ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ใช่แค่บ้านเราไม่รู้ แต่คนอังกฤษ 1 ใน 20 คน ก็ “ไม่เชื่อ” ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เคยเกิดขึ้นจริง!

สิ่งที่ดูจะเป็นคุณูปการที่สุด จากกรณีสมาชิกวงไอดอลสวมเสื้อสัญลักษณ์สวัสติกะ ก็คือการหลั่งไหลของข้อมูลจำนวนมากใน 2-3 วันนี้ ชนิดที่ว่าหน้าฟีดข่าวของคุณ จะเต็มไปด้วยคำว่า “นาซี” – “ฟาสซิสต์” - “ฮิตเลอร์” - “ฮอโลคอสต์” – “เอาช์วิทซ์” – “ยิว” – “รมแก๊ส” ไปจนถึงคำยากๆ แต่ความหมายคุ้นเคย เช่น “พันธุฆาต” (Genocide) หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีแหละ มีดราม่าทีก็ได้เรียนรู้กันที จำไม่จำก็อีกเรื่อง เพราะเหตุการณ์นี้หลักใหญ่ใจความที่ก่อให้เกิดปัญหาก็คือ “ความไม่รู้ประวัติศาสตร์”

เพราะถ้ารู้และ “เข้าใจ” ก็คงไม่มีใครอยากเสี่ยงเอาเครื่องหมายที่ย้ำเตือนถึงการทำลายมนุษย์อย่างเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก มาประทับกับตัวให้เป็นเป้า “โดนรุมกินโต๊ะ”

พูดถึงเรื่อง “ความไม่รู้ประวัติศาสตร์” ดูเหมือนไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะกับคนบ้านเราเท่านั้น เพราะแม้แต่ประเทศฟากฝั่งตะวันตกที่ดูจะใกล้ชิดกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฉบับนาซี ก็ดูจะไม่ค่อยรับรู้ถึงเหตุการณ์นี้เท่าไหร่ น่าตกใจมากเพราะล่าสุด Holocaust Memorial Day Trust องค์กรการกุศลที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ได้ทำโพลขึ้นมาและพบว่า คนอังกฤษวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 20 คน “ไม่เชื่อ” ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เคยเกิดขึ้นจริง! และมีกลุ่มตัวอย่าง 8% บอกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น “เกินจริงไป”!

โพลเดียวกันนี้ยังมีสถิติที่น่าตกใจกว่านั้น คือพบว่ากลุ่มตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศสอายุ 18-34 ปี 20% บอกว่าไม่เคยได้ยินเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาก่อน เช่นเดียวกับ ออสเตรเลีย ที่ไม่เคยรู้เรื่องเลยถึง 12%

ตัวเลขเหล่านี้ทำให้ “สตีเว่น แฟรงค์” (Steven Frank) หนึ่งในเด็ก 93 คน ที่รอดชีวิตจากค่าย Theresienstadt ที่มียิวตกเป็นเหยื่อกว่า 30,000 คน ถึงกับอึ้ง เขายอมรับว่าผู้คนมักไม่เข้าใจเหตุการณ์เลวร้ายนี้ และเขากลัวว่าถ้าเราเพิกเฉยต่ออดีต ประวัติศาสตร์ก็อาจซ้ำรอย...

ถ้าอ่านความเห็นของแฟรงค์ด้วยใจเป็นธรรมเห็นว่า ทำไมเราจึงไม่ควรทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และทำไมต้องดราม่ากับสัญลักษณ์นาซีนักหนา โดยในไทยเองแม้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะเป็นอะไรที่ได้ยินอยู่บ้าง แต่ถ้าถามว่า “เข้าใจไหม” ต้องบอกเลยว่าเราอาจอยู่ในระดับ “ไร้เดียงสา” และ “เพิกเฉยในระดับเสี่ยง” สะท้อนชัดจากบทความบางบทในโลกออนไลน์ ที่มีประโยคแสดงแนวคิดน่าสะพรึง เช่น “...ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มนุษย์ฆ่ากันยับปกติ Holocaust ของคนยิว ไม่ใช่สิ่งที่แปลกประหลาดอะไรนักหนา...” (ประโยคนี้มีการเซ็นเซอร์คำหยาบออกจากต้นฉบับ เพราะไม่จำเป็นกับการเล่าเรื่อง และรุงรัง) 

มองการฆ่าคนเป็นสิบล้านคนเพียงเพราะเขาเป็นยิว เป็น LGBT เป็นผู้บกพร่อง เป็น “เรื่องปกติ” ถ้าไม่ไร้เดียงสา หรือทำตัวเพิกเฉยกับความโหดร้าย ก็คงต้องบอกได้ว่าความคิดแบบนี้ผิดเพี้ยนเต็มที.... 


อ้างอิง

บทความจากเว็บไซต์ The Guardian: One in 20 Britons does not believe Holocaust took place, poll finds

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog