ไม่พบผลการค้นหา
"ปิยบุตร" โพสต์เฟซบุ๊กไว้อาลัย "รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร" อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหงที่เสียชีวิต ยกเป็นนักวิชาการที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมตลอดทั้งชีวิต

หลังจาก รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอดีตนักเตะทีมชาติไทย วัย 81 ปี ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อเช้าวานนี้ (7 พ.ค.2563) จากอาการหัวใจวาย และได้ล้มในห้องน้ำ

ล่าสุด นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความอาลัยถึง รศ.อัษฎางค์ ระบุว่า หลังรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องมายังสงครามสีเสื้อ จนมาถึงรัฐประหาร 2557 ในแวดวงของนักวิชาการ-ปัญญาชน ก็แตกกันเป็นสองฝ่ายด้วย มีสมมติฐานกันว่า นักวิชาการอาวุโสที่มีอายุมาก น่าจะกลายเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ปัญญาชนที่เคยก้าวหน้าในช่วงตุลาคม 16 19 หรือ พฤษภาคม 2535 จนวันนี้อาจจะกลายเป็นปัญญาชนจารีต-อนุรักษ์นิยมไป

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการอาวุโส (รุ่นก่อนตุลาคม 2516) อยู่ 4 ท่าน ที่มีชื่อเสียงเป็นปัญญาชนสาธารณะ ที่ไม่ได้เข้าฝ่ายกับพวกอนุรักษ์จารีตนิยม แต่ยืนยันไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารทั้งเมื่อตอน 2549 และตอน 2557 อย่างมั่นคงเสมอมา นั่นคือ อาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาจารย์อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

ผมตามอ่านความเห็นของอาจารย์อัษฎางค์ มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา ตามอ่านผ่านคอลัมน์บ้าง บทความบ้าง หนังสือบ้าง

ที่จำได้แม่นอีกเรื่อง คือนอกจากความเป็นนักวิชาการแล้ว อาจารย์อัษฎางค์ยังเป็นนักฟุตบอลทีมชาติอีกด้วย ผมซึ่งเป็นแฟนกีฬาฟุตบอลมาต่อเนื่อง จึงยิ่งสนใจและจดจำอาจารย์อัษฎางค์เป็นพิเศษ ในประเทศนี้ เราจะหาคนที่เป็นนักกีฬาระดับทีมชาติและเป็นนักวิชาการระดับประเทศได้ ผมว่าคงไม่ง่ายนัก

ผมไม่เคยพบเจออาจารย์อัษฎางค์ ได้แต่ตามอ่านความเห็นผ่านตัวอักษร และการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ จนกระทั่งผมได้รับเชิญไปร่วมประชุมในคณะอนุกรรมการสักชุดหนึ่ง ของคณะกรรมการกระจายอำนาจ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ครั้งนั้นจึงได้เจออาจารย์อัษฎางค์ เป็นครั้งแรก

เรามีโอกาสสนทนากันอยู่พอสมควร ทั้งเรื่องสถานการณ์การเมืองไทย และเรื่องการกระจายอำนาจ

นอกจากอาจารย์อัษฎางค์จะเป็นกูรูการเมือง ติดตามการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง อีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์ทุ่มเทและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

หลังรัฐประหาร 2557 คณะอนุกรรมการชุดที่ว่าก็สลายไป ผมก็ไม่ได้เจออาจารย์อัษฎางค์อีกเลย จนกระทั่งผมลาออกจากอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมทราบมาว่าอาจารย์อัษฎางค์แอบเอาใจช่วยพวกเราอยู่ ผมตามฟังตามอ่านความเห็นของอาจารย์อัษฎางค์ที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่อยู่เสมอ ข้อคิดเห็นของอาจารย์อัษฎางค์มีประโยชน์ต่อพวกเรามาก

หลายเรื่องเราได้นำมาเป็นข้อคิดเพื่อแก้ไขปรับปรุง หลายเรื่อง ก็ยังไม่มีโอกาสทำ จนพรรคอนาคตใหม่มาถูกคน 7 คนในชุดครุยกระทำการในนามศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปก่อน

เมื่อพวกเราพรรคอนาคตใหม่ ถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมคณาธิปไตย โจมตีอย่างหนัก อาจารย์อัษฎางค์ก็ให้ความเห็น ให้กำลังใจเรา เมื่อพวกเราผิดพลาดบกพร่อง อาจารย์อัษฎางค์ก็ไม่ลังเลที่จะวิจารณ์พวกเราอย่างตรงไปตรงมา

ตั้งแต่เราก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ คนมักกล่าวกันว่า ผู้สนับสนุนพรรคนี้ มีแต่คนรุ่นใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีคนทุกรุ่นที่สนับสนุนเรา

ท่ามกลางความหลากหลายของผู้สนับสนุน มีนักวิชาการอาวุโสในวัย 70 80 แสดงออกว่าให้กำลังใจ เอาใจช่วยพวกเรา นั่นคือ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ และอาจารย์อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปีที่แล้ว อาจารย์ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ ได้จากเราไป มาวันนี้ เราเสียอาจารย์อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ไปอีกท่านหนึ่ง

ผมขอร่วมคารวะและไว้อาลัยการจากไปของอาจารย์อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมตลอดทั้งชีวิต



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :