ไม่พบผลการค้นหา
ไปเปิดประสบการณ์การกินกันที่ ‘เทศกาลอาคิตะ 2019’ (Akita Festival 2019) ซึ่งหยิบเอาวัฒนธรรมอาหารจาก ‘เมืองอาคิตะ’ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นมานำเสนอ โดดเด่นด้วยเนื้อวัวสายพันธ์ุอาคิตะ (Akita Beef) คุณภาพระดับพรีเมียม ที่เปรียบประหนึ่งขุมทรัพย์ เพราะผลิตแค่ 3,000 ตัวต่อปีเท่านั้น และนั่นจึงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำเอาสายเนื้อตกหลุมรักจนแทบบ้า

หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลาย และการแสดงความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจน ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี หรือแม้แต่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเอกลักษณ์ด้านอาหาร ซึ่งกระตุ้นความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยเองด้วย ที่ต่างมุ่งหน้าเดินทางไปเที่ยวชมความงดงามอันหลากหลายของประเทศญี่ปุ่น

Untitled-2.jpg
  • ทิวทัศน์แสนงดงามของอาคิตะ เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน บนแถบภูมิภาคโทโฮคุ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบันแลนด์มาร์กสำคัญๆ ของดินแดนอาทิตย์อุทัยแทบจะครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในโตเกียว เกียวโต โอซาก้า นารา ซัปโปโร ฟุกุโอกะ ทาคายามะ นิกโก ฮิโรชิม่า โยโกฮาม่า ฯลฯ ทว่าล่าสุด ‘เมืองอาคิตะ’ บนแถบภูมิภาคโทโฮคุ ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ก็กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งความฮ็อตฮิตติดลมบนของนักเดินทางที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายมาพักผ่อน ค้นหาความเงียบสงบ อากาศบริสุทธิ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นถิ่นแท้ๆ


เนื้อวัวนุ่มชุ่มลิ้น ที่มีชิมแค่ 3,000 ตัวต่อปี

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวญี่ปุ่นจึงจัด ‘เทศกาล อาคิตะ 2019’ (Akita Festival 2019) ณ อาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์ ถนนอโศก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้สัมผัสมนต์เสน่ห์การท่องเที่ยว พร้อมเปิดประสบการณ์ลิ้มรสความอร่อยเลิศของเนื้อวัวคุณภาพระดับพรีเมียมสายพันธุ์อาคิตะ (Akita Beef) ที่หาทานยากสุดๆ แต่ก็อร่อยสุดๆ ด้วยเช่นกัน

เพื่อให้ได้เนื้อวัวคุณภาพระดับพรีเมียม วัวอาคิตะจะผ่านกระบวนการเลี้ยงดูอย่างพิถีพิถัน ท่ามกลางสภาพภูมิอากาศ และแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ แบบที่ที่อื่นๆ ไม่สามารถเลียนแบบได้ จึงเปรียบเสมือนงานฝีมือแบบดั้งเดิมของเกษตรกรผู้ผลิต ซึ่งสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศจากการแข่งขันประกวดวากิวโอลิมปิกในปี 2012 แต่มันสามารถผลิตได้เพียงแค่ 3,000 ตัวต่อปีเท่านั้น

เมื่อกินแล้วจะรู้ว่า รสชาติของเนื้ออาคิตะอร่อยไม่เป็นรองจากเนื้อโกเบ หรือเนื้อมัทซึซากะ เพราะวัวอาคิตะเป็นวัวสายพันธุ์ขนดำเช่นเดียวกับวัวโกเบ และวัวมัทซึซากะ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงดูอยู่เมืองอาคิตะ ผ่านการพัฒนาคุณภาพ และเอาใจใส่เรื่องอาหารมากเป็นพิเศษ คือเลี้ยงด้วยรำข้าวของข้าวอาคิตะ และน้ำแร่ธรรมชาติ จึงช่วยเพิ่มรสชาติของเนื้อให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับตัวท็อปของเนื้อสายพันธ์ุอาคิตะคือ ‘สตริปลอยน์ วากิว A5’ (Akita Wagyu Striploin A5) ที่เปี่ยมด้วยชั้นไขมันสลับแทรกอยู่ระหว่าเนื้อแดง ทำให้ได้สัมผัสอ่อนนุ่มชุ่มฉ่ำราวกับละลายในปาก พูดแล้วก็ยิ่งนึกถึงชิ้นสเต็กย่างแบบมีเดียม แรร์ สุกสวยเป็นสีชมพูกลิ่นหอม สนนราคาประมาณกิโลกรัมละ 6,500 บาท รองลงมาเป็นเนื้อส่วน ‘ริบอาย วากิว A5’ (Akita Wagyu Rib Eye A5) ที่อร่อยแตกต่างจากเนื้อส่วนอื่นๆ อย่างชัดเจน เนื่องด้วยความสมดุลของไขกับเนื้อแดงมันดีเยี่ยมสุดๆ ราคาก็เบาๆ แค่กิโลกรัมละ 5,500 บาท และเพื่อให้ได้อรรถรสครบเครื่องควรทานกับสาเกท้องถิ่นของเมืองอาคิตะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์พื้นเมืองขึ้นชื่อ

ณ ตอนนี้ หากคอเนื้ออยากเข้าถึงนิพพานด้วยการลองลิ้มเนื้อวัวพันธุ์อาคิตะ สามารถมองหาความนุ่มละมุนในประเทศไทยได้จาก 5 ร้านอาหารญี่ปุ่น ได้แก่ ชินเซซูชิ แฮมบากุเฮ้าส์ มากุโระ ซูชินิวะ และทองเทปัน

2 แผ่นดิน.jpg
  • เมนู หมั่นโถ 2 แผ่นดิน ผลงานของ เชฟกิ๊ก – กมล ชอบดีงาม จากร้านเลิศทิพย์ นำเนื้ออาคิตะมาผสมผสานกับซอสแบบไทยๆ เพื่อช่วยดึงรสชาติความอร่อยของเนื้อออกมา
สาเก.jpg
  • สาเกสาเกท้องถิ่นของอาคิตะผสมผสานเทคนิกการบ่มอย่างลึกซึ้ง เช่น การบ่มกลางฤดูหนาว และเทคนิกซังไนโทจิ จึงเกิดเป็นสาเกรสชาตินุ่มนวล ดื่มง่าย เปรียบเหมือนผิวอันละเอียดอ่อนของหญิงงาม จนเมืองอาคิตะถูกขนานนามว่า ‘เมืองแห่งสาเก’
อาคิตะ เมืองแห่งสาเก

วิถีชีวิตคนเมืองอาคิตะจำนวนมาก ยังผูกพันเหนียวแน่นกับการผลิตสาเกท้องถิ่นมานับร้อยปี ทำให้โรงเหล้าเฟื่องฟู กระจายตัวอยู่ตามชุมชนต่างๆ และเกิดเป็นสุดยอดเหล้าญี่ปุ่นชื่อดัง รวมถึงสาเกท้องถิ่นอีกหลากหลายชนิด โดยส่วนใหญ่ระดับแอลกอฮอล์จะอยู่ประมาณ 10–20 เปอร์เซ็นต์

ขอบอกเลยว่า สาเกท้องถิ่นอาคิตะดีเด่นไม่แพ้ใคร เนื่องด้วยญี่ปุ่นจะผลิตมาจากข้าว ยีสต์ และน้ำ ซึ่งเมืองอาคิตะเป็นแหล่งปลูกข้าวชั้นดี จึงกล้าการันตีเรื่องการหมักสาเก และบ่มสาเก จนเกิดเทคนิกการบ่มอย่างลึกซึ้ง เช่น การบ่มกลางฤดูหนาว และเทคนิกซังไนโทจิ อันเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า ทำให้ได้สาเกรสชาติแสนอร่อย

ที่สำคัญ สาเกอาคิตะหมักบ่มด้วยน้ำบริสุทธ์จากแม่น้ำโอะโมโนะ แม่น้ำโคะโยชิ แม่น้ำโยเนะชิโระ และเมื่อเกิดการควบรวมกับกับข้าวชั้นดี ผนวกกับกรรมวิธีบ่มอย่างลึกซึ้ง จึงเกิดเป็นสาเกอาคิตะรสชาตินุ่มนวล ดื่มง่าย เปรียบเหมือนผิวอันละเอียดอ่อนของหญิงงาม จนเมืองอาคิตะถูกขนานนามว่า ‘เมืองแห่งสาเก’

นอกจากอาหารแล้ว เมืองอาคิตะสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี 4 ฤดู เริ่มจากฤดูใบไม้ผลิระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ฤดูร้อนระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม ฤดูใบไม้ร่วงระหว่างเดือนกันยายน-เดือนพฤศจิกายน ฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์ โดยความงามของธรรมชาติของแต่ละฤดูจะแตกต่างกันออกไป

หมาอะคิตะ.jpg
  • สุนัขสายพันธุ์อาคิตะ เป็น 1 ใน 6 หมาพันธุ์แท้ดั้งเดิมของญี่ปุ่น และเป็นหมาขนาดใหญ่ หางม้วนเข้าหาตัว และหูตั้งเป็นลักษณะเด่น

แม้จะเป็นเมืองทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น แต่อาคิตะยังมีชายหาดสวยงามซ่อนตัวอยู่มากมาย เช่น ทะซาวะโกะ (Tazawako) ทะเลสาบน้ำใสท่ามกลางท้องฟ้าสีคราว เป็นทะเลสาบที่ระดับความลึกสูงสุดในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังไม่เป็นนเำแข็งในช่วงฤดูหนาว ส่วนหุบเขาโอยาสุ (Oyasu Valley) ถือเป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงมากๆ และอีกหนึ่งไฮไลท์คือ ภูเขาโชคาอิซัง (Mt. Chokai) ได้ชื่อว่าเป็นภูเขาฟูจิแห่งตะวันออกเฉียงภาคเหนือ


บ้านเกิดของน้องหมาผู้ซื่อสัตย์

มากกว่าแค่เรื่องอาหาร เครื่องดื่ม และแหล่งท่องเที่ยว เมืองอาคิตะยังเป็นบ้านเกิดของฮาจิ (Hachi) น้องหมาผู้ซื่อสัตย์สายพันธุ์อาคิตะ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 หมาพันธุ์แท้ดั้งเดิมของญี่ปุ่น และเป็นหมาขนาดใหญ่ หางม้วนเข้าหาตัว และหูตั้งเป็นลักษณะเด่น โดยต่างประเทศเรียกขานหมาสายพันธุ์อาคิตะว่า เจแปนนิสอาคิตะ (Japanese Akita) หรือเกรทเจแปนนิสด็อก (Great Japanese Dog)

ฮาจิเป็นสัญลักษณ์ถึงความจงรักภักดีอันน่าทึ่ง จากการที่มันเฝ้ารอเจ้านายของมันเป็นเวลาหลายปี แม้เจ้านายของมันจะเสียชีวิตไปแล้ว ทว่าปัจจุบันฮาจิกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ หนุ่มสาวญี่ปุ่นมักสัญญารักต่อกันหน้ารูปหล่อของฮาจิหน้าสถานีรถไฟชิบูยะ ซึ่งเป็นจุดที่ฮาจินั่งรอเจ้านาย


ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

โนริฮิสะ สาตาเกะ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาคิตะเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทยด้วยการแต่งตั้ง จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เป็นแอสบาสเดอร์ของเมือง และนำทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยประเภทบอคเซีย และวีลแชร์บาสเกตบอลเดินทางไปเก็บตัว ณ เมืองอาคิตะมาแล้ว

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี
  • จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ในฐานะแอสบาสเดอร์ของเมืองอาคิตะ รับมอบป้ายสัญลักษณ์จาก โนริฮิสะ สาตาเกะ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาคิตะคนปัจจุบัน

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี เปิดเผยว่า จังหวัดอาคิตะมีชื่อเสียงหลายด้าน โดยเฉพาะเนื้ออาคิตะที่ขึ้นชื่อ มีหมู่บ้านซามูไรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สาเกเลื่องชื่อ สุนัขอาคิตะอินุแสนน่ารัก ธรรมชาติสวยงาม ความเงียบสงบ และของดีอีกมากมาย ตนประทับใจสิ่งต่างๆ เหล่านั้น และอยากให้คนไทยได้รู้จักอีกจังหวัดหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น โดยนักกีฬาบอคเซียไทยได้เดินทางไปเก็บตัวที่นั่นมาแล้ว

นอกจากนั้น คนเมืองอาคิตะนั้นยังรักความเป็นระเบียบ รักความสงบ ชันเจนเรื่องการตรงต่อเวลา และใจรักการบริการ ซึ่งเข้ากับคนไทยนิสัยยิ้มแย้มแจ่มใส ชอบท่องเที่ยว และชื่นชอบความสงบรอบด้าน  

On Being
198Article
0Video
0Blog