ไม่พบผลการค้นหา
สปสช.เผยคนไทยใช้สิทธิคัดกรองโรคโควิด-19 แล้วกว่า 4 แสนครั้ง 3.8 แสนราย ในช่วงมี.ค.-ก.ค.2563 เตรียมปรับอัตราจ่ายชดเชยตรวจ PCR เป็น 2,100 บาท จาก 2,500 บาท ตามเกณฑ์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หวังช่วยลดค่าใช้จ่าย

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ในการตรวจยืนยันผู้มีความเสี่ยงและค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดความหวาดวิตกการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งที่จังหวัดระยอง และกรุงเทพฯ ในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ที่ผ่านมา สปสช.ได้บรรจุการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาได้รับการคัดกรองอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ทั้งนี้ จากข้อมูลในระบบเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.-9 ก.ค.2563 มีประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองแล้วจำนวน 382,448 คน เป็นจำนวนการตรวจ 403,852 ครั้ง รวมเป็นค่าบริการจำนวน 1,164.80 ล้านบาท

"ขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากที่หวั่นวิตกว่า อาจได้รับเชื้อโควิด-19 ทั้งกรณีที่มีรายงานพบทหารอียิปต์และเด็กหญิงชาวซูดานติดเชื้อที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยไม่ได้ผ่านการกักตัว ซึ่งประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการคัดกรองและตรวจยืนยันได้ ตามสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อเร่งดำเนินการควบคุมโรคแล้ว"

นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของการจ่ายชดเชยค่าบริการตรวจยืนยันการติดเชื้อโดยห้องปฏิบัติการ หลักเกณฑ์ในการจ่าย สปสช.จะยึดตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีหนังสือแจ้ง สปสช. เรื่องการปรับอัตราค่าบริการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ด้วยเทคนิค Real time RT-PCR เป็นอัตรา 2,100 บาท/ตัวอย่าง จากเดิม 2,500 บาท/ตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายคัดกรองลดลง โดยอยู่ระหว่างการส่งเรื่องเพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป