ไม่พบผลการค้นหา
ทีมวิจัยจากหลากหลายมหาวิทยาลัย เปิดเผยสถิติข้อมูลผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 พบมีการฆ่าตัวตายรวม 38 ราย แนะรัฐบาลตระหนักให้มากขึ้นถึงมาตรการต่างๆ จี้ปรับวิธีให้เงินเยียวยาต้องอยู่บนฐานคิด "ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า" ไม่ใช่ "สงเคราะห์เพียงบางคน"

เพจคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 เปิดเผยผลวิจัยที่ทำร่วมกันของหลายมหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เป็นโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

โดยผลวิจัยดังกล่าว รวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายจากไวรัสโควิด-19 ภายหลังจากที่มีนโยบายปิดห้างสรรพสินค้า, รณรงค์อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และการปิดเมืองล็อกดาวน์ หรือปิดสถานที่ต่างๆ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยดูเหมือนจะดีขึ้น 

แต่อีกทางหนึ่งกลับปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายของประชาชนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเกิดจากผลกระทบสืบเนื่องจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ประกาศใช้ตั้งแต่ 22 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา และด้วยมาตรการที่มุ่งเน้นการจัดการด้านสาธารณสุข แต่ละเลยการจัดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โครงการวิจัยฯ จึงมีสมมติฐานว่าผลกระทบต่อประชาชนจะเกิดติดตามมาอย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 21 เม.ย. 2563 เป็นต้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการรัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ด้วยการรวบรวมข้อมูลของสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการฆ่าตัวตายและมีข้อมูลรายละเอียดยืนยันชัดเจนที่ยืนยันหรือแสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐ

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย. 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 ราย อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายจากนโยบายรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน จะพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 38 ราย

ทีมวิจัยชุดนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่แตกต่างกัน แต่รัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง ดังที่มีการแถลงข่าวรายวัน, การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด, การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฎกรรมที่สามารถป้องกันได้หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรงจนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ หลายกรณีปรากฏอย่างชัดเจนว่าความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท คือสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของผู้ที่ทำการฆ่าตัวตายจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชายถึง 27 ราย และมีเพศหญิง 11 ราย ทำงานเป็นลูกจ้าง ผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เช่น แม่ค้าพ่อค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม เป็นต้น และมีประกอบอาชีพผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจรายย่อยอีก จำนวน 3 ราย และอายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตคือ 40 ปี 

ดังนั้น ข้อเท็จจริงข้างต้น สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนเมืองซึ่งต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที และผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสาหลักหรือรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับการตกงานหรือไม่มีงานทำอย่างเฉียบพลันก็นำมาซึ่งแรงกดดันอันไพศาลทั้งต่อตนเองและครอบครัว

คณะวิจัยได้มีข้อเสนอที่อาจช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้คือ

  • ประการแรก รัฐบาลควรตระหนักให้มากกว่านี้ว่าการฆ่าตัวตายของประชาชนเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่กลับไม่มีมาตรการในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม เราหวังว่า รัฐบาลจะมีมโนธรรมสำนึกและพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้นอีก อย่างน้อยต้องมีการจัดเตรียมสายด่วนให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสได้แจ้งปัญหาและมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจฆ่าตัวตายไปมากกว่านี้ ข่าวประชาชนฆ่าตัวตายจากพิษโควิด-19 ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกนับแต่นี้เป็นต้นไป
  • ประการที่สอง รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้กว้างขวางและรวดเร็ว บนฐานคิด "ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า" ไม่ใช่ "สงเคราะห์เพียงบางคน" การเรียกร้องให้ประชาชน "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เพียงด้านเดียว แต่การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที จะทำให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังและข้างทางเป็นจำนวนอันไพศาล มาตรการเยียวยาจึงต้องชัดเจนและฉับไวมากขึ้น รวมทั้งการกระจายปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นระบบ มิใช่รอให้เป็นการแจกจ่ายในหมู่ประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว
  • ประการที่สาม ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูง จำเป็นต้องมีการ "เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ" เช่น ตลาด ร้านค้ารายย่อย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าหากมีการจัดการที่มีระบบและด้วยความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งประชาชน องค์กรเอกชน และหน่วยงานรัฐ ก็จะสามารถมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ไปพร้อมกัน
  • ประการที่สี่ รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน, การข่มขู่ว่าจะมีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉินต่อผู้ประสงค์จะแจกอาหาร, การจับกุมคนไร้บ้านด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, การจับกุมและลงโทษบุคคลด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันในการกระทำเดียวกัน เป็นต้น 

และแน่นอนว่าการรับมือกับไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันการใช้มาตรการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ก็ควรต้องเป็นไปเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถก้าวพ้นจากปัญหาไปได้ รัฐบาลไม่ควรใช้นโยบาย กฎหมายหรือมาตรการอย่างเข้มข้น จนสร้างภาระและความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในระดับที่ไม่สามารถประกอบอาชีพ หารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :