ไม่พบผลการค้นหา
เบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท/เดือน ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตจริง นักเศรษฐศาสตร์หนุนประชาสังคมดันกฎหมายบำนาญถ้วนหน้า จ่าย 3,000 บาท/เดือน

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' กรณีภาคประชาสังคมออกมากดดันให้รัฐบาลรับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ย้ำถ้าทำได้จริง "จะไม่มีผู้สูงอายุตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน"

เดชรัต เสนองานวิจัยสวัสดิการถ้วนหน้า
  • ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ

โดยนักเศรษฐศาสตร์รายนี้ย้ำว่า ตัวเลข 3,000 บาท/เดือน ที่เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกำหนดขึ้นมาภายใต้กฎหมายบำนาญแห่งชาติ แท้จริงแล้วเป็นการอ้างอิงจากเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ระดับรายรับ 2,710 บาท/เดือน

ด้วยเหตุนี้ หากกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านได้จริง แปลว่าประชากรผู้สูงวัยของไทย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งตามข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 มีทั้งหมดราว 11.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.73 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ จะไม่มีใครกลายเป็นประชากรที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจน

อีกทั้ง เมื่อคิดออกมารูปของงบประมาณ ดร.เดชรัต ย้ำว่า การมอบเงินบำนาญถ้วนหน้าครั้งนี้จะใช้งบราว 400,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของ จีดีพี และแม้ตัวเลขผู้สูงอายุของไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นแต่สัดส่วนรายจ่ายดังกล่าวก็จะไม่เกินร้อยละ 3 ของจีดีพีประเทศ ซึ่งหากเทียบกันกับงบประมาณในการสนับสนุนประชากรสูงวัยของประเทศพัฒนาแล้ว ยังถือว่าห่างอยู่อีกมาก เพราะประเทศเหล่านั้นตั้งงบดูแลประชากรสูงวัยของตนเองถึงร้อยละ 8 ของจีดีพี

ดร.เดชรัต สรุปผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่าอาจแบ่งได้เป็น 3 ข้อหลักๆ โดยประการแรกเป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่อาจตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจนจากรายได้ที่จำกัดในปัจจุบันมีช่องทางในการใช้ชีวิตที่ดีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยให้ลูกหลานในวัยทำงานสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดจากการต้องแบ่งเงินมาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวด้วย ส่วนประโยชน์ประการสุดท้าย ตกอยู่ในฝั่งเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามกำลังซื้อของประชาชนที่มีมากขึ้น

โดย ดร.เดชรัต ย้ำว่า ที่ผ่านมาเบี้ยยังชีพจำนวน 600 บาท/เดือน นับเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ของระดับรายได้ตามเส้นความยากจน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;