ไม่พบผลการค้นหา
เงินสะพัดช่วงวาเลนไทน์ติดลบเป็นปีที่ 2 สะท้อนปัญหาความเชื่อมั่นผู้บริโภค ภาครัฐควรเข้ามาดูแลฟื้นความเชื่อมั่นและช่วยภาคธุรกิจ

เดินทางใกล้สู่ช่วงเทศกาลแห่งความรักอีกครั้ง ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงสถานการณ์ราคาสินค้าในย่านปากคลองตลาดเตรียมพร้อมวันวาเลนไทน์ที่จะมาถึงในสัปดาห์หน้า

'พรสุข สุดสวาท' แม่ค้าแผงดอกกุหลาบรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า ตนประเมินสถานการณ์ความต้องการสินค้าของลูกค้าปีนี้ไม่ได้มากนัก แต่มองไปในทิศทางลบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และมีความกังวลว่าสถานการณ์ปีนี้จะแย่ยิ่งกว่าเดิม 

ขอเสียงหน่อย
  • 'พรสุข สุดสวาท' แม่ค้าแผงดอกกุหลาบ

เธอเผยว่า ตอนนี้สวนดอกกุหลาบจากเชียงใหม่และแม่สอดทยอยส่งสินค้ามาให้ในจำนวนมาก แต่ยังไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาดูดซับสินค้าเหล่านี้เลย ทำให้ดอกไม้เหล่านี้ต้องถูกแช่เอาไว้ในตู้แช่เย็น จนกว่าจะมีคำสั่งซื้อมา และก็ไม่สามารถปฏิเสธไม่รับสินค้าจากสวนได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่คุยกันไว้ว่าต้องรับสินค้ามาขายทั้งหมด

ด้านประเด็นราคาดอกกุหลาบแพงในช่วงวันวาเลนไทน์ พรสุข ชี้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ได้เป็นกับดอกไม้ทุกชนิดหรือทุกสี อีกทั้ง ราคาก็ไม่สามารถพุ่งขึ้นไปเหมือนในอดีตได้อีกแล้ว เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลง

เธอเสริมว่า ปัจจุบัน ราคาดอกกุหลาบสีแดงขายอยู่ที่กำละ 100 - 150 บาท ในช่วงวันวาเลนไทน์ ก็อาจจะขึ้นได้เป็น 200 - 250 บาท หากเปรียบเทียบกับหลายปีก่อน ที่สามารถทำราคาได้ถึง 400 - 500 บาท / กำ 

ขอเสียงหน่อย
  • 'สุรีย์พร พิเรนทร' ผู้บริโภค

ขณะที่ฝั่งผู้บริโภคที่มาซื้อดอกไม้ในย่านนี้อย่าง 'สุรีย์พร พิเรนทร' ชี้ว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ก่อนจะจับจ่ายสินค้าหรือบริการอะไร ก็จำเป็นต้องคิดหน้าคิดหลังให้ถี่ถ้วนก่อน และกำหนดงบประมาณอย่างเหมาะสม เธอชี้ว่า งบที่ตั้งไว้สำหรับวันวาเลนไทน์ปีนี้ น่าจะไม่เกิน 1,000 บาท เช่นเดียวกับ 'นวนภัส ชำนาญ' ที่บอกว่าเธอเองก็เต็มใจซื้อสินค้าหรือไปทานอาหารกับแฟนในงบประมาณ 1,000 - 1,500 บาท ในวันวาเลนไทน์

ขอเสียงหน่อย
  • 'นวนภัส ชำนาญ' ผู้บริโภค

ขณะที่ประเด็นเรื่องมูลค่าสินค้าที่ซื้อให้คนรักในวันแห่งความรักนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์ตอบไปในทางเดียวกันว่าเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่าที่จะมานั่งดูมูลค่าของสินค้า พร้อมมองว่า หากมีทุนทรัพย์ไม่พอในการใช้จ่ายก็ไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าให้กัน

คำตอบจากผู้บริโภคและแม่ค้าย่านปากคลองตลาดสอดคล้องกับผลสำรวจ 'ทัศนคติ พฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์' ของ ศูนย์วิจัยและพยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยพอการค้าไทย ที่ระบุว่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ประชาชนมองว่าบรรยากาศวันวาเลนไทน์ในปีนี้น่าจะคึกคักน้อยกว่า ถึงร้อยละ 41.2 โดยมีปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจที่แย่ลง ราคาสินค้าที่แพงขึ้น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และสถานการณ์ฝุ่นละออง ตามลำดับ

ความกังวลของประชาชนส่งผลให้ตัวเลขประเมินเม็ดเงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2563 ลดลงร้อยละ 1.23 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คือลงมาอยู่ที่ 3,246 ล้านบาท หรือหดตัวจากปี 2562 ประมาณ 500 ล้านบาท ขณะที่การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,800 บาท จากเดิมที่อยู่ที่ประมาณ 2,300 บาท 

กุหลาบ-ดอกไม้-วาเลนไทน์-ปากคลองตลาด

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายเสริมว่า ปัจจัยสะท้อนเศรษฐกิจอย่างการบริโภคของภาคประชาชนกำลังฉายภาพความกังวลอย่างหนักในทุกมิติ ทั้งตัวเลขการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ไปจนถึงตัวเลขการใช้เงินในวันมาฆบูชาที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันที่ติดลบเป็นปีแรก หรือการชะลอตัวของการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่เติบโตน้อยลงในรอบนับ 10 ปี 

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ทิ้งท้ายว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเหล่านี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน ว่ามองไม่เห็นภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ซ้ำร้ายยังมามีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา พร้อมกับสถานการณ์ฝุ่นละออง และความไม่มั่นคงของรัฐบาล

สุดท้ายแล้ว เทศกาลแห่งความรักที่หลายคนไม่อยากนิยามไว้คู่กับเงินก็ไม่อาจแยกออกจากกันได้ และซ้ำร้ายยังเหมือนจะฉายภาพที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทยออกมาด้วยซ้ำ สิ่งที่พอจะทำได้ตอนนี้ก็คือต้องรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐว่าจะเรียกความมั่นใจของผู้บริโภคกลับมาได้อย่างไรและจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้แค่ไหน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: