ไม่พบผลการค้นหา
ราคา WTI ส่งมอบล่วงหน้าเดือน พ.ค.ติดลบมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ผลพวงอุปสงค์ทั่วโลกชะงักจากวิกฤตโควิด-19 นักวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ยังแย่ต่อเนื่องถึง มิ.ย. - ก.ค.

20 เม.ย.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ส่งมอบล่วงหน้า หรือ WTI ( West Texas Intermediate) กำหนดเดือน พ.ค.ตกลงมากกว่าร้อยละ 100 หรือไปปิดตัวที่ราคาขายติดลบ 37.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,227 บาท ซึ่งตามทฤษฏีหมายความว่า ผู้ขายจะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้ซื้อเพื่อระบายน้ำมันซึ่งครั้งหนึ้งเคยถูกเรียกว่า 'ทองสีดำ' จำนวน 1 บาร์เรลออกไปจากโรงเก็บของตนเอง

น้ำมัน -  AFP

ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ส่งมอบล่วงหน้า ถูกใช้เป็นมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันดิบในสหรัฐฯ รวมไปถึงจากฝั่งสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่นมาโดยตลอด และแม้จะผ่านวิกฤตมาหลายครั้งก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่ตลาดจะกลับหัวกลับหางเปลี่ยนฝั่งมาติดลบขนาดนี้ ทั้งๆ ที่พยายามยื้อราคากันอย่างเต็มที่แล้ว

'ตง คิง' นักลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) และผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ (Merchant Commodity Fund) สะท้อนอย่างตรงไปตรงมาว่า "วันนี้เป็นวันที่เลวร้ายที่สุดในอุตสาหกรรมน้ำมันโลก" 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ส่งมอบล่วงหน้า ณ เวลา 21.54 น.ของประเทศในฝั่งตะวันตก (EDT) ซึ่งช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 11 ชั่วโมง หรือตรงกับเวลาประมาณ 9.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นไทย พบว่า ราคากลับขึ้นมาเป็นบวกที่ 39.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือประมาณ 1,279 บาท ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้มากกว่าร้อยละ 104.31 

น้ำมันดิบ


ความพยายามไร้ความหมาย ?

ก่อนราคาน้ำมันโลกจะเดินทางมาถึงจุดตกต่ำขนาดนี้ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เคยขัดแย้งกันก็มานั่งโต๊ะร่วมเจรจาเพื่อปรับลดกำลังการผลิตลงแล้วกว่าร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตทั่วโลก/วัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวดูจะไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงตามที่หวังกันเอาไว้ และหากจะโทษตัวการสำคัญก็คงหนีไม่พ้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้น้ำมันดิบกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นของโลกใบนี้อย่างที่เคยเป็นมา

REUTERS-เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุด-เจ้าชายซาอุดีอาระเบีย-วลาดิเมียร์ ปูติน รัสเซีย-ประเทศค้าน้ำมัน.JPG
  • เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (ซ้าย), วลาดิเมียร์ ปูติน (ขวา)

โควิด-19 ไม่ได้ทำร้ายแค่สุขภาพของประชาชน แต่ยังทำลายและบั่นทอนภาคธุรกิจอีกมหาศาลที่ใช้น้ำมันดิบเป็นแรงขับเคลื่อน อาทิ อุตสาหกรรมการบิน ท่ามกลางการปิดเมืองหรือมาตรการล็อคดาวน์ที่ยังบังคับใช้ในหลายประเทศทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อุปสงค์การใช้น้ำมันในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้จะลดต่ำลง

'กิแอนนา เบิร์น' นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอเทรอดาม ยังคงแสดงความกังวลไปถึงราคาน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ที่จะส่งมอบในเดือน มิ.ย.และ ก.ค.ว่าจะคงที่ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะความต้องการน้ำมันจากภาคขนส่งมวลชนยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเลยด้วยซ้ำ

"ฉันมองเห็นราคา WTI เดือน มิ.ย.อ่อนแอ ในอนาคตที่จะมาถึง" กิแอนนา กล่าว

ขณะที่ 'อาบิ ราเจนเดรน' จากภาควิชานโยบายพลังงานโลก มหาวิยาลัยโคลัมเบีย ทวีตในทวิตเตอร์ส่วนตัวสะท้อนความเห็นใน 2 ประเด็น ได้แก่

  • 1. ไม่ว่าราคาน้ำมันดิบฯ ที่จะส่งมอบในเดือน มิ.ย.จะเป็นยังไง หรือลดลงแค่ไหน แต่ราคามันก็แย่อยู่ดี!
  • 2. ถึงเวลาที่ต้องมาคิดถึงความเป็นไปได้ในการอุปทานน้ำมันของสหรัฐฯ ลง 2 - 3 ล้านบาร์เรล/เดือน หรืออาจมากกว่านั้น อาจถึง 3 - 4 ล้านบาร์เรล

ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้หยุดอยู่แค่บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกอาทิ เอ็กซอนโมบิล, รอยัลดัตช์เชลล์ หรือ ฮัลลิเบอร์ตัน ที่ออกมาประกาศขาดทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32,600 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2563 ต่างพากันปรับแผนธุรกิจเน้นเก็บเงินสดเป็นหลักแทน แต่ยังหมายถึงประเทศที่ทรงอำนาจขึ้นมาจากน้ำมันอย่าง ซาอุดีอาระเบีย และ รัสเซีย ที่อาจต้องบอกลาความรุ่งโรจน์ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมานี้ทิ้งไป

อ้างอิง; Bloomberg, WSJ, WP, CNBC, Oil Price

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;