ไม่พบผลการค้นหา
'จิรายุ' เผยเสารับสัญญาณโครงการเน็ตประชารัฐตามชนบทใช้งานไม่ได้เพียบ ยืนยันมีร้องเรียนเกือบทั่วประเทศ ซัด กสทช.บริหารงานเละเทะเปลืองงบ 9,000 ล้านบาท ปูดกองทุน USO ละเลงงบฯ ช่วงโควิด-19 ให้ รพ.ทำโครงการซื้อแอร์ ทับซ้อนงบประจำ สธ. เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องแจงยิบ

จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กมธ.ลงพื้นที่ จ.ตาก เพื่อตรวจสอบปัญหา ด้านการสื่อสาร การไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ ระบบเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสาร ว่า จากที่ได้ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปตั้งเสาและเครื่องส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2560 แล้วแต่กลับใช้งานไม่ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากที่นี่แล้ว ยังได้รับการร้องเรียนจากที่อื่นๆ ด้วย เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยลักษณะคล้ายกับกรณีที่ จ.ตาก ที่มีการตั้งเสารับสัญญาณ แต่ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการเน็ตประชารัฐที่มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีงบประมาณประมาณ 9,000 ล้านบาท

"การดำเนินการในโครงการนี้ถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ ผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินงานใดๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ จากข้ออ้างของ กสทช.คือตอนที่ไปติดตั้งไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนของกรมอุทยาน คิดว่าทำไมการทำงานถึงมักง่ายแบบนี้ ก่อนการติดตั้งไม่ได้ศึกษาพื้นที่เลยหรืออย่างไร ผมสงสารเด็กๆ เพราะในช่วงโควิดที่ผ่านมาต้องเรียนออนไลน์ แต่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ ต้องไปพยายามหาวิธีการเรียนกันเอาเอง นี่ถือเป็นการทำงานที่ผิดพลาดสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เหมือนกับว่าเอาไปติดให้เสร็จแล้วก็ไม่ไปสนใจใยดีว่าจะเป็นยังไงต่อไป" จิรายุ กล่าว

จิรายุ ยังกล่าวอีกว่า ในวันที่ 13 ส.ค. 2563 กมธ.จะนำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม และหาแนวทางการแก้ไข โดยจะเชิญ กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อหาทางออกไม่ให้เสาสัญญาณเหล่านี้เป็นเพียงอนุสาวรีย์อีกต่อไป

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลถึงความผิดปกติของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO ) ที่เก็บจาก ผู้ประกอบกิจการดิจิทัลทีวีและผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง โดยช่วงวิกฤตโควิดมีการใช้จ่ายเงินจำนวนมากหลายพันล้านบาท โดยให้โรงพยาบาลหลายแห่งเสนอโครงการมาตั้งแต่ 1-20 ล้านบาท เพื่อมาขอเงิน บางโรงพยาบาลมีการเขียนโครงการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด เช่น การจัดทำและจัดซื้อเครื่องปรับอากาศ มีอยู่ประมาณเกือบ 100 โครงการ ซึ่งเป็นงบประมาณซ้ำซ้อนเพราะมีงบประมาณประจำของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว พบว่าการบริหารงานของ กสทช.ถือว่าเละเทะมาก เพราะยังพบข้อมูลความผิดปกติอีกหลายอย่าง ซึ่งจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้ที่ประชุม กมธ.พิจารณาอย่างเข้มข้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :