ไม่พบผลการค้นหา
ครม. อนุมัติขยายอายุสัญญาสัมปทาน 15 ปี 8 เดือนให้ BEM เป็นสิ้นสุดสัญญาปี 2578 จากเดิมที่จะต้องคืนสัมปทานในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ เพื่อแลกกับการจ่ายโง่กว่า 7.89 หมื่นล้าน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (18ก.พ.63) ได้อนุมัติแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน

โดยสัญญาระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A ช่วงรัชดาฯ-พระราม9, ส่วน B ช่วงพญาไท-บางโคล่, และ ส่วน C ช่วงแจ้งวัฒนะ-รัชดาฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 2563 เป็นสิ้นสุด 31 ต.ค. 2578 ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ช่วงบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 เม.ย. 2570 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C+) ที่จะสิ้นสุด 27 ก.ย. 2569 ให้เป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค. 2578 เช่นกัน โดยมีเงื่อนไขว่าคือให้ยุติข้อพิพาทระหว่างกัน และถอนฟ้องคดี 17 คดีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าหนี้ 78,908 ล้านบาท

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า สาเหตุที่จำเป็นต้องเร่งพิจารณาขยายอายุสัมปทานให้กับ BEM เนื่องจากจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ซึ่งหากปล่อยให้หมดอายุสัมปทานจะต้องมีการประมูลหาผู้ให้บริการรายใหม่ จะไม่สามารถทำสัญญาขยายอายุสัมปทานได้ ในขณะที่มูลค่าหนี้ที่จะต้องจ่ายให้กับ BEM ไม่ได้ยุติ และดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน หากปล่อยให้หมดอายุสัมปทานตามเดิม รัฐจะต้องจ่ายเงินให้กับ BEM รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 3 แสนล้านบาท

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า การระงับข้อพิพาทครั้งนี้ยังกำหนดการจ่ายผลตอบแทนตามเดิม คือแบ่งสัดส่วนรายได้ให้ กทพ. ร้อยละ 60 และร้อยละ 40 ให้ BEM ในสัญญา A B C และ D ส่วนสัญญา C+ BEM ได้ค่าตอบแทนทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และตามแนวทางการขยายอายุสัญญาสัมปทานได้กำหนดให้ BEM สามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ปีละ 1 บาท แต่จะปรับขึ้นได้เพียงครั้งเดียวคือในปี 2571 หรือขึ้นค่าผ่านทาง 10 บาท ส่วนที่อีก 5 ปี 8 เดือนไม่ให้ปรับขึ้น