ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบแก้กฎกระทรวงกำหนดอาคารบริการสาธารณะ-สถานพยาบาล-ที่ทำการราชการ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ โรงหนัง-หอประชุม ต้องมีพื้นที่สำหรับวีลแชร์อย่างน้อย 2 ที่นั่ง ต่อ 100 ที่นั่ง ฌาปนสถานต้องมีทางลาดหรือลิฟต์ ให้ทุกคนเข้าถึงการใช้งานอย่างเท่าเทียม

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ว่า ครม.เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ.2548 ให้ครอบคลุมประเภทและขนาดของอาคาร ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายประเภท และกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชราสังคมไทย 

ขณะนี้ ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้มเป็น 20.42 ล้านคน ในปี 2583 สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว คือกำหนดให้ 1)อาคารที่ให้บริการสาธารณะ เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม สถานศึกษา หอสมุด อาคารประกอบของสนามกีฬากลางแจ้งหรือสนามกีฬาในร่ม 2)สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ3) อาคารที่ทำการของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย 

โดยกำหนดให้ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น

1.กำหนดให้มีที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ดังนี้

-อาคารที่มีที่จอดรยนต์ไม่เกิน 25 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 1 คัน

-อาคารที่มีที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ 26 - 50 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 2 คัน

-อาคารที่มีที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ 51 - 75 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 3 คัน

-อาคารที่มีที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ 76 - 100 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 4 คัน

-อาคารที่มีที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ 101 - 150 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 5 คัน

-อาคารที่มีที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ 151 - 200 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 6 คัน

ทั้งนี้ ที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุต้องจัดให้ใกล้ทางเข้าออกอาคารมากที่สุด มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกันและมีสัญลักษณ์รูปคนพิการนั่งวีลแชร์ (Wheelchair) อยู่บนพื้นของที่จอดรถ 

2.กำหนดให้มีทางลาด 

-มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร กรณีทางลาดแบบสวนกันได้ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร 

-มีความลาดชันไม่เกิน 1:12 และมีความยาวแต่ละช่วงไม่เกิน 9 เมตร หากทางลาดยาวเกิน 9 เมตร ต้องให้มีชานพักขนาดไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร คั่นระหว่างแต่ละช่วง 

-ทางลาดที่ไม่มีผนังกั้นให้ยกขอบสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร และทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 1.8 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับทั้งสองด้าน สำหรับทางลาดที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับห่างกันไม่เกิน 1.5 เมตร โดยทำจากวัสดุผิวเรียบ ลักษณะกลม มีความมั่นคงแข็งแรงและไม่เป็นอันตรายต่อการจับ

3.กำหนดให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องจัดให้มีห้องสุขาสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ที่เข้าใช้ได้ตลอดเวลาทำการอย่างน้อย 1 ห้อง มีโถชนิดนั่งราบที่สูงจากพื้นไม่เกิน 40 เซนติเมตร มีที่ปล่อยน้ำเป็นคันโยกหรือปุ่มกดขนาดใหญ่ที่สะดวกต่อการใช้งาน 

4.กำหนดให้โรงมหรสพหรือหอประชุม ต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับวีลแชร์ อย่างน้อย 2 ที่นั่ง ต่อจำนวนไม่เกิน 100 ที่นั่ง และเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง ต่อจำนวนทุก 50 ที่นั่ง โดยต้องเป็นพื้นราบอยู่ในตำแหน่งที่เข้าออกได้สะดวก

5.กำหนดให้โรงแรม ต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชั้น ชั้นละไม่น้อยกว่า 1 ห้อง สำหรับโรงแรมที่เป็นอาคารชั้นเดียวต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่น้อยกว่า 1 ห้อง ต่อจำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้อง และเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง ต่อจำนวนห้องพักทุก 10 ห้อง โดยต้องอยู่ใกล้บันไดหรือทางหนีไฟหรือลิฟต์ดับเพลิง และต้องมีสัญญาณเตือนภัยทั้งที่เป็นเสียง แสง และระบบสั่น

6.กำหนดให้อาคารชุด หอพัก อาคารอยู่อาศัยรวม ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ส่วนกลางตลอดจนพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร นอกจากนี้ ศาสนสถานหรือฌาปนสถานอย่างน้อยต้องมีทางลาดหรือลิฟต์หรืออุปกรณ์ขึ้นลงทางลาดที่ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้สะดวก

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในอาคาร สถานที่ และบริการต่างๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสริมสร้างให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม