ไม่พบผลการค้นหา
"นายกสมาคมนักข่าว" ปลื้มโฆษก ศบค.ทำหน้าที่ได้ดี ไม่ฝักใฝ่การเมือง "สุภิญญา" ชี้ การละเมิดสิทธิแหล่งข่าว ถือเป็นเรื่องร้ายแรง แนะให้พื้นที่สังคมร่วมสร้างมาตรฐานสื่อ

วันที่ 3 ก.ค. มูลนิธิและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดเสวนา "บทบาทและจริยธรรมสื่อในภาวะวิกฤตโรคระบาด" ในวาระครบรอบ 23 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า สิ่งที่สื่อควรตระหนักคือ 1.)​ ไม่ละเมิดสิทธิแหล่งข่าว 2.)​ ตรวจสอบข้อเท็จจริง 3.)​ เปิดพื้นที่ถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหากทำได้จะเป็นบทบาทเชิงรุก และสื่อไม่ต้องอายที่จะยอมรับความจริงแล้วขอโทษ ในกรณีที่ทำผิดจรรยาบรรณ

โดยเรื่องที่สะท้อนจริยธรรมสื่อช่วงโควิด -​ 19 ที่รุนแรงมากคือ กรณีผู้กลับจากต่างประเทศแล้วมีดราม่าที่สนามบิน ท่ามกลางความสับสนว่าผู้เดินทางกลับไม่ยอมกักตัว แต่ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนหลายอย่างและมีการโต้แย้งกัน แต่สื่อมวลชนหลายสำนักเปิดเผยรายชื่อผู้โดยสารเครื่องบินขาเข้าทั้งหมด ซึ่งเป็นการล้ำเส้นสิทธิส่วนบุคคล สื่อจึงต้องระมัดระวังและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตีตราและนำสู่การโจมตีหรือล่าแม่มดได้ ที่สำคัญต้อง ไม่ใช้วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง และต้องสร้างเวทีให้สังคมช่วยสร้างมาตรฐานร่วมกันโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจรัฐ ในเรื่องข้อเท็จจริงอาจจะต้องมีองค์กรวิชาชีพมาตรวจสอบร่วมกันก่อน

ชื่นชม โฆษก ศบค.ควบคุมสถานการณ์ได้ดี

ขณะที่นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกคนมีโอกาสผิดพลาดในสถานการณ์เร่งด่วนและวิกฤต เมื่อสื่อมวลชนทำงานผิดพลาดแล้วแก้ไข สังคมหรือสื่อฝ่ายตรงข้ามควรให้โอกาส อย่าซ้ำเติมอีก ซึ่งทุกฝ่ายต่างได้รับบทเรียนที่ผ่านมาแล้ว และสื่อมืออาชีพกับคนทำอาชีพสื่อนั้นแตกต่างกัน เเม้ทุกคนจะสื่อสารได้ แต่สื่อมวลชนต้องทำงานเป็นทีมและมีความเป็นมืออาชีพด้วย แต่สังคมยังสับสนอยู่ จึงต้องนิยามให้ชัด หากยังไม่ชัดเจนจะมีผลต่อสวัสดิการและสวัสดิภาพของสื่อ

นายมงคล กล่าวด้วยว่า ถ้าโควิด -​19 ระบาด หลังรัฐประหารใหม่ๆ ที่มีการแบ่งขั้วในสังคมรุนแรงอยู่ รัฐไทยจะจัดการได้ยากกว่านี้ แม้ว่าช่วงแรกผู้มีอำนาจค่อนข้างให้ข้อมูลสับสน สร้างความยากลำบากให้กับสื่อมวลชนในการนำเสนอต่อสังคม แต่เมื่อการพูดคุยกันก็เห็นพ้องในการตั้ง "ศูนย์โควิด-19" และโชคดีที่ผู้มีอำนาจเลือกโฆษก ศบค.ได้ถูกคน เนื่องจากเป็นแพทย์ด้านสุขภาพจิต มีจิตวิทยาใจเย็น เข้าใจการทำงานของสื่อ รวมทั้งเป็นโฆษก ศบค.ที่ไม่ฝักใฝ่หรือแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ฝากถึงผู้มีอำนาจว่า ควรเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวคำถามจากสื่อ เพราะหลายอย่างที่โฆษก ศบค.ได้ชี้แจงนั้น มาจากคำถามของสื่อมวลชน

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ช่วงโควิด-19 ระบาด ได้เห็นฝีมือรัฐบาลและสื่อทั่วโลก โดยรัฐไทยจัดการได้ดี แม้ติดเชื้อจากจีนเป็นประเทศเเรก แต่ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อย โดยในสถานการณ์โควิด-19 นั้น สื่อมวลชนต้องนำเสนอเรื่องอื่นๆ ที่คาบเกี่ยวด้วย ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและเข้าใจได้ อย่างเรื่องการขาดแคลนหน้ากากและอื่นๆ แม้นำเอาดราม่ามาเพื่อให้เกิดกระแสสังคม แต่ก็ถือเป็นการพยายามนำเสนอข้อมูล องค์ความรู้และทางออกให้สังคมเช่นกัน โดยในสนามข่าวนั้น องค์กรข่าวไม่ใช่องค์กรการกุศล ต้องสร้างเรตติ้งและรับโฆษณา แต่จะเห็นการแข่งขันเรื่องข้อมูลในสื่อไทย ซึ่งโอกาสต่อไปจะทำให้รับมือกับวิกฤตและตอบรับผู้บริโภคใหม่ได้ดีขึ้นด้วย