ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ยกเลิกตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน เน้นดำเนิน 2 มาตรการสำคัญ มุ่งเป้ายุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2573 โดยดึง "ก่อน" วฑูศิริ หนึ่งในสมาชิก BNK48 ร่วมโครงการด้วย

นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายแพทย์ปรีชา สิริจิตราภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายดลชัย อินทรโกสุม ครูโรงเรียนบ้านไร่วิทยา จ.อุทัยธานี นางสาววฑูศิริ ภูวปัญญาสิริ หรือ "ก่อน" หนึ่งในสมาชิกวง BNK48 และนางสาวจารุณี ศิริพันธุ์ อนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination Day) ในหัวข้อ “หยุดบังคับตรวจเอชไอวี ลบหรือบวก ไม่สำคัญ ทำงานได้” พร้อมพิธีมอบโล่รางวัลองค์กร “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน” ปี 2560 จำนวน 9 องค์กร

นพ. สุวรรณชัย กล่าวว่า จากที่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ และนำ “ผีเสื้อ” มาเป็นสัญลักษณ์เชิญชวนให้ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ ให้เป็นสังคมที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติโดยการเคารพศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยต่อสู้กับปัญหาเอดส์มานานกว่า 30 ปี โดยประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้มีเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และลดการเจ็บป่วยเสียชีวิตจากเอชไอวี แต่ก็ยังมีปัญหาการรังเกียจกีดกัน การเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ 

781570.jpg


จากการสำรวจทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์ ปี 2557 พบว่าร้อยละ 58 มีเจตคติรังเกียจผู้มีเชื้อเอชไอวี และจากระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี ปี 2559 พบว่า กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง เคยประสบเหตุการณ์การถูกรังเกียจ กีดกันในสถานที่ทำงาน/สถานศึกษา ร้อยละ 13 และ 19 ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้จากการร้องเรียนที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคม โดยเฉพาะการบังคับตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงานหรือมีนโยบายตรวจเลือดพนักงาน ส่วนสถานการณ์การตีตราและเลือกปฏิบัติในระบบบริการสุขภาพ ปี 2560 พบว่า บุคลากรผู้ให้บริการ ร้อยละ 21 ยังคงมีพฤติกรรมการให้บริการที่แสดงการรังเกียจ และเลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวี ในขณะที่ผู้มีเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 11 มีประสบการณ์การถูกรังเกียจ เลือกปฏิบัติในการให้บริการในสถานพยาบาล 

ปัจจุบันประเทศไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560–2573 คือ“ร่วมยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2573 ที่คำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ” ตั้งเป้าลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เกิน 4,000 รายต่อปี และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ โดยร้อยละของประชาชนที่มีเจตคติรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือไม่เกินร้อยละ 5.8 ซึ่งเน้นมาตรการหลักที่สำคัญ ได้แก่ 

1.มาตรการในเชิงการป้องกันการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ โดยมุ่งเน้น สร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับทุกหน่วยของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเอดส์ 

2.มาตรการในเชิงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือมีการร้องเรียนการละเมิดสิทธิเกี่ยวกับเอดส์ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการสนับสนุนจากกลไกเชิงนโยบาย

นพ. ปรีชา สิริจิตราภรณ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ได้เห็นความสำคัญและมีนโยบายที่จะพัฒนาองค์กรให้บุคลากรทำงานและอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ในโรงพยาบาลอย่างเคารพสิทธิ ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ จึงได้เข้าร่วมดำเนินโครงการองค์กร “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน” ซึ่งได้เสริมสร้างการเรียนรู้เรื่องโรคเอดส์ให้กับบุคลากร ให้มีทัศนคติในการอยู่ร่วมกัน ส่งเสริมการเข้าถึงบริการเพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแบบสมัครใจ และมีแนวทางในการรักษาความลับ รวมทั้งบริการการป้องกันการติดเชื้อด้วย โดยเน้นให้โอกาสผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีที่ยืนในโรงพยาบาล และดูแลให้มีสิทธิเท่าเทียมกับบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาล ถือเป็นหลักประกันได้ว่า บุคลากรที่ทำงานอยู่แล้ว หากตรวจเอชไอวีแล้วผลเป็นบวก จะได้รับการพิทักษ์สิทธิและไม่มีการไล่ออกจากงาน

781571.jpg


นายดลชัย อินทรโกสุม กล่าวว่า โรงเรียนบ้านไร่วิทยา จ.อุทัยธานี ได้เข้าร่วมโครงการ “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน” เนื่องจากบุคลากรยังมีความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในเรื่องโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งโรงเรียนได้มีโครงการส่งเสริมสุขภาพในเรื่องดังกล่าว จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรม 3 เรื่อง คือ

1.ตู้บริการถุงยางอนามัยจากกล่องถุงยางอนามัยเหลือใช้

2.กระเป๋าความรู้สู่ความรัก

3.จัดทำหนังสั้น เรื่อง ตีตรา เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในโรงเรียน

พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงของบุคลากรและนักเรียน มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงมีบุคลากรเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแบบสมัครใจ 

ด้าน น.ส. วฑูศิริ ภูวปัญญาสิริ หรือ "ก่อน" กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทราบข่าวมาว่า มีแฟนคลับที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ แล้วกังวลว่าพวกเราจะรังเกียจที่ต้องจับมือด้วย ในฐานะสมาชิกวง BNK48 พวกเราไม่เคยรังเกียจที่จะต้องจับมือ เพราะในปัจจุบันเชื้อเอชไอวีสามารถควบคุมได้ด้วยการทานยาต้านไวรัส การปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติ ก็เลยไม่อยากให้กังวล และขอเชิญชวนให้เพื่อนๆ และทุกคนร่วมเป็นกำลังใจให้กับผู้มีเชื้อเอชไอวีด้วย

ซึ่งก่อนหน้านี้ ก่อน BNK48 เคยโพสต์ข้อความในโซเชียล เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ว่า "ทราบข่าวว่า มีแฟนคลับที่มีเชื้อไวรัส HIV อยู่แล้วกังวลว่าพวกเราจะรังเกียจไหมที่จะต้องจับมือด้วย ก่อนขอเป็นตัวแทนพูดนะคะ ในปัจจุบันเชื้อไวรัส HIV สามารถควบคุมได้ด้วยการทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ ปรึกษาหมออย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถ้าคุณคิดว่าได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้ว แล้วร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องจับมือเลยค่ะ อีกอย่างคนที่มีเชื้อไวรัส HIV นั้น จริงๆแล้วสามารถใช้ชีวิตอย่างคนปกติได้เลยค่ะ และเมมเบอร์ BNK48 ก็อยากร่วมเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยไวรัส HIV ค่ะ"

ส่วน น.ส. จารุณี ศิริพันธุ์ กล่าวว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมาของคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ก็พบว่า ปัญหาการรังเกียจกีดกันอันเนื่องมาจากเอชไอวียังคงมีอยู่มากมายในสังคม โดยสาเหตุหลักมาจากความไม่รู้ ความกลัว ความกังวล ทัศนคติความเชื่อว่าติดเชื้อมาจากคนไม่ดี รวมถึงสภาพแวดล้อมก็ไม่ได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนที่ไม่ติดเชื้อมากนัก หากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องเริ่มจาก “มุมมอง” โดยต้องมองเรื่องเอดส์ว่าไม่ใช่เรื่องของโรค หรือเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นมิติทางสังคมที่ต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดูแลและทำงานเรื่องนี้อย่างรอบด้าน

สิ่งสำคัญคือสนับสนุนให้สถานประกอบการมีความกล้าหาญหรือมีจุดยืนที่จะประกาศตัว เป็น “สถานประกอบการที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี” คือกล้าประกาศตัวว่าบริษัทนี้ไม่ตรวจเอชไอวีพนักงาน หรือไม่ได้เอาผลเลือดเอชไอวีมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณารับหรือเลื่อนตำแหน่งพนักงาน เมื่อมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ยังสนับสนุนให้สามารถทำงานได้เหมือนคนไม่ติดเชื้อ พร้อมกับสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เรื่องเอดส์ในที่ทำงานให้มีความเข้าใจใหม่ ไม่อยู่กับความเชื่อ ความกลัวความกังวลเดิม โดยเน้นให้ทุกคนได้ประเมินความเสี่ยงตัวเอง รู้วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย 

ภาพ : เฟซบุ๊ก/@bnk48official.korn