ไม่พบผลการค้นหา
"ชวลิต" จี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำห้องแล็บตรวจสารเคมีปนเปื้อนผัก-ผลไม้ที่ด่านเชียงของ พร้อมแนะกระทรวงเกษตรฯวางแผนผลิตผักปลอดสารพิษป้อนตลาดสี่มุมเมือง เพื่อให้คนกรุงเทพและปริมณฑลได้บริโภค

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่า นับเป็นเรื่องใหญ่มากที่ตนไม่เคยรู้มาก่อนว่า สินค้าผักจากจีนผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย มีมูลค่าปีละกว่า 2,500 ล้านบาท โดยในวัน ๆ หนึ่งจะมีผักผ่านด่านเชียงของนับร้อยตู้คอนเทนเนอร์ แต่ที่ด่านเชียงของไม่มีห้องแล็บสำหรับสุ่มตรวจผักว่า มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน หรือไม่

"ผักจากจีนจำนวนมหาศาลดังกล่าว เมื่อผ่านด่านเชียงของแล้ว เป้าหมายปลายทาง คือ ตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งจะมีล้งจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจกระจายผักป้อนตลาดต่าง ๆ ในกรุงเทพและปริมณฑล เป็นธุรกิจครบวงจรของคนจีนที่ซึมลึกอยู่ในวิถีชีวิตคนไทย แทนที่จะเป็นธุรกิจของคนไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิม" นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า ถ้าตนไม่ได้มาทำหน้าที่ใน กมธ.นี้ ไม่มีทางรู้เลยว่า คนกรุงเทพและปริมณฑลบริโภคผักจากจีนโดยไม่มีมาตรการที่ดีพอในการตรวจสอบว่าผักจากจีนมีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ และไม่มีทางรู้ว่าเครือข่ายการค้าขายพืช ผัก กำลังถูกชาวจีนเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยถึงในมุ้ง กลางใจเมือง

"กมธ.ไม่ได้มีเป้าหมายกีดกันทางการค้า เราส่งเสริมการค้าเสรี แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม รัฐควรดูแลเกษตรกร และผู้บริโภคได้ดีกว่านี้ ซึ่ง กมธ.จะนำเสนอในส่วนนี้ด้วย" นายชวลิต กล่าว

เมื่อวานนี้ (7 ต.ค.62) คณะทำงาน 4 ฝ่าย ซึ่งมี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมติ 9:0 แบนสารเคมีร้ายแรงในภาคเกษตรกรรม 3 ตัว คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร และอีกหลายภาคส่วน หลายองค์กร พร้อมส่งมติดังกล่าวให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากมติของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ากระแสสังคม โดยประชาชนทั่วไปกำลังตื่นตัวกับการบริโภคอาหารปลอดภัย เกษตรปลอดภัย นับเป็นกระแสที่ร้อนแรงยิ่ง ดังนั้น มาตรการขั้นต่อไปที่จะดูแลสุขภาพประชาชนคนไทย จึงควรตีเหล็กกำลังร้อน โดยควรดำเนินการโดยเร่งด่วน ดังนี้

 1. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดหาห้องแล็บสำหรับตรวจสอบพืช ผัก ผลไม้ ที่ด่านเชียงของ โดยด่วนที่สุด

2. กษ.ควรวางแผนผลิตผักปลอดสารพิษป้อนตลาดสี่มุมเมืองเพื่อป้อนคนกรุงเทพและปริมณฑล โดยต้นทุนค่าขนส่งน่าจะต่ำกว่าผักที่ขนส่งมาจากจีนตอนใต้ และที่สำคัญเกษตรกรไทยจะมีตลาดรองรับอย่างแน่นอน

นายชวลิต กล่าวในท้ายที่สุดว่า การระงับยับยั้งไม่ให้คนไทยตายผ่อนส่งจากสารเคมีในภาคเกษตรกรรม นับเป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะกับเด็กที่จะเกิดมาเป็นอนาคตของชาติ 

"งานนี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนที่ต้องร่วมแรง ร่วมใจกัน ฝ่าฟันไปให้ได้ ไม่มีใครเป็นพระเอกถ้าแตกแถว ทุนนิยมข้ามชาติจะเข้ามาครอบงำทันที หวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอแนะไปสู่ทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคโดยเร็ว" นายชวลิต กล่าว


หนุน 'ประยุทธ์' ดันมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย ยกเลิกใช้ 3 สารพิษ

ด้าน ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย เพื่อสรุปผลกระทบการใช้ 3 สารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยให้ยกระดับสารทั้ง 3 ชนิดนี้ ถือเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และให้ยกเลิกใช้สารดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป

โดยผลโหวด มีมติเป็นเอกฉันท์คือ 9 ต่อ 0 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประชาชนไทยที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่องเพราะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการนำเสนอเรื่องนี้ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาต่อไป เพราะจากที่ผ่านมา ผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ค่อนข้างล่าช้าและใช้เวลาการตัดสินใจเป็นเวลานาน ซึ่งผลของการประชุมล่าสุดให้ดำเนินการมาตรการจำกัดการใช้ จึงหมายความว่ายังสามารถใช้สารเคมีเหล่านี้ได้ เพียงแต่มีข้อจำกัดเท่านั้น 

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจและสนับสนุน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต่อสู้กับเรื่องนี้มาโดยตลอด 

ซึ่งในวันที่ 27 ต.ค. นี้ จะมีการโหวตเพื่อลงคะแนนของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยขอให้เป็นแบบเปิดเผย และถ้าหากผลของการพิจารณาโดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้เวลานานมากไป ก็อยากจะวอนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเรื่องนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี โดยเร็วที่สุด

สุดท้ายนี้ หากมีการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดจริง เราควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และไม่ผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร โดยส่งเสริมให้ทำเกษตรแบบอินทรีย์ พัฒนาพืช ผัก และผลไม้ไทยให้ปลอดสารพิษ โดยพัฒนาพืชผลทางการเกษตรให้เป็นออร์แกนิคตามมาตราฐานสากล ซึ่งจะทำให้สินค้าเหล่านี้สามารถส่งออกไปขายเพิ่มมูลค่าและก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร คนไทยก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ต้องได้รับผลกระทบจากสารเคมีอันตรายอีกต่อไป