนของนายฮาเวล ต้องดูบริบทและสถานะที่เขียนงานแต่ละชิ้น และผู้ที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน จะมีความรู้สึกต่อนายฮาเวลแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะผู้สนใจความคิดแบบมาร์กซิสต์ ต้องให้ความสำคัญกับบทบาทแต่ละช่วงของนายฮาเวล รวมถึงลักษณะทางสังคมของประเทศแถบยุโรปตะวันออก ไม่อิงการอธิบายแนวคิดมาร์กซิสต์ จากรัสเซียหรือจากจีนเท่านั้น

ขณะเดียวกันนายฮาเวล ที่นำเสนอมุมมองต่อมองการดำเนินชีวิตคนในสังคมเผด็จการว่า ไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐเท่านั้น แต่มาจากเงื่อนไขที่สังคมจับจ้อง กลายเป็น "ความกลัว" และนำสู่สังคมแห่งการเสเเสร้ง ขณะเดียวกัน นายฮาเวล ก็ได้เสนอว่า คนต้องสามารถใช้ชีวิตท่ามกลางความหลอกลวงได้ แต่ต้องตระหนักรู้ว่ากำลังอยู่ในความหลอกลวงนั้น ซึ่งไม่ใช่ความจริง อย่างการร่วมพิธีกรรมบางอย่างของทางการหรือกิจกรรมทางสังคม โดยพฤติกรรมที่เกิดจากความกลัว จะนำไปสู่ความชินชาและสยบยอม เหมือนต้องเล่นละครแห่งความสิ้นหวัง จนเหมือนทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ และทางการก็นำมาอ้างว่า เป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมวลชน ซึ่งคือการยอมสยบต่อความไม่ปกติเป็นลำดับขั้น จนรับเอา "ความไม่ปกติ" ว่าคือ "ความปกติ" 

กลวิธีเผด็จการไทย เก็บปืนสร้างความหวาดกลัวผ่านคดีปิดปาก

นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางสังคม ระบุว่าหากเทียบเงื่อนไขที่นายฮาเวลเผชิญกับสังคมไทยว่าร่วมสมัยนั้น มีข้อแตกต่างคือทางการไทยไม่ใช้ตำรวจลับ แต่ส่งตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ สอดแนมและจับตานักกิจกรรมตลอดเวลา โดยการไปเยี่ยมบ้านพักหรือบ้านญาติพี่น้อง มีการเซ็นเซอร์หรือปิดสื่อสารมวลชนที่กลายเป็นเรื่องปกติ และเมื่อพูดถึงการชุมนุมทำให้คนรู้สึกว่าคือความวุ่นวาย หรือเลวร้ายกระทั่งถูกประณามด้วยวาทกรรม 'ชังชาติ' ทั้งที่เป็นสิ่งที่พึงทำได้ พร้อมยืนยันว่า ผู้มีอำนาจในไทยปัจจุบัน ไม่ใช่เผด็จการที่เอาปืนมาจ่อหัว แต่ให้วิธีดำเนินคดีเพื่อปิดปาก ซึ่งได้ผลมากกว่าการใช้ปืน เพราะสร้างความหวาดกลัวในสังคมได้อย่างกว้างขวาง 

นางสาวณัฎฐา ระบุถึงสิ่งที่จำเป็นและที่ต้องเรียนรู้จากนายฮาเวล คือเป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักการบางอย่างตลอดเวลา โดยพร้อมยืนยันความถูกต้องและความเป็นจริง ทั้งท่าทีต่อสถานการณ์สังคมการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศตัวเองและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งมีคำถามสำคัญว่า ปัจจุบันยังมีคนแบบนายฮาเวลในสังคมไทยและสังคมโลกหรือไม่ โดยเห็นว่า อย่างน้อยที่สุด ต้องร่วมกันยืนยันว่า คนฮ่องกงต้องได้รับสิทธิเลือกตั้ง ตามที่ชาวฮ่องกงกำลังเรียกร้องจากรัฐบาลจีนอยู่ในปัจจุบัน

คนเราเป็นผู้กุมความจริงและควรทำตามความรู้สึก

นายชยางกูร ธรรมอัน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ร่วมแปล "จดหมายเปิดผนึกถึง ดร. ฮุสาก" กล่าวว่า ตวามตั้งใจในการแปลหนังสือเล่มนี้ เพื่อหวังให้คนไทยเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วบางแห่งในโลกที่คนไทยไม่เคยรู้ จึงอยากให้เปรียบเทียบทั้งจุดเริ่มและจุดจบของสถานการณ์ต่างๆ และการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ประชาธิปไตย ขณะเดียวกันยอมรับว่า ความคิดของนายฮาเวล มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร แต่ที่เด่นชัดคือ การเห็นว่าผู้ถูกกดขี่มีอำนาจในการเยียวยาตัวเองได้ นั่นคือการพูดและการกล้ายืนยันในความจริง ไม่ใช่การคล้อยตามกระแสหรือทำตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำหนดโดยไม่รู้เท่าทันหรือไม่รู้ตัว

นายชยางกูร ย้ำแนวคิดของนายฮาเวล ว่า "คนเราเป็นผู้กุมความจริงและควรทำตามความรู้สึก" พร้อมเปรียบเทียบกรณีที่ชาวนาได้รับผลกระทบจากนโยบายบางอย่าง ทำให้ราคาข้าวตกต่ำหรือชาวนาขาดทุนและกำลังจะอดตาย ซึ่งความจริง คือ ชาวนากำลังจะอดตาย ไม่ใช่การต้องยอมรับความพอเพียงหรือหมดอาลัยตายอยากโทษบุญวาสนา แต่ต้องพูดและยืนยันความจริง เพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ร่วมแปล "จดหมายเปิดผนึกถึง ดร. ฮุสาก" ได้เล่าประวัติคร่าวๆ ของนายฮาเวล และได้ระบุถึงจดหมายที่เขียนถึงผู้นำประเทศ ที่ถูกส่งกลับคืนมาในราว 10 กว่าวัน ซึ่งการที่ผู้มีอำนาจรัฐส่งจดหมายกลับมา เพื่อสื่อความหมายว่า ภาครัฐหรือผู้มีอำนาจไม่สนใจหรือให้ความสำคัญกับข้อเรียร้องในจดหมายฉบับนั้น เพียงเขียนกำกับมาด้วยว่า จดหมายดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการปลุกปั่น แต่ไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมายหรือเอาผิดอะไร เพียงแต่ข่มขวัญนายฮาเวลเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น นายฮาเวลจึงเผยแพร่จดหมายฉบับนี้สู่สาธารณะ

โดยนายฮาเวล ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่มองว่า การที่กองทัพโซเวียตยุกเช็กว่า คือ ชะตากรรมที่ต้องยอมรับ แต่คิดว่า ชาวเชกต้องกุมชะตากรรมของตัวเอง ขณะที่รัฐบาลเผด็จการของเชก ก็สร้างภาพลวงว่าคนในประเทศมีสิทธิเสรีภาพ ทั้งผ่านการโฆษณา เกมโชว์ รวมถึงละครด้วย ซึ่งเป็นการใช้สื่อโทรทัศน์ทำให้สังคมเชื่องหรือยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ 

ผศ.ดร.วริตตา ระบุด้วยว่า การอยู่ในความจริงท่ามกลางความรวงของนายฮาเวล ต้องซื่อตรงต่อตัวเอง ที่แสดงออกผ่านการใช้ภาษาด้วย เพราะมีนัยทางการเมืองในการใช้คำพูดแต่ละคำ โดยยกตัวอย่าง ตั้งแต่การขึ้นต้นจดหมายที่เขียนถึงผู้นำเผด็จการว่า "ดร.ฮุสาก ที่เคารพ" แทนที่จะใช้คำทางการว่า "เรียน พณฯท่าน ดร.กุสตาฟ ฮุสาก เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสโลวาเกียที่เคารพ" นั่นเอง