ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจุบันโรคอ้วนในเยาวชนเป็นปัญหาใหญ่ของอังกฤษ กรุงลอนดอนจึงตัดสินใจแบนการโฆษณาอาหารที่มีปริมาณเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง ออกจากระบบขนส่งของการคมนาคม โดยบังคับใช้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2019

เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2018 สถิติจากสาธารณสุขอังกฤษ เผยว่า กว่า 34 เปอร์เซ็นต์ของเด็กวัย 10-11 ขวบ มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน สัดส่วนดังกล่าวคิดเป็นจำนวนกว่า 200,000 คน รวมถึงมีการพบโรคเบาหวานประเภท 2 ในเยาวชนมากขึ้น เพราะน้ำหนักตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ผู้มีน้ำหนักเกินยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งบางชนิดสูงขึ้น คือ มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งไต

ขณะที่การศึกษาผลกระทบของการตลาดอาหารขยะของสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) พบว่า วัยรุ่นที่บอกว่าตัวเองเห็นโฆษณาอาหารขยะทุกวัน มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากกว่าถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดูโฆษณาอาหารขยะเกินหนึ่งเดือน

สืบเนื่องจากปัญหานี้ กรุงลอนดอนจึงออกระเบียบข้อจำกัดด้านการโฆษณาอาหารขยะด้วยสื่อในระบบขนส่งของการคมนาคมลอนดอน (Transport for London) โดยห้ามโฆษณาอาหาร และเครื่องดื่มที่มีปริมาณเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมเพียงอาหารฟาสต์ฟู้ดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอาหารทุกชนิด เช่น ซีเรียล โยเกิร์ต เค้ก น้ำผลไม้ ไส้กรอก พาย พิซซ่า สลัด ซอสปรุงรส ตราบเท่าที่มีปริมาณของเกลือ น้ำตาล และไขมันสูงเกินกำหนด

ระเบียบใหม่นี้บังคับใช้กับสื่อทั้งหมดของการคมนามคมลอนดอน ทั้งบนรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถราง รถเมล์ เรือ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2019 เป็นต้นไป โดยมีความพยายามสื่อสารว่า มาตรการนี้มุ่งลดปัญหาโรคอ้วนของเยาวชนในลอนดอนซึ่งใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันค่อนข้างมาก

ซาดิก ข่าน (Sadiq Khan) นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน มองว่า โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาสุขภาพที่เหมือนระเบิดเวลารอวันแสดงอาการของโรคต่างๆ และโฆษณาก็มีผลในการสร้างวัฒนธรรมการบริโภคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

"เป็นที่ชัดเจนว่า โฆษณามีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกบริโภคของเรา ไม่ว่าเราจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม และชาวลอนดอนก็ให้การสนับสนุนการแบนโฆษณาเครื่องดื่ม และอาหารขยะให้พ้นจากระบบขนส่งของเมืองกันอย่างล้นหลาม"

เจมี โอลิเวอร์ (Jamie Oliver) เชฟคนดังชาวอังกฤษเองก็ออกตัวสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย

"นี่เป็นการตัดสินใจที่น่าทึ่งของเทศมนตรี และการคมนาคมลอนดอน และพวกเขาก็ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากชาวเมืองที่ยืนยันชัดเจนว่า พวกเขาต้องการให้ระบบขนส่งมีโฆษณาที่มีเนื้อหาดีต่อสุขภาพมากกว่านี้"

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดใหม่ย่อมถูกตั้งคำถามจากคนในวงการโฆษณา และมีผู้พยายามชี้ว่า การแบนโฆษณาอาจไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วน อีกทั้งยังมีการประมาณการณ์แล้วว่า การแบนโฆษณาอาหารขยะจากระบบขนส่ง จะทำให้การคมนาคมลอนดอนสูญเสียรายได้ถึงปีละ 13.3 ล้านปอนด์ หรือราว 533.33 ล้านบาท

สตีเฟน วูดฟอร์ด (Stephen Woodford) ประธานบริหารของสมาคมโฆษณาแห่งอังกฤษ กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแบนโฆษณาอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง จากระบบขนส่งมวลชน จะลดอัตราเด็กที่เป็นโรคอ้วนในลอนดอนได้

"เราทุกคนก็อยากเห็นเด็กเป็นโรคอ้วนกันน้อยลง แต่เราก็เชื่อว่ามีอีกหลายวิธีที่ดีกว่านี้มากในการแก้ไขปัญหา ไม่เพียงแต่มาตรการนี้จะล้มเหลวในการลดโรคอ้วนในเด็ก แต่มันจะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจในเมืองหลวงของเรา และลดรายได้ของการคมนาคมลอนดอนเอง ซึ่งอาจผลักภาระความกดดันไปที่ผู้โดยสารด้วยการขึ้นค่าโดยสารอีกด้วย"

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog