ไม่พบผลการค้นหา
(หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์)

ณ เวลานี้น่าจะฟันธงได้แล้วว่า The Haunting of Hill House คงติด TOP 10 ซีรีส์แห่งปี 2018 ของหลายสำนักแน่นอน ไม่เพียงคำชื่นชมของฝั่งนักวิจารณ์เท่านั้น แต่กระแสตอบรับของผู้ชมก็ออกมาดีเช่นกัน

อย่างที่เห็นว่าซีรีส์ถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย เจ้าพ่อนิยายสยองขวัญ 'สตีเฟน คิง' ยังออกปากชม หรือกระทั่ง Netflix Thailand ก็ลงทุนทำสื่อโฆษณาสุดเก๋บนดาดฟ้าตึกตามแนวรถไฟฟ้าเพื่อโปรโมตซีรีส์ชุดนี้

The Haunting of Hill House เป็นนิยายสยองขวัญโกธิคปี 1959 ของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครเวทีมาหลายครั้ง เวอร์ชั่นที่คนคุ้นเคยน่าจะเป็นฉบับหนังปี 1999 ในชื่อ The Haunting (นำแสดงโดย เลียม นีสัน และแคทเธอรีน ซีตา-โจนส์) แต่กลับได้รับคำวิจารณ์ติดลบ และเข้าชิงแรซซี่อวอร์ดถึงห้าสาขา

ส่วนการดัดแปลง The Haunting of Hill House ครั้งล่าสุดนี้มาในรูปแบบของของซีรีส์ความยาว 10 ตอน โดยผู้กำกับ ไมค์ ฟลานาแกน คนทำหนังสยองขวัญที่สร้างชื่อจาก Oculus (2013), Before I Wake (2016) และ Gerald’s Game (2017) เรื่องราวว่าด้วยครอบครัวตระกูลเครนที่สมาชิกประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกๆ อีกห้าคน พวกเขาย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านขนาดใหญ่ชื่อ ‘ฮิลล์เฮาส์’ ก่อนจะพบเหตุการณ์ประหลาดมากมายที่จะหลอกหลอนไปทั้งชีวิต

004.jpg


คนชอบเพราะหลอนจริง

สาเหตุที่ The Haunting of Hill House เป็นที่ชื่นชมเราอาจพิจารณาได้สองทางด้วยกัน หนึ่ง-ในแง่ของการเป็น ‘หนังผี’ จุดเด่นของซีรีส์คือการไม่เน้นหลอกผีแบบทำให้คนดูตกใจ (หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ผีตุ้งแช่’) ส่วนใหญ่แล้วผีจะปรากฏตัวอย่างนิ่งเรียบหรือออกไปทางหลอนๆ ซึ่งเป็นหนังเทรนด์ของหนังสยองขวัญยุคใหม่ (Post-horror) ที่พยายามฉีกขนบเดิมๆ ที่เคยทำกัน (หนังแนว Post-horror อันโด่งดังอีกเรื่องของปีนี้ก็คือ Hereditary) 

ฟลานาแกนยังชาญฉลาดในการเล่นกับภาษาภาพยนตร์ ไม่ว่าจะฉากลองเทคมาราธอนทั้งหลายในตอนที่ 6 หรือโครงสร้างของบ้านที่มีห้องมากมาย ปกคลุมไปด้วยความมืด มีรูปปั้นวางอยู่ทั่วบ้าน จนมองแวบแรกก็ชวนตกใจว่านั่นคนหรือผีหรือรูปปั้น แต่ไม้เด็ดที่สุดคือผู้กำกับ ‘ซ่อนผี’ ไว้มากมายตลอดทั้งเรื่อง แต่เป็นการซ่อนอย่างแนบเนียนและหลายครั้งอยู่ในมุมมืด จนคนดูไม่อาจสังเกตเห็น แต่เมื่อตระหนักถึงเรื่องนี้ก็จะนำไปสู่ความน่าขนลุกว่าเหล่าตัวละครอยู่กับผีแทบตลอดเวลา 


การให้สถานที่หลักเกิดขึ้นใน ‘บ้าน’ ก็ยิ่งทำให้คนดูอินได้ง่าย เพราะบ้านควรจะเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยที่สุด เมื่อบ้านเต็มไปด้วยสิ่งลึกลับไม่พึงประสงค์ ผู้ชมจะรู้สึกถูกคุกคามไม่ต่างไปกับตัวละครในเรื่อง


ไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกล่าวว่าจะไม่ยอมดูหนังเรื่องนี้ในตอนกลางคืน หรือดูแล้วไม่กล้าลงไปหาของกินในครัวตอนดึกๆ อันที่จริงตัวซีรีส์อาจไม่น่ากลัวขนาดนั้น แต่หากเป็นจินตนาการของเราที่ต่อยอดมาจากซีรีส์ต่างหาก


HOHH_106_Unit_01017R-1.jpg


การเล่าเรื่อง "ครอบครัว"

ในแง่ที่สอง เราสามารถมองได้ว่า The Haunting of Hill House เป็น ‘หนังครอบครัว’ ซึ่งอันนี้เป็นลายเซ็นที่ชัดเจนของฟลานาแกน ไม่ว่าจะทำหนังผีกี่เรื่อง บ่อยครั้งที่แก่นแท้ในผลงานของเขาคือพูดถึงครอบครัวอันแตกแยกหรือไม่สมประกอบ (Dysfunctional family) อย่างที่เราเห็นกันชัดเจนว่าตระกูลเครนมีดราม่าอันน่าปวดหัวขนาดหนัก พวกเขาอาจจะรักกัน แต่พวกเขาก็ถกเถียงและโทษกันไปมาตลอดเวลา

สมาชิกของครอบครัวเครนต้องประสบภาวะชีวิตพังก็เพราะบ้านฮิลล์เฮ้าส์ แม้ว่าพวกเขาจะหนีออกจากบ้านหลังนั้นแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าใช้ชีวิตต้วยการสร้างกำแพงขึ้นมา พี่ชายคนโตหวาดผวากับการมีลูก, พี่สาวคนโตเป็นพวกทำตัวสมบูรณ์แบบเจ้ากี้เจ้าการ, น้องสาวคนรองปิดกั้นตัวเองจากความสัมพันธ์กับคนอื่น ฯลฯ

แต่ตัวละครที่น่าเห็นใจที่สุดหนีไม่พ้นฮิวจ์ผู้เป็นพ่อและหัวหน้าครอบครัว เขาถูกลูกๆ มองว่าเป็นพ่อที่ไร้ความสามารถและสติฟั่นเฟือน แต่ฮิวจ์ได้พูดไว้อย่างเจ็บปวดว่า


“ตลอดหลายปีผมพยายามปกป้องลูกจากบ้านหลังนั้น จนไม่มีเวลาโอบกอดพวกเขาอีกต่อไป”


ปริศนาห้องแดง

นอกจากจะบอกเล่าถึงเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัว เมื่อซีรีส์ดำเนินไปมันยังบอกเล่าถึง ‘กายวิภาค’ ของฮิลล์เฮาส์ด้วย ดังที่โอลิเวีย (แม่) กล่าวไว้ว่าบ้านคือร่างกาย ส่วนต่างๆ ของบ้านก็เปรียบเหมือนอวัยวะ และในตอนที่สิบซีรีส์ก็ได้ชำแหละตัวบ้านว่าห้องสีแดง (The Red Room) นั้นคือ ‘กระเพาะ’ ของบ้านที่คอยกลืนกินผู้อยู่อาศัย ห้องแดงคือห้องที่ไม่มีใครในบ้านเปิดได้ แต่แท้จริงมันคือห้องที่ไม่มีอยู่จริง เป็นห้องที่แปรสภาพเป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ หรือ ‘พื้นที่ตามใจหวัง’ ของคนในบ้าน ไม่ว่าห้องอ่านหนังสือ, ห้องเล่นเกม, บ้านต้นไม้ ฯลฯ เราจึงเห็นว่าฮิวจ์ไม่มีห้องสีแดงเป็นของตัวเอง เพราะเขาย้ำเสมอว่าจะเป็นคนจัดการซ่อมแซมทุกอย่าง (I’ll fix it.) 

HOHH_101_Unit_02184R.jpg

ห้องสีแดงยังสะท้อนถึงประเด็นพ่อแม่ที่ปกป้องลูกเกินไป (Overprotective Parents) ในฉากที่มันแปรเปลี่ยนเป็นห้องงานเลี้ยงน้ำชาที่โอลิเวียวางแผนจะวางยาพิษลูกตัวเอง เพราะโอลิเวียเชื่อว่าโลกภายนอก คือฝันร้าย เป็นสิ่งเลวร้ายที่ลูกๆ ที่ไม่ควรออกไปเผชิญ วิธีที่ทำให้ลูก ‘ตื่น’ จากฝันร้าย คือการทำให้พวกเขาหลับไหลไปตลอดกาล นั่นคือการทำให้พวกเขาตาย

แม้จะนำเสนอความหดหู่แก่ผู้ชมมาตลอดเรื่อง แต่ตอนสุดท้ายของ The Haunting of Hill House ก็จบลงอย่างมีความหวัง และมีบางเสียงวิจารณ์ว่ามันอาจจะให้ความหวังมากเกินไปด้วยซ้ำ ซึ่งฟลานาแกนอธิบายว่าเดิมทีตอนจบของซีรีส์จะดาร์กสุดๆ แต่เขารู้สึกรักตัวละครเหล่านี้มาก และคิดว่าควรมอบแสงสว่างให้กับพวกเขา (และคนดู) นั่นเป็นที่มาของตอนจบเปลี่ยนแปลงไป

เดิมทีซีรีส์จะจบด้วยภาพตัวละครอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ก่อนจะเฉลยว่าพวกเขายังคงติดอยู่ในห้องสีแดง ดังนั้นแม้ครอบครัวเครนจะหลุดรอดออกมาจากฮิลเฮาส์ได้แล้ว แต่เราอาจกล่าวได้ว่าตอนจบแฮปปี้เอนดิ้งนี่แหละที่เป็นห้องสีแดงของผู้กำกับและผู้ชมบางส่วน

เช่นนั้นคำถามน่าคิดคือ หากเรารู้สึกรื่นรมย์ไปฉากสุดท้ายของ The Haunting of Hill House นั่นแปลว่าเรากำลังติดอยู่ในห้องสีแดงของตัวเองหรือเปล่า?


DlZ5eChU4AA1JlX.jpg