ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ องค์กรต้านโกง เผยสถานการณ์คอร์รัปชันไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่โดยรวมยังวิกฤต ด้านดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2562 ประเทศไทยได้ 36 คะแนนจาก 100 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ ตกจากปีก่อน 2 อันดับ

เฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เผยแพร่ บทความของ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ถึงสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยว่า กำลังจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศ เกิดจากประชาชนมีความตื่นตัว องค์กรกลัวการถูกตรวจสอบทำอะไรรัดกุมมากขึ้น หลายปีมานี้มีการประกาศใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ทำให้ประชาชนกล้าเปิดเผยพฤติกรรมฉ้อโกงที่พบเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ดูได้จากสถิติการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. นั้นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่การพิจารณาตัดสินคดีขั้นตอน ป.ป.ช. และศาลก็รวดเร็วมากในหลายปีมานี้

แม้ว่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI ของไทยไม่ขยับ เพราะเกิดจากหลายปัจจัยหลายด้าน การช่วยกันปกปิด หรือเพิกเฉย แม้จะมีการออกข้อปฏิบัติไว้แล้วก็ตาม ซึ่งหากจะต้องการเอาชนะคอร์รัปชัน ต้องร่วมมือกัน

โดยมีรายละเอียดดังนี้

สถานการณ์คอร์รัปชันไทย..

ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันและกระแสความตื่นตัวของคนไทย ทำให้มั่นใจมากว่า “สถานการณ์การต่อต้านคอร์รัปชัน” กำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คือ โกงยากขึ้น ถูกตรวจจับง่ายขึ้นและถ้าจับได้ก็เอาตัวคนผิดมาลงโทษได้เร็วและมีโทษหนักขึ้น

สำหรับคำถามว่า “คอร์รัปชันมากขึ้นหรือน้อยลงในปีที่ผ่านมา?” เท่าที่รับฟังจากผู้คนหลายวงการทำให้เชื่อว่า การโกงกิน การเรียกรับส่วย – สินบนในบ้านเราไม่ได้ลดน้อยลงเลย คือไอ้พวกที่โกงมันก็ยังโกงกันอยู่ โกงสารพัดรูปแบบมีทั้งรายเล็กรายใหญ่ ส่วนอะไรมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหนเป็นเรื่องที่ไม่มีใครบอกได้ชัดเจน

อะไรทำให้สถานการณ์การ “ต่อต้านคอร์รัปชัน” มีแนวโน้มดีขึ้น..

หลายปีมานี้ประเทศไทยมีการประกาศใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมจับต้องได้ มากที่สุดนับแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา ประกอบกับหลายปีมานี้คนไทยตื่นตัว และร่วมลงมือต่อต้านคนโกงจริงจังมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และภาคธุรกิจหลากหลายวงการ

ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นประชาชนกล้าที่จะเปิดเผยพฤติกรรมฉ้อฉลที่ตนพบเห็นผ่านโซเชี่ยลมีเดีย จนนำไปสู่การสอบสวนดำเนินคดีจำนวนมาก เช่น คดีโกงอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โกงเงินช่วยเหลือคนพิการ

สถิติการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่การพิจารณาตัดสินคดีในขั้นตอน ป.ป.ช. และ ศาลคอร์รัปชันก็รวดเร็วมากในหลายปีมานี้

ผลจากการออกกฎหมายใหม่อย่าง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ ทำให้มีกติกาที่รัดกุมและตรวจสอบง่ายสำหรับทุกหน่วยราชการ การเปิดเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ทำให้ผู้สื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณง่ายขึ้น ขณะที่ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกฯ ทำให้มีการเรียกรับสินบนลดน้อยลง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบริการประชาชนและคนทำมาค้าขาย พร้อมกันนี้หลายหน่วยราชการได้พัฒนาระบบงานและใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ให้รวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้นเช่น กรมศุลกากร กรมขนส่งทางบก

ที่กล่าวมาล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีและเป็นความหวังในการต่อต้านคอร์รัปชัน

ทำไมคอร์รัปชันยังไม่ลดลง..

“คอร์รัปชันจะลดลงเมื่อข้าราชการทำตามกติกาและไม่ยอมให้ใครทำผิด ขณะที่ภาคประชาชนต้องสามารถติดตาม ตรวจสอบ แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวใคร เพราะได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ”

แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีหลายเรื่องที่ทำให้ประชาชนผิดหวัง เช่น บ่อยครั้งที่กลไกภาครัฐไม่โปร่งใสตรงไปตรงมา มีการใช้อำนาจและกฎหมายแบบสองมาตรฐาน มีการแทรกแซงการบริหารราชการและองค์กรอิสระแบบทีใครทีมัน การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่ปรากฏ อภิสิทธิ์ชนและพวกพ้องตกเป็นข่าวมัวหมองครั้งแล้วครั้งเล่า

คนมีอำนาจชอบพูดคำว่าโปร่งใส แต่ไม่ชอบเปิดเผยข้อมูล อ้างแต่ว่าเป็นเรื่องความลับของทางราชการหรือสิทธิส่วนบุคคล แม้แต่เอกชนที่มาประมูลงานหรือขอสัมปทานยังไปช่วยปกปิดให้เขาโดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า

การที่มีนโยบายมีมาตรการ แต่กลไกรัฐไม่เดิน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำไม่รู้ไม่ชี้หรือเฉไฉไป คนมีอำนาจสั่งการก็ไม่กำกับดูแลให้งานเดิน เมื่อไม่มีการปฏิบัติจริงจังก็ไม่มีอะไรสกัดกันคนโกงหรือทำให้ลดลงได้

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้คะแนนอันดับคอร์รัปชันโลก (CPI) ของไทยไม่กระเตื้องขึ้นเลย

ตัวอย่างแรก เรื่องการป้องกันคอร์รัปชันในหน่วยราชการ ตามมติ ครม. เมื่อ 27 มีนาคม 2561 ที่หัวหน้าหน่วยงานต้องรับผิดด้วยหากเกิดคอร์รัปชันในหน่วยงานของตน ดังนั้นเขาต้องหาทางป้องกันให้รัดกุม และเมื่อมีคนทำผิดหรือถูกร้องเรียนก็ต้องเร่งสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

แต่ผ่านมาเกือบสองปียังไม่เห็นมีใครทำอะไรทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับคนตำแหน่งใหญ่โตหรือคนตำแหน่งเล็กๆ

ตัวอย่างที่สอง การปฏิรูปการให้บริการประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ประกาศตั้งแต่ต้นปี 2558 จากนั้น กพร. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมหลายประการที่ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและคนทำมาค้าขายอย่างมาก

แต่ผ่านมาสี่ปี การปฏิบัติในหน่วยงานต่างๆ ยังมีน้อยมาก โดยยกข้ออ้างและข้อขัดแย้งของกฎหมายสารพัด

ตัวอย่างที่สาม รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของทางราชการให้มากที่สุดเพื่อความโปร่งใส แต่ผู้มีอำนาจและหน่วยงานของรัฐจำนวนมากกลับทำให้ผิดเพี้ยน คือเปิดเผยน้อยลงหรือมีข้อจำกัดมากขึ้น เช่นกรณีของ ป.ป.ช. สตง. และ กกต. ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะเจตนาหรือขาดความเข้าใจกันแน่

จะชนะคอร์รัปชัน ต้องร่วมมือกัน..

สถานการณ์คอร์รัปชันไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นเพราะความตื่นตัวของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงการที่เรามีมาตรการดีๆ ออกมาหลายอย่าง แต่โดยรวมแล้วคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาวิกฤติ ดังนั้นทุกอย่างจะให้ดีขึ้นได้จริงในอนาคตต้องอาศัยความตั้งใจและเร่งลงมือทำร่วมกันให้มากกว่านี้

ส่วนเว็บไซต์ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันหรือ CPI โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดเผยรายงานประจำปี 2019 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีคะแนนคอร์รัปชันที่ 36 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศ อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศบอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนา, โคโซโว, ปานามา, และเปรู ที่มี 36 คะแนนเท่ากัน


23-1-2563 14-20-03.jpg

ส่วนกลุ่มประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกคือ เดนมาร์ก ได้ 87 คะแนน, นิวซีแลนด์ 87 คะแนน, ฟินแลนด์ 86 คะแนน, สิงคโปร์ 85 คะแนน, สวีเดน 85 คะแนน, สวิตเซอร์แลนด์ 85 คะแนน, นอร์เวย์ 84 คะแนน, เนเธอร์แลนด์ 84 คะแนน, เยอรมนี 80 คะแนน, และลักเซมเบิร์ก 80 คะแนน


23-1-2563 14-23-32.jpg

อย่างไรก็ตาม ลำดับของประเทศไทยในปี 2562 ตกลงจากปี 2561 ที่อยู่ที่อันดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ และมี 36 คะแนน

CPI 2018