ไม่พบผลการค้นหา
ภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยภาคอีสานปีนี้ยังอ่อนตัว ศูนย์ข้อมูลฯ ชี้แรงดูดซับจะหดเพิ่ม ขณะสถานการณ์ครึ่งหลังของปี 2562 ก็อ่อนตัวจากครึ่งปีแรก

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) สรุปผลการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมหาสารคาม มีจำนวนโครงการที่อยู่ระหว่างการขาย 14,853 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของจำนวนโครงการขายรวมใน 26 จังหวัดภาคอีสาน

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ชี้ว่า เมื่อแยกตัวเลขออกมาตามรายจังหวัด ณ สิ้นปี 2562 จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการเสนอขายทั้งสิ้น 6,877 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 24,805 ล้านบาท ลดลงจากครึ่งแรกของปี 2562 ในสัดส่วนติดลบร้อยละ 0.9

ขณะเดียวกัน สัดส่วนหน่วยที่อยู่อาศัยที่ขายได้ในครึ่งหลังของปีที่แล้วก็ยังลดลงถึงติดลบร้อยละ 52.7 หรือคิดเป็นจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่ขายออกไปเพียง 608 หน่วยเท่านั้น ทำให้ตัวเลขยอดที่อยู่อาศัยเหลือขายทั้งสิ้นของจังหวัดนครราชสีมาอยู่ที่ 6,268 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.9 เมื่ิิอเทียบกับครึ่งแรกของปี โดยคิดเป็นเม็ดเงิน 22,907 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ประมาณการว่าในปี 2563 จังหวัดนครราชสีมาจะมีการเปิดขายโครงการใหม่ประมาณ 1,100 หน่วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเปิดขายโครงการบ้านจัดสรร และคาดการณ์ว่าจะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ในตลาดจำนวน 6,755 หน่วย โดยมองจากอัตราดูดซับในปี 2563 ที่คาดว่าจะสูงสุดที่ร้อยละ 1.1 เท่านั้น

REUTERS-สถานีรถไฟขอนแก่น

ขณะที่อีกหนึ่งจังหวัดใหญ่ของภาคอีสานอย่าง 'ขอนแก่น' มีโครงการที่ขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งปี 2562 จำนวน 435 หน่วยเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1,268 ล้านบาท นับเป็นการลดลงจากครึ่งแรกของปี 2562 กว่าร้อยละ 41.1 แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 10.4 ส่งผลให้ขอนแก่นมีหน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายทั้งสิ้น 3,596 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 11,574 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ดร.วิชัย ชี้ว่าเมื่อพิจารณาจากภาพรวม พบว่าอัตราดูดซับของขอนแก่นลดต่ำลงจากครึ่งแรกของปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ทั้งยังลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยมีอัตราดูดซับร้อยละ 3.1 ขณะที่ตัวเลขการดูดซับในปี 2563 ยังมีแนวโน้มแย่ลงมาอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 1 เท่านั้น

ด้านภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุดรธานี พบว่าในครึ่งหลังปีที่แล้วมีอุปทานภาพรวมเสนอขายทั้งสิ้น 44 โครงการ รวม 1,727 หน่วย แบ่งเป็นหน่วยขายได้ใหม่จำนวน 177 หน่วย และมีหน่วยเหลือขาย 1,550 หน่วย คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขาย 6,092 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมของตลาดพบว่าอัตราดูดซับลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 1.7 ซึ่งลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ส่วนในปี 2563 ดร.วิชัย คาดการณ์ว่าอัตราดูดซับภาพรวมจะทรงตัวโดยมีที่อยู่อาศัยประเภทอาคารพาณิชย์เท่านั่นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี คืออยู่ที่ร้อยละ 2.3 ขณะที่หน่วยเหลือขายทุกประเภท ณ สิ้นปี 2563 จะมีจำนวนประมาณ 1,587 หน่วย

รักษาการ ผอ.REIC ชี้ว่า ภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยจังหวัดมหาสารคาม จากการสำรวจพบว่าในครึ่งหลังปี 2562 อุปทานภาพรวมมีที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวน 21 โครงการ รวม 755 หน่วย แต่มีหน่วยขายได้ใหม่จำนวน 88 หน่วยเท่านั้น ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายทั้งสิ้น 667 หน่วย คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขาย 1,786 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาพรวมแม้อัตราดูดซับจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 แต่อัตราดูดซับโดยภาพรวมก็ยังคงทรงตัว โดยในปี 2563 REIC ประเมินว่าอัตราดูดซับที่อยู่อาศัยจะยังคงทรงตัวทุกประเภทยกเว้นอาคารพาณิชย์ ซึ่งลดจากร้อยละ 7.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.9