ไม่พบผลการค้นหา
เกาหลีใต้พยายามแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำด้วยการส่งเสริมให้ผู้ชายในชนบทแต่งงานกับชาวต่างชาติ แต่ภรรยาชาวต่างชาติกลับต้องเผชิญกับความรุนแรงภายในครอบครัว หลายคนต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของสามีชาวเกาหลี

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงภายในครอบครัวที่ภรรยาต่างชาติต้องเผชิญในเกาหลีใต้ แม้รัฐบาลท้องถิ่นจะส่งเสรืมให้ผู้ชายเกาหลีใต้แต่งงานกับผู้หญิงชาวต่างชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัยก็ตาม

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีใต้ประสบปัญหาความไม่สมดุลระหว่างเพศชายและหญิงในชนบท เนื่องจากผู้หญิงอายุน้อยมักเดินทางเข้าเมืองไปหางานและแต่งงานในเมือง ขณะที่ผู้ชายอยู่ในชนบทเพื่อดูแลที่ดินการเกษตร และทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ตามค่านิยมลัทธิขงจื๊อ

ช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลท้องถิ่นของเกาหลีใตเริ่มให้เงินสนับสนุนบริษัทจัดหาคู่ของเอกชน เพื่อให้เกษตรกรโสดได้พบกับผู้หญิงเชื้อสายเกาหลีในจีน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับบริษัทจัดหาคู่ 4-6 ล้านวอน (ราว 95,000-142,500 บาทในขณะนั้น) ต่อการแต่งงาน 1 คู่ 

ต่อมา รัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้จำกัดให้แต่งงานกับผู้หญิงเชื้อสายเกาหลีเท่านั้น จึงมีการแต่งงานกับผู้หญิงชาวเวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยมากขึ้น และธุรกิจจัดหาคู่ข้ามชาติก็โตขึ้นเรื่อง โดยข้อมูลล่าสุดจากรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อพ.ค. ที่ผ่านมา มีบริษัทจัดหาคู่ลงทะเบียนในเกาหลีใต้ถึง 380 บริษัท

แม้จะมีหลายคู่ที่แต่งงานและใช้ชีวิตคู่กันอย่างมีความสุข แต่ก็มีเจ้าสาวต่างชาติหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อการเหยียดเชื้อชาติและการเหยียดเพศ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภรรยาชาวต่างชาติเกิดความรุนแรงภายในครอบครัว หรือแม้แต่การถูกสังหารโดยสามีชาวเกาหลี 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกาหลีใต้ได้ทำสำรวจเมื่อปี 2560 และพบว่า ภรรยาชาวต่างชาติมากกว่า 42% เผชิญปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ทั้งความรุนแรงทางร่างกาย วาจา เพศ และการเงิน เทียบกับที่กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ทำสำรวจเมื่อปี 2562 ที่ผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ 29% เปิดเผยว่าเผชิญความรุนแรงภายในครอบครัว

ปัจจุบัน ภรรยาชาวต่างชาติในเกาหลีใต้จำนวนมากมาจากเวียดนาม และมักจะแต่งงานกับผู้ชายชาวเกาหลีใต้ในชนบม มักจะเป็นเมืองที่รัฐบาลยังให้เงินสนับสนุนการแต่งงานกับชาวต่างชาติอยู่ ในปี 2561 ผู้ชายเกาหลีใต้16,608 คนแต่งงานกับผู้หญิงชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้ เป็นผู้หญิงจากเวียดนาม 6,338 คน หรือคิดเป็น 28% ของการแต่งงานกับผู้หญิงต่างจากทั้งหมด รองลงมาเป็นจีน 3,617 คน และไทย 1,560 คน

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ้าสาวจำนวนมาจากเวียดนามเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ เจ้าสาวหลายคนอายุน้อยและหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในเกาหลีใต้ สำรวจของรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อปี 2560 ระบุว่า อายุเฉลี่ยของผู้ใช้บริการจัดหาคู่อยู่ที่ 43.6 ปี ในขณะที่เจ้าสาวต่างชาติอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25.2 ปี

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ไม่เห็นด้วยกับโครงการของสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ (UN-ACT) ที่จะจัดว่า เจ้าสาวต่างชาติเหล่านี้ถูกค้ามนุษย์และ “ถูกบังคับแต่งงาน” อีจิน-ฮเย ทนายความจาก Migrant Center Friends ในกรุงโซลกล่าวว่า เจ้สาวต่างชาติเลือกที่จะไปเกาหลีใต้เอง แม้เหตุผลหลักจะเป็นการส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในประเทศบ้านเกิดก็ตาม

เมื่อปี 2553 รัฐบาลกัมพูชาเคยแบนไม่ให้พลเมืองแต่งงานกับชาวเกาหลีใต้ชั่วคราว เนื่องจากกังวลว่าการจัดหาเจ้าสาวต่างชาติในเกาหลีใต้จะนำไปสู่การค้ามนุษย์ ส่วนทางการเวียดนามก็แสดงความกังวลต่อประเด็นนี้กับทางการเกาหลีใต้เช่นกัน

นับตั้งแต่ปี 2557 เกาหลีใต้ก็มีมาตรการเข้มงวดขึ้นว่า ชาวเกาหลีที่แต่งงานกับชาวต่างชาติจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสามารถสื่อสารกันได้ ไม่มีอุปสรรคด้านภาษา อีกคนจึงจะได้วีซ่า อย่างน้อยได้ภาษาเกาหลีขั้ยพื้นฐาน หรือทั้งคู่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาที่สาม และในปี 2562 เกาหลีใต้ประกาศว่า จะไม่อนุญาตให้ผู้ชายที่เคยมีประวัติใช้ความรุนแรง ขอวีซ่าให้กับเจ้าสาวต่างชาติ โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ก็ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้สามีชาวเกาหลีมีอำนาจเหนือเจ้าสาวต่างชาติอย่างมาก โดยกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ ระบุว่า สามีจะต้องเป็นคนรับรองวีซ่าให้ภรรยาชาวต่างชาติทุกๆ 5 ปี โดยคนที่มีวีซ่าคู่สมรสจะสามารถทำงานในเกาหลีใต้ได้ และสามารถขออาศัยถาวรได้ จึงทำให้หลายคนต้องยอมอยู่กับสามีที่กดขี่ เมื่อโดนสามีข่มขู่ว่าจะไม่รับรองวีซ่า

ในกรณีที่สามีใช้ความรุนแรงในครอบครัว ภรรยามีสิทธิตัดสินใจว่าจะพิสูจน์ว่าถูกละเมิด หากเธอต้องการจะอยู่ในเกาหลีใต้โดยไม่ขอการรับรองจากสามี และหากทั้งคู่หย่าร้างกันโดยที่ไม่มีลูกด้วยกัน ภรรยาชาวต่างชาติจะต้องกลับประเทศบ้านเกิด

ปี 2561 การสำรวจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกาหลีใต้ ระบุว่า เจ้าสาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ได้บอกใครว่าเผชิญกับความรุนแรงภายในครอบครัว เพราะรู้สึกอับอาย ไม่รู้ว่าจะบอกใคร และไม่คิดว่าบอกไปแล้วจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

อีจิน-ฮเยกล่าวว่า ชาวเกาหลีมันมองว่าตัวเองด้อยกว่าหรือเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติจากชาติตะวันตก แต่ก็ยัง “ทำตัวสูงกว่าคนที่มาจากประเทศที่สถานะทางเศรษฐกิจไม่สูงเท่าเกาหลี” ผู้หญิงต่างชาติมักเผชิญการเลือกปฏิบัติในหลายระดับ ทั้งการเลือกปฏิบัติทางเพศ ทางเชื้อชาติ บวกกับสถานะทางกฎหมายที่ต้องพึ่งพาสามี หลายคนถูกเลือกปฏิยัติจากญาติของสามี แม่สามีมักบ่นเรื่องการทำอาหาร บางครอบครัวไม่ยอมให้ภรรยาชาวต่างชาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ภรรยาบางคนไม่ได้รับเงินไว้ใช้จ่ายจากสามีเลย

ล่าสุด พรรคยุติธรรมได้เสนอกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากที่ผ่านมา เกาหลีใตไม่มีกฎหมายปกป้องประชาชนจากการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มน้อย หรือคนหลากหลายทางเพศ แต่กฎหมายนี้ยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาอภิปรายในรัฐสภา